เชื่อว่าหลาย ๆ คนให้ความสนใจ Model Y ตัวใหม่นี้ไม่น้อย แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อมูลการใช้งานในไทยที่ละเอียดจริง ๆ ให้ได้อ่าน หรือดูรีวิวกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น ในการทดสอบนี้ จะเป็นรายละเอียดของรถจากการใช้งานจริง 4 วัน และจะสรุปเป็นรีวิวจากมุมมองของเจ้าของรุ่นเก่า ซึ่งน่าจะได้คำตอบว่ารุ่นใหม่เป็นยังไง ดีขึ้นจริงไหม คุ้มที่จะซื้อหรือเปล่า ดังนั้นถ้าพร้อมแล้ว เรามาติดตามกันได้เลยครับ
หัวข้อที่จะครอบคลุมวันนี้คือ
- ภายนอกมีอะไรใหม่
- ภายในมีอะไรใหม่
- เบาะพับไฟฟ้า
- ทดลองใช้ไฟหน้า Matrix
- การขับขี่
- พวงมาลัย
- ช่วงล่าง
- เบรก
- Autopilot
- ระยะวิ่งจริง
- การใช้พลังงาน
- การนอนในรถ Camp Mode
- การชาร์จ Supercharger กับข้อมูล Charging Curve
- สรุปข้อดี ข้อเสีย
- รุ่นหน้าอาจมีอะไรใหม่
- ควรซื้อไหม?
Tesla Model Y รุ่นปัจจุบันเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดทั่วโลกต่อกันมาหลายปี ซึ่งถือว่าเป็นรถไฟฟ้าที่ดีมาก ๆ แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีสิ่งที่ลูกค้าบ่นอยู่บ้าง ซึ่งเทสลาเป็นบริษัทที่รับฟัง “เสียง” จากผู้ใช้งานจริง ๆ หากมีอะไรไม่สะดวก ไม่ดี เทสลา ก็จะปรับแก้ให้ ถ้าเป็นเรื่อง Software ก็จะส่ง OTA มาอัพเดท แต่ถ้าเป็นเรื่อง Hardware ก็จะแก้ให้ในรุ่นถัดไป ดังนั้น Model Y Juniper นี้ ก็เป็นรุ่นที่ถูกปรับปรุงมาจากเสียงผู้ใช้งาน Model Y รุ่นปัจจุบันในทุก ๆ มุม หนึ่งในเรื่องที่ผู้ใช้ให้ Feedback มากที่สุดก็คือ “ความสบาย” ดังนั้นการออกแบบ Model Y 2025 ในรอบนี้ จะเน้นที่ความ “Comfort” ในทุก ๆ ด้าน รวมถึงเน้นประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุก ๆ ส่วน ตามปรัชญาของเทสลาอีกด้วย สุดท้ายทำให้ Model Y ใหม่มีการปรับปรุงในรายละเอียดหลายจุด ทั้งที่มองเห็น และมองไม่เห็น มีอะไรบ้างมาไล่ดูกันทีละหัวข้อครับ
ภายนอกมีอะไรใหม่
ในรุ่นที่แล้ว Model Y มีการออกแบบที่เหมือนกับ Model 3 แต่ขยายขนาด และความสูงให้ใหญ่ขึ้น ดังนั้นในรอบนี้ หลายคนจึงคาดว่า หน้าตามันคงจะคล้าย Model 3 High Land แต่ปรากฏว่า “ไม่ใช่” Model Y รุ่นนี้ทาง Franz von Holzhausen หัวหน้าแผนกออกแบบ ตั้งใจจะให้ Model Y Juniper มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องแชร์กับ Model 3 อีกต่อไป เนื่องจากรุ่นแรก มีข้อจำกัดมากมาย จึงต้องแชร์ชิ้นส่วนกับ Model 3 แต่ในรุ่นนี้ เราสามารถออกแบบได้ใหม่จริง ๆ
Model Y รุ่นใหม่นี้มีจุดเด่นที่ไฟหน้าเป็น Light bar ยาว ที่ได้ดีไซน์มาจาก Cyber truck และ Cyber cab ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน ส่วนด้านหลังเป็น Light bar ยาวเช่นกัน แต่เป็นไฟแบบ “สะท้อน” ทำให้มีการไล่สีที่สวยงาม และไฟท้ายยังส่องลงพื้น ขณะวิ่งทำให้ดูเหมือน “After burner” ในเครื่องบินไอพ่น ทั้งสองอย่างนี้เป็นเอกลักษณ์ของ Model Y ใหม่ และ Franz เชื่อว่าทุกคนจะจำเอกลักษณ์นี้ได้ จึงเป็นเทสลารุ่นแรก ที่ไม่ใส่ “Logo” T-Mark ที่ด้านหน้าของรถในรุ่นที่ขายทั่วโลก (ยกเว้นจีน)
นอกจากนี้เทสลายังให้ความสำคัญกับ “ประสิทธิภาพ” มาก ดังนั้นในด้านการออกแบบมีการลด CD – Drag Coefficient (ค่าสัมประสิทธิแรงเสียดทาน) จาก 0.23 ที่ต่ำอยู่แล้ว เป็น 0.22 ทำให้ประหยัดไฟมากขึ้นกว่าเดิม ในตัวใหม่ จึงนับเป็น SUV ที่มีค่า CD ต่ำที่สุดในตลาดตอนนี้
มิติตัวรถ
ถ้าดูมิติรถ จะเห็นว่ามิติภายนอกตัวรถใกล้เคียงกับเดิมมาก ตัวใหม่มีความยาวมากกว่า ความสูง ความกว้าง ฐานล้อ แทบจะเท่ากันหมด แต่ Clearance น้อยกว่าตัวเก่าเล็กน้อย ซึ่งในการใช้งานจริงไม่รู้สึกเท่าไรครับ
ความยาวที่เพิ่มขึ้นมาคือพลาสติกด้านท้าย ที่จะยื่นออกมาเล็กน้อยเพื่อรับการชนด้านหลัง ซึ่งของเดิมนั้น ฝากระโปรง Lift Gate จะระนาบเดียวกับกันชน หากถูกกระแทก Lift Gate จะเสียหายทันที และค่าซ่อมจะแพงมาก แต่ของใหม่หากถูกชน ก็จะโดนพลาสติกก่อน และก็เปลี่ยนแค่ชิ้นนั้น
ภายในมีอะไรใหม่
ภายในออกแบบใหม่หมดจากรุ่นที่แล้ว แต่ใช้การดีไซน์แบบ Model 3 HL จึงถือได้ว่าเป็น Interior ที่เคยผ่านตามาแล้ว ถึงดีไซน์จะคล้ายกัน แต่รายละเอียดก็มีต่างกันบ้าง และมีเรื่องที่ปรับปรุงดังนี้ครับ
หลังคาเคลือบ Dual Layer Metallic
หลังคารอบนี้เทสลาเคลือบโลหะสะท้อนความร้อนมาให้เลย ซึ่งจากการใช้งานผมรู้สึกว่า ทำได้ดีกว่าที่คิด สะท้อนความร้อนได้พอ ๆ กับรุ่นเก่าผมที่ติด Solar guard XeniteIR 60 ถ้าจะไม่ติดม่าน ก็พอไหว แต่แอร์จะทำงานหนักตลอดเวลา และเย็นในระดับที่อยู่ได้ แต่ไม่ได้ฉ่ำ ถ้าอยากให้เย็นแล้วแอร์ไม่ทำงานหนัก อาจจะต้องติดม่านอยู่ดี
ที่ด้านหลังของหลังคา มีการเก็บอุปกรณ์สื่อสาร จึงจะมีส่วนที่ยื่นเป็น Island มา ดังนั้นที่เคลือบหลังคา จะเว้นด้านท้ายประมาณ 10 cm เพื่อให้สัญญาณผ่านเข้าได้ ครับ ซึ่งก็ไม่ได้มีผลอะไรกับการสะท้อนความร้อนอย่างเห็นได้ชัดครับ
เบาะหลังนั่งสบายขึ้น
จากที่ได้ลองดู เบาะหลังนั้นนั่งสบายมากขึ้น เนื่องจากรองเบาะยาวมากขึ้น (50 cm) ยาวรับต้นขาพอดี ทำให้นั่งแล้วไม่เมื่อย (ตัวเก่า 46 cm) พนักพิงสามารถเอนให้อยู่ในตำแหน่งที่สบายได้ ซึ่งเอนเพิ่มได้มากกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อย และเอนด้วยไฟฟ้าแล้ว อีกส่วนคือช่วง Support หลัง พอดีกับแผ่นหลังมากขึ้น สามส่วนนี้ทำให้เบาะหลัง นั่งสบายขึ้นมากครับ


เบาะพับไฟฟ้า
จากการทดลองใช้งาน สามารถพับขึ้นลงด้วยไฟฟ้าใช้เวลาเพียง 5.2 วินาที ซึ่งสะดวกมาก พับได้จาก 4 ตำแหน่งคือ สวิชด้านท้ายรถ ด้านข้างเบาะหลัง จอด้านหลัง และจอหลัก ที่เด่นกว่าเบาะไฟฟ้าค่ายอื่นคือ สามารถเลื่อนเบาะหน้าหลบได้ ถ้าตำแหน่งเบาะหน้าขวางการพับ และจะเลื่อนกลับให้เมื่อพับเสร็จ หากพับแล้วติด ก็จะหยุดเอง แต่หากพับอยู่ แล้วมีอะไรทับ ก็จะหยุดทำงานเช่นกัน (ในกรณีที่มีคนพับเบาะนอน) จุดนี้ถือว่าสะดวกในการขนของขึ้นมากครับ


เข็มขัดเบาะหลัง อยู่ที่เสา C
ย้ายตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยด้านหลัง มาที่เสา C เพื่อแก้ปัญหาการพับเบาะแล้ว เบาะหนีบสาย ซึ่งตำแหน่งใหม่ ทำได้ดีขึ้นครับ

ก้านไฟเลี้ยว
ในรุ่นนี้มีการตัดเอาเกียร์ออกไป และยังเก็บก้านไฟเลี้ยวเอาไว้เหมือนเดิม แต่จะเป็นแบบ 1 จังหวะ เมื่อกดแล้วจะเปิดตลอด และจะเป็น Auto Cancel ที่จะปิดให้เอง ตามเงื่อนไข เช่นเลี้ยวเข้าซอยแล้ว เปลี่ยนเลนเสร็จแล้ว (detect เส้น) ซึ่งถือว่าฉลาดมาก สำหรับก้านไฟเลี้ยวจะลดฟังก์ชันกดปัดน้ำฝน และ High Beam ออกมาเป็นปุ่ม อยู่ที่พวงมาลัยแทน ซึ่งการใช้งานก็ต้องปรับตัวซักหน่อยครับ ถ้าชินแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรครับ
วัสดุในห้องโดยสารดีขึ้น
วัสดุภายในจะใช้บุนุ่มในทุก ๆ จุดที่เคยเป็นพลาสติคแข็ง ทั้งแผงประตู console หน้า เสา A, B, C ทำให้ทุกส่วนที่สัมผัส จะนุ่ม ให้ความรู้สกพรีเมียมมากขึ้น
การเก็บเสียงที่เงียบขึ้น
อีกจุดที่เด่นคือการเก็บเสียงที่ “เงียบ” มากขึ้นกว่าเดิมอีก ทั้งเสียงลม เสียงจากถนนเข้ามาน้อยมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบฝาครอบกระจกข้างใหม่ ลดการไหลวนของลมมาตีบริเวณกระจก และการใชัวัสดุนุ่มในทุกส่วนเพื่อซับการสั่นสะเทือน และการใช้กระจกสองชั้น (รุ่นเดิมก็สองชั้น) ซึ่งจากการปรับปรุงทั้งหมด เทสลาเคลมว่าเงียบขึ้นกว่าเดิม 20% ซึ่งจุดนี้ผมก็เห็นด้วยครับ ประมาณนั้นได้เลย
เสียงประตูดีขึ้น
เสียงในการปิดประตู ก็มีการพัฒนาเช่นกัน ตอนนี้ปิดประตูแล้ว เสียงจะ Solid มากขึ้น และเมื่อเปิดหน้าต่างลงสุด หน้าต่างจะเด้งขึ้นมานิดนึง เผื่อจังหวะตอนปิดประตู เพื่อช่วยเรื่องเสียงให้แน่น และดีมากขึ้น
เครื่องเสียงดีขึ้น 17 จุด
รอบนี้เทสลาเคลมว่า พัฒนาระบบเสียงให้ดีขึ้น ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่ Audiophile แต่เท่าที่ผมลองฟังดู ผมแยกไม่ออกว่าต่างกับตัวเดิมไหม ซึ่งอาจจะต้องขออภัยเพราะหูไม่เทพจริง ๆ ครับ

จอ / แอร์ตอนหลัง
จอหลังชุดเดียวกับ Model 3 HL แต่มีความสามารถในการพับเบาะเพิ่มขึ้นมา ส่วนพัดลมแอร์ปรับได้สองระดับ และลมแรงขึ้นมาก แม้จะเบอร์ 1 ก็ตาม แต่จากการใช้งาน แอร์นั้นเป่าหน้าตลอดเวลา แม้จะปรับต่ำสุดแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นข้อจำกัดของตำแหน่งแอร์บริเวณนั้น และหากเลือกเป่าสูงเลย จะเป่าโดนเพดาน สะท้อนลงหน้าอยู่ดี (แต่เบาหน่อย) ซึ่งถ้าคนชอบอาจจะดีครับ แต่ถ้าคนไม่ชอบก็อาจจะต้องปิดช่องลมเอาครับ
Air vent 2.0
ระบบแอร์จะเป็น Airvent 2.0 ที่ขยายขนาดช่องลม และมีการใช้ Blower ที่ตัวใหญ่ขึ้น ทำให้ได้ลมที่แรงขึ้น และมีข้อดีคือ ช่องแอร์ด้านหลัง ลมแรงขึ้น และปรับความแรงได้ 2 ระดับ โดยที่ไม่ขึ้นกับข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชัน “ส่าย” ช่องแอร์แบบพัดลม ฮาตาริ อีกด้วย ซึ่งจากการใช้งาน ถือว่าใช้ได้เลย การส่ายไม่ทำให้แอร์เป่าเข้าหน้าเข้าตาตลอด ให้ความสบายมากขึ้น
เบาะหน้าใหม่
เบาะหน้าเป็นแบบเป่าลมเย็นได้ 3 ระดับ ปรับได้จากจอโดยตรง จากการใช้งานเบอร์ 3 นี่เย็นจนหนาว ซึ่งใช้ตอนร้อน ๆ ได้ดีมากครับ
In cabin Radar
สำหรับ Model Y ใหม่ จะมีการใส่ cabin radar มาให้ด้วย เพื่อใช้ตรวจจับ และจำแนกผู้โดยสารในรถ – เด็ก ผู้ใหญ่ ลักษณะทางกายภาพ รวมถึงตำแหน่งที่นั่ง เพื่อให้ใช้การคำนวนการจุดระเบิดถุงลมให้เหมาะสมกับผู้โดยสาร ณ จุดนั้น ๆ ซึ่งปัจจุบันใช้แค่ Pressure sensor ที่เก้าอี้อย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ในอนาคต Cabin Radar จะใช้ตรวจจับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในห้องโดยสารด้วย เช่น เด็กที่ติดอยู่ในรถ หรือสัตว์เลี้ยง และจะสั่งเปิดแอร์ให้อัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งโทรหา 911 เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน ตัว Radar นี้ซ่อนอยู่ใต้ฝ้าก่อนบริเวณไฟห้องโดยสาร ซึ่งแน่นอนครับ ว่าฟีเจอร์นี้ไม่ได้ลองกัน แต่มี Hardware มาให้
Ambient Light
Ambient Light ใน Model Y ค่อนข้างคุณภาพสูงมาก ให้ความเข้มแสงสม่ำเสมอคงที่ตลอดทั้งเส้น และปรับสีได้มากกว่า 256 สี ตัวช่องที่ไฟออกจะแบนราบเพื่อให้ทิศทางแสงหันเข้าหาผู้โดยสารเท่านั้น ไม่สะท้อนไปทางอื่น ทำให้เราเห็นเป็นเส้นที่คม ไม่ฟุ้ง ไม่สะท้อนส่วนอื่นในห้องโดยสาร ซึ่งถือว่าออกแบบได้ดีมาก ๆ นอกจากนี้ยังปรับปรุงคือวัสดุตกแต่งบริเวณ Ambient Light จะใช้สีดำด้าน แทนสีเงิน (แบบ Model 3 HL) เพื่อลดการสะท้อนบริเวณกระจกหน้าในเวลากลางวัน ซึ่งจากการใช้งาน ไม่สะท้อนรบกวนสายตาแล้ว

Frunk / Trunk
- สำหรับที่เก็บของด้านหน้า มีการเพิ่มจุกระบายน้ำมาให้ สำหรับการใส่ของที่มีการรั่วซึม เช่นน้ำแข็ง หรือของเปียก จะสามารถเปิดรูเพื่อไล่น้ำออกได้แล้ว
- ฝากระโปรงด้านหน้า เพิ่ม Active Hood มาให้ ที่จะเด้งขึ้นมาเมื่อชนด้านหน้า เพื่อเบาแรงปะทะของคนเดินถนนกับฝากระโปรง
- ส่วนฝาท้าย ใช้ Strut ไฟฟ้าคู่ ทำให้การให้เปิด – ปิด ได้ช้าลง ตอนปิดจะไม่กระแทกเหมือนตัวเก่า
- ฝาท้ายใช้วัสดุบุนุ่ม และสักกะหลาดหมด ช่วยให้การลากของเข้าออก ไม่เป็นรอย และยังช่วยเรื่องเสียงอีกด้วย
- ฝาท้ายเปิดอัตโนมัติด้วยโทรศัพท์ที่มี Ultra Wide Band แค่พกเอาไว้ ไปยืนใกล้ ๆ ก็จะเปิดอัตโนมัติ


ไฟหน้า Matrix
ไฟหน้าอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำลงมาจากรุ่นเดิม อยู่บริเวณไฟตัดหมอก เป็นไฟ Matrix พร้อมเลนส์ดวงเดียว จากการใช้งานพบว่า Pattern แสงมีความสม่ำเสมอมากขึ้น และอยู่ใน level ที่ต่ำ ไม่ส่องคันอื่นแสบตาแน่นอน ถึงจะดวงไม่ใหญ่ แต่ให้ความเข้มแสงเพียงพอ ทั้งไฟต่ำ และไฟสูง
สำหรับ Adaptive High Beam ที่สามารถปิดบาง Pixel ได้ ทำงานเหมือนกับโคมตัวเก่า การเปิดปิดยังมี delay บ้าง ยังไม่ได้เร็วฉึบฉับเหมือนกับค่ายยุโรป แต่สำหรับคันที่ทดสอบ ยังเว้นไม่ตรงรถ เหลื่อมไปนิด ทำให้บางส่วนของไฟสูง ส่องโดนรถคันหน้า ซึ่งส่วนนี้ น่าจะเป็น Bug ที่เดี๋ยวเทสลาก็แก้ไขได้ครับ

พวงมาลัยใหม่
ส่วนพวงมาลัย ในรอบนี้พวงมาลัยก็มีการปรับปรุง โดยจะปรับอัตราทดให้ “ช้า” ลง เพื่อให้ขับสบายมากขึ้น ในหัวข้อนี้เพื่อให้เห็นภาพ ผมลองเทสดู รุ่นเก่าหมุนจาก Center ไปสุดด้านหนึ่ง 356 องศา สำหรับรุ่นใหม่ 415 องศา ต่างกันประมาณ 60 องศา หรือต้องหมุนเพิ่มขึ้น 1/6 รอบครับ ซึ่งการปรับให้ช้าลง ก็จะทำให้หน้าไม่ไวเหมือนรุ่นเก่า ในการขับด้วยความเร็ว อาจจะรู้สึกว่าคมน้อยลง แต่ภาพรวมทำให้ขับสบายมากขึ้นครับ

กล้องหน้า
อันที่จริงเทสลามีกล้องหน้าอยู่แล้ว แต่เป็นกล้องสำหรับ Autopilot ที่มองระยะไกล ไม่ได้เปิดให้คนขับใช้งาน แต่รอบนี้ให้กล้องหน้าที่เป็น Parking Camera มาให้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเทสลา และนี่เป็นรุ่นที่สองถัดจาก Cyber truck นี่เป็นกล้องหน้าที่ให้มุมกว้าง เห็นได้รอบ และที่เยี่ยมมากคือมีที่ฉีดล้างเลนส์มาให้ด้วย
ในการใช้งานจริง กล้องหน้านั้นมีประโยชน์อย่างมากในกรณีที่มองไม่เห็นหน้ารถ เช่นตอนขึ้นเนิน กล้องจะช่วยให้เราเห็นสภาพแวดล้อมได้ชัดเจนขึ้น

สำหรับการเลี้ยวพ้นหรือไม่พ้น กล้องหน้าจะไม่ช่วยเท่าไร เพราะไม่เห็นด้านข้างมุมกันชน ซึ่งการใช้งานแบบนั้น ต้องพึ่งมุม Bird eye view จะสะดวกกว่า ซึ่งเทสลายังไม่มี Bird eye view ที่เป็นภาพจริงมาให้ (และน่าจะทำได้ยากจากโพสนี้) ซึ่งเทสลาให้มาเป็น Vector Space แทน จากการใช้งานก็ถือว่าแม่นพอสมควร แต่ข้อเสียก็คือ object ที่ไม่ใช่รถ เช่นพุ่มไม้ จะเห็นรูปทรงไม่ชัดเจนเท่าไร


ช่วงล่างใหม่
รอบนี้มีการเปลี่ยนทั้ง ช่วงล่าง พวงมาลัย และเบรค โดย Lars Moravy – VP Engineer ของเทสลาบอกว่า มีการปรับให้นุ่มสบายขึ้น และจะใช้โช้คชุดเดียวกับ Model 3 ที่เป็น “Frequency Selective Damping” หรือโช้คที่ปรับความอ่อนแข็งตามการสั่นสะเทือนของถนน โดยแบ่งการทำงานเป็นความถี่สองช่วงคือ ความถี่ต่ำ และความถี่สูง เช่น เมื่อรถผ่านถนนขรุขระ จะมีการสั่นสะเทือนมาก (ความถี่สูง) ช่วงล่างจะปรับให้นุ่มขึ้น เพื่อซับแรงสั่นสะเทือน ทำให้นั่งสบายขึ้น ในขณะที่การโยนตัวของรถในความเร็วสูง ถือเป็นความถี่ต่ำ ช่วงล่างก็จะแข็งมากขึ้น เพื่อให้รถมั่นคง และบังคับง่าย ซึ่งการทำงานของโช้คเป็นแบบกลไก ไม่ใช่ไฟฟ้า (ซึ่งความละเอียดจะไม่เท่า Adaptive Suspension ที่เป็นไฟฟ้า แต่จะทนทานมากกว่า ) จากการลองใช้งานได้ผลดังนี้

การใช้งานในเมือง (ความเร็วต่ำ)
ในการใช้งานจริง เช่น ถนนพระราม 3 ที่เป็นฝาท่อขรุขระก่อสร้างแบบนี้ ผ่านสบายเลยครับ ไม่ต้องกังวลที่จะรูดฝาท่อ รอยแตกถนน ผ่านลูกระนาด นุ่มขึ้นมาก อย่างที่โฆษณา ทุกการสั่นสะเทือน การกระแทก ไม่กระด้างแบบเก่า และอาการโยกหายไปเยอะ ถึงจะไม่หายหมด แต่ก็ไม่ได้เยอะจนผิดสังเกตุ โดยรวมอยู่ในระดับที่ “สบาย” ขับแล้วไม่เหนื่อย คนนั่งไม่บ่น ภาพรวมฟีลคล้าย ๆ กับ Model 3 Highland ครับ ดังนั้นที่บอกว่าดีขึ้น 51% ผมว่าก็ประมาณนั้นเลยครับ (ถึงจะนุ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขนาด Air suspension หรือพวก Adaptive ครับ)

การใช้งานความเร็วสูง (120 km/h+)
ในช่วงนี้ช่วงล่างควรจะ “แข็ง” มากขึ้น แต่เท่าที่รู้สึกคือ ในช่วงความถี่นี้ ก็ยังคงนุ่มอยู่ ไม่ได้แข็งมากเท่าตัวเก่า ข้อดีคือยังนั่งสบายเมื่อขับด้วยความเร็ว และการเกาะถนนยังทำได้ดีเหมือนเดิม แต่ด้วยความที่นุ่ม ทำให้ความรู้สึก Sport ลดลง และจะรู้สึกได้ว่าโยนตัวมากขึ้นกว่าตัวเก่าเล็กน้อย โดยเฉพาะการเปลี่ยนเลนกระทันหัน หรือใช้พวงมาลัยที่เร็ว จะมีอาการโยนให้รู้สึกได้ และเมื่อรวมกับพวงมาลัยใหม่ที่ช้าลง ทำให้รู้สึกว่าการตอบสนองต่อการเปลี่ยนทิศลงลง ในมุมผมช่วงล่าง และพวงมาลัยเก่า จะใช้ความมั่นใจได้มากกว่าครับ แต่ในการขับทั่วไป เรียกได้ว่าเป็นใช้งานได้ดี ไม่ได้มีปัญหา
ซึ่งถามว่าดีไหม? อันนี้แล้วแต่ความชอบครับ ถ้าสาย Comfort ที่เน้นการเดินทางแบบครอบครัว ก็น่าจะชอบครับ แต่ถ้าเน้นความเร็ว เน้นมุด อาจจะขับสนุกน้อยลงหน่อย เรียกว่าก็ตรงกับที่ Lars บอกว่า Model Y ใหม่เน้น Comfort ครับ

สำหรับผม ถ้าเลือกได้ระหว่างเก่า และใหม่ ผมก็เลือกช่วงล่างใหม่ครับ ถึงจะเสียดายความ Sport ที่ลดลง แต่ช่วงความเร็วอื่นที่ใช้บ่อย ๆ ทำได้ดีกว่ามาก ในภาพรวมจึงเป็น Trade off ที่ยอมรับได้ครับ ดังนั้น อาจจะต้องดูการใช้งานของเราเป็นหลักครับว่าชอบการใช้งานแบบไหน แต่แนะนำให้ไปลองเองครับ เพราะช่วงล่าง เป็นเรื่องที่ต้องลองสัมผัสด้วยตัวเองครับ
ระบบเบรกใหม่
มีการปรับปรุงระบบเบรกใหม่ โดยใช้เป็นระบบไฟฟ้า Brake by Wire ที่จะใช้มอเตอร์ไปบังคับระบบ Hydraulic และยังคงมี backup ที่ต่อกับ Hydraulic โดยตรง โดยระบบใหม่จะทำให้เบรคจะมีน้ำหนักที่สม่ำเสมอมากขึ้น และตัวแป้นจะไม่ขยับเอง เมื่อ Auto Brake Hold หรือ Emergency Braking ทำงาน และที่สำคัญยังสามารถเพิ่มการ Regen มาที่ระบบเบรคได้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้การหยุดรถด้วยเบรค ประหยัดพลังงานมากขึ้น (ทำให้ลดระดับการรีเจนลงได้ และยังไม่กระทบความประหยัด) และเนื่องจาก Motor จะรวดเร็วมากขึ้น ทำให้สามารถยกผ้าเบรกให้ห่างจาน เพื่อเป็นการลดแรงต้านของระบบเบรก (Brake Drag) ได้อีกด้วย
ในการใช้งานจริง สำหรับรถเทสลา เราแทบจะไม่ใช้เบรกอยู่แล้ว เพราะ Regen ของ One-Pedal นั้นหนักพอที่จะหยุดรถได้ ในการขับปกติ แต่ที่สังเกตได้คือตอนจอด หรือออกตัวที่ปกติแป้นจะขยับ ตอนนี้ก็ไม่ขยับแล้ว ในการเบรคหยุดดีเหมือนเดิม แต่น้ำหนักแป้นเบรค “แข็ง” กว่าตัวเดิมเล็กน้อย น้ำหนักยังไม่ธรรมชาติเท่าไร ต้องใช้แรงกดหนักขึ้น ถ้าน้ำหนักนุ่มเท้ากว่านี้ได้อีกนิดจะดีครับ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเบรกใช้น้อยครับ

One Pedal – Regen 2 ระดับ
เทสลาเน้นการขับแบบ One Pedal โดยใน Model Y รุ่นนี้ ไม่ได้มี Stopping Mode แบบอื่น เช่น Creep, Roll ให้เลือกแล้ว มีแต่ Hold ที่เป็น One Pedal เท่านั้น ซึ่งข้อดีของการใช้ One Pedal ก็คือ สามารถหยุดได้โดยไม่ต้องใช้เบรค และจะได้ Regen พลังงานกลับมาทุกครั้งที่ลดความเร็ว ซึ่งทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
แต่ปัญหาของ One Pedal คือ ความหน่วงที่มาก ทำให้คนขับต้องคอยเลี้ยงคันเร่งตลอดเวลา และหากบังคับคันเร่งไม่ดี คนนั่งอาจจะมึนได้ และเมื่อวิ่งทางไกล เราไม่สามารถยกเท้าเพื่อปล่อยให้ไหลได้ ต้องเหยียบตลอดเวลา แต่สำหรับใน Model Y 2025 มี option ให้ “ลด” ระดับ Regen ได้ โดยมีให้เลือกสองแบบคือ Normal แบบปกติ และ Reduce คือลดการรีเจนลง
จากการใช้งาน Normal นั้นเหมือนเดิม ส่วน “Reduce” นั้น ขับสบายมากขึ้น รถจะไหลมากขึ้นตอนใกล้หยุด ทำให้เราใช้เบรคมากขึ้น ความหน่วงใกล้กับรถไฟฟ้าแบรนด์อื่นทั่วไป ซึ่งเมื่อใช้การหน่วงแบบ “ลดลง” ทำงานกับเบรคระบบใหม่ เมื่อใช้เบรคก็ยัง Regen ได้อยู่ จุดนี้ ทำให้เทสลายังคงประหยัดประหยัดพลังงานได้เหมือนเดิม
Autopilot
สิ่งที่เทสลาทำได้ดีกว่ารถหลาย ๆ ค่ายคือระบบ ADAS หรือระบบช่วยเหลือการขับขี่ ที่เทสลาเรียกว่า “Autopilot” สิ่งที่ทำได้ดีกว่ายี่ห้ออื่นคือฟีเจอร์ที่เรียกว่า “Autosteer” หรือว่า “ระบบช่วยเลี้ยว” เพราะจะสามารถช่วยเหลือเราได้ในทางโค้งด้วย ซึ่งถ้าเป็นแบรนด์อื่น เจอโค้งที่มากหน่อย ก็จะ “ปล่อย” ทันที ทำให้รถเฉกินเลนไปเลนอื่น (ซึ่งอันตรายนะ) แต่สำหรับ Autosteer ช่วยเลี้ยวได้ในโค้งเกือบทุกโค้งในทางด่วน และโค้งที่แคบมาก ๆ ในความเร็วเหมาะสม
ต่างจากรุ่นเก่า
คันนี้เป็น HW 4.0 อันที่จริงผมไม่ได้คาดหวังว่ามันจะแตกต่างกันกับรุ่นเก่า เพราะมัน Software เดียวกัน แต่ปรากฏว่ามัน “ต่าง”
การประมวลผล แต่การตัดสินใจทำได้ “เร็ว” กว่า HW 3.0 มาก เช่น
- การใช้ Auto Lane Change กดปุ๊ป เปลี่ยนเลนปั๊ป ใช้เวลาคิดไม่เกิน 1-2 วินาที ในขณะที่ตัวเก่า จะใช้เวลาคิด 1-3 วินาที กว่าจะตัดสินใจเปลี่ยนเลน ทำให้การใช้งานลื่นไหลกว่าเดิม
- Auto-steer เกาะเส้นได้มั่นคงกว่าเดิม
- การตรวจจับรถคันหน้าที่หยุดนิ่งในระยะไกล แม่นกว่าเดิม
- การเพิ่มความเร็วให้เท่าที่ตั้งไว้ เมื่อด้านหน้าโล่ง ทำได้เร็วขึ้น
- Phantom Braking มีน้อยลง
แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมก็มี เช่น
- การออกตัวที่รุนแรง ไม่ Smooth
- การเบรคที่รอให้ใกล้มาก ๆ ค่อยหยุด
เรียกว่าในภาพรวม Autopilot ใช้ได้ดีขึ้นกว่า HW 3.0 รุ่นที่แล้ว (แต่ดีกว่า HW 4.0 Legacy ไหม คิดว่าน่าจะเหมือนกัน)

นอกจากนี้ ใน Software นี้ มีการเตือนเมื่อเหยียบคันเร่ง Override จากความเร็วที่ตั้งไว้ โดยจะมีแถบสีฟ้ากระพริบ พร้อมตัวหนังสือแจ้งเตือนว่า Autopilot จะไม่หยุด เพราะเหยียบคันเร่ง ซึ่งเป็นอีกจุดในการสังเกตุว่า ขณะนั้นเหยียบคันเร่ง Override ระบบหรือไม่
Autopilot นั้น “สบาย” เกินไป
มีสิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจก่อนคือ Autopilot หรือแม้กระทั่ง FSD Supervised เป็นระบบช่วยเหลือ Level 2 เท่านั้น หมายความว่าระบบทำหน้าที่ “ช่วยเหลือ” เท่านั้น “คนขับ” จะต้องพร้อมเข้าควบคุมตลอดเวลา
ถ้าเปรียบให้เข้าใจง่าย ก็เหมือนครูสอนขับรถ นั่งไปกับนักเรียน ซึ่งครูต้องคอยดูถนนตลอดเวลา ว่านักเรียนขับดีไหม ถ้าทำอะไรแปลก ๆ ครูก็จะเข้าบังคับเอง เป็นต้นครับ
ดังนั้นเมื่อเปิดใช้ระบบ บทบาทของคนขับก็คือการดูถนน ประเมิณสถานการณ์ตลอดเวลา และพร้อมเข้าควบคุมครับ ซึ่งถ้าทุกคนทำตามนี้หมด การใช้ระบบช่วยเหลือ ก็จะปลอดภัย
แต่ทำไม Autopilot ทำงานได้ดีกว่าแบรนด์อื่น แต่ทำไมกลับถูกโจมตีบ่อย
อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ว่า ระบบช่วยเหลือ L2 คนขับจะต้องดูแล ซึ่งถ้าระบบทำงานได้ดี คนขับก็ไม่ต้องเหนื่อยคอยแก้ไขเยอะ แต่ถ้าระบบไม่ฉลาด ก็จะสร้างงานสร้างภาระให้คนขับต้องแก้ ซึ่ง Autopilot นั้น ทำงานได้ดี จนคนใช้กันเยอะ ในขณะที่แบรนด์อื่นนั้นระบบ “ไม่เก่ง” เท่าไร จึงกลายเป็นการสร้างภาระให้คนขับมากกว่าช่วยเหลือ เปิดใช้แล้วเหนื่อยกว่า ส่วนใหญ่จึงเลือกขับเองมากกว่า ก็เลยเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมแบรนด์อื่น ไม่ถูกโจมตี ก็เพราะ “คนไม่ใช้เลย” นั่นเองครับ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ทำงานได้ดี ทำให้คนเริ่ม “ละเลย” ในการขับ และปล่อยให้รถทำงานด้วยตัวเองโดยไม่ดูถนน ซึ่งเมื่อใช้งานเกิน Limit ของระบบ ก็จะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเรื่องนี้ NHTSA จึงบอกว่า Autopilot นั้นสบายเกินไป จนทำให้คนขับไม่มีส่วนร่วมในการขับ และให้ Tesla ไปแก้มา

ลงโทษ 5 ครั้ง แบน 1 อาทิตย์
Tesla จึงใช้วิธีตรวจจับการมีส่วนร่วมของคนขับ ด้วยการใช้ “กล้อง” ภายในรถ ดูว่า “ตา” มองถนนหรือไม่ หากก้ม, มองจอ, หยิบมือถือขึ้นมา นานเกินไป ก็จะถูกเตือนว่า “ให้ตั้งใจมองถนน” พร้อมเสียง การเตือนจะหายไป เมือท่าทางคนขับ กลับมามองถนน หรือเป็น “ท่าขับ” ที่ตั้งใจ และหากถูกเตือนบ่อยเข้า Autosteer จะหยุดทำงาน พร้อมรูปพวงมาลัยสีแดง และเสียงเตือนที่ดังมาก และเราจะใช้ Autosteer ไม่ได้อีกเลย ในการขับครั้งนั้น นับเป็นการลงโทษ 1 ครั้ง หากต้องการใช้ต่อ ให้จอดรถ และเข้า “P” และ “D” ใหม่
ในระหว่างนั้น หากไม่ถูกลงโทษซ้ำใน 1 อาทิตย์ ระบบจะคืน Quota ให้ 1 ครั้ง แต่หากถูกลงโทษครบ 5 ครั้ง Autosteer จะใช้งานไม่ได้ในรถคันนั้นอีกเลย เป็นเวลา 1 อาทิตย์
ทางทฤษฏีก็เหมือนจะดี แต่จากการใช้งานจริง ผมพบว่า Logic การทำงานแบบนี้ ไม่สะดวกเท่าไร เพราะเมื่อคุณมองแผนที่ / เลือกเพลง หรือทำอะไรบนหน้าจอ ก็จะถูกมองว่าไม่ตั้งใจ ก็จะถูกร้องเตือนไปหมด ที่แย่สุดที่เจอคือเมื่อรถเลี้ยวซ้าย คุณก็ต้องมองไปทางซ้าย ซึ่งรถก็อาจจะเข้าใจว่ามองจออยู่ แล้วก็เตือนอีก
ในเรื่องนี้ User หลายคนเลือกจะ “ปิด” กล้องภายในห้องโดยสาร ซึ่งเทสลายังยอมให้ Autopilot ทำงานได้ แม้กล้องจะถูกปิด (แต่ FSD ไม่ได้) เมื่อกล้องถูกปิด ระบบจะย้ายมาตรวจการจับพวงมาลัยแทน โดยการหมุนเบา ๆ เพื่อให้รู้ว่าเรายังอยู่ แต่หากถูกเตือนเรื่องหมุนพวงมาลัยบ่อยเกินไป ก็จะถูกลงโทษเช่นกัน
เรียกว่า อยากใช้ Autopilot ให้สะดวก ต้องมองถนนอย่างเดียวครับ แต่ …นั่นก็คือสิ่งที่ควรทำอยู่แล้วไม่ใช่หรือ
Parking Assist
ระบบช่วยจอด ทำได้ทั้งถอยเข้าซอง และขนาน สิ่งที่ทำได้ดีมากคือ สามารถ scan เจอช่องจอดล่วงหน้าได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นช่องว่างระหว่างรถสองคัน เป็นลานโล่ง ๆ ก็จิ้มเลือกช่องได้เลย แต่ยังไม่สามารถจอดเอาหน้าเข้า หรือเฉียงได้
การใช้งานรู้สึกว่าส่วนใหญ่ทำได้ดีเหมือนรุ่นเดิม แต่มีหลายครั้งที่จำนวนครั้งในการถอยมากไปหน่อย และสิ่งที่ยังมีปัญหาคือ การถอยที่ Supercharger ถอยไม่สุด ยางไม่ชนหมอน ทำให้เวลาชาร์จ สายจะไม่ถึง ต้องลงมาถอยเองใหม่ (ซึ่งไม่เป็นในรุ่นเก่า) ส่วนนี้น่าจะ Bug และคิดว่า เดี๋ยวก็แก้ได้ครับ

ระยะวิ่ง Model Y Long Range
เมื่อชาร์จเต็ม 100% เรากดดูระยะวิ่งจะได้ 525 กม. ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ใช่ระยะวิ่งตามการใช้พลังงานเฉลี่ยล่าสุด แต่เป็นตัวเลขที่มาจากค่าการใช้พลังงานเฉลี่ยของรถรุ่นนี้โดยรวม ซึ่งเทสลาเรียกว่า “Rated” Consumption ซึ่งมีค่าคงที่เท่ากับ 147.1 Wh/km เมื่อคำนวนดูก็จะได้ 530 กม. และตัวเลขนี้จะ “น้อย” ลงเรื่อย ๆ ตามการเสื่อมของแบตครับ

ทดสอบระยะวิ่งจริง
อย่างที่ผมเคยบอกในหลายบทความว่า ระยะวิ่งจริงนั้น “ไม่มีจริง” เพราะระยะวิ่งจะแปรผันตามลักษณะการใช้งาน และการขับขี่ การใช้งานแบบหนึ่ง ก็ได้ระยะแบบหนึ่ง แต่หากจะประมาณระยะวิ่งให้ใกล้เคียงที่สุด สิ่งที่พอทำได้คือการหาค่าเฉลี่ยการใช้งานหลาย ๆ ทริปมารวมกัน ซึ่งจากประสบการณ์การใช้งานที่ผ่านมา ผมพอจะสรุปการหาระยะวิ่งเป็นสูตรได้ดังนี้
ระยะวิ่งจริง = (NEDC x 0.7) + 10%
ระยะวิ่งจริง = (WLTP x 0.9)
ซึ่ง Model Y Long Range มีระยะวิ่ง 551 กม. WLTP หากใช้สูตรนี้ ก็น่าจะได้ระยะวิ่งประมาณ 495 กม.
ดังนั้นในการหาระยะวิ่งจริง การทดสอบนี้ ผมจะพยายามใช้ในหลาย ๆ สถานการณ์ เพื่อให้เห็นภาพว่า ระยะวิ่งเป็นอย่างไรในการใช้งานแต่ละอย่าง และจะหาค่าเฉลี่ยในแต่ละทริป และสุดท้ายมาดูกันว่าจะได้ระยะวิ่งเท่าไร สูตรพอจะแม่นไหม
Trip A – เดินทางไกล
ในทริปนี้จะเป็นการเดินทางไกล ผมเลือกเส้นทาง กทม. – เพชรบูรณ์ เพราะจะได้ทดสอบเรื่องการขึ้นเขาด้วย แต่เนื่องจากเวลาเทสมีค่อนข้างจำกัด ทำให้ทริปนี้ออกตอน 4 ทุ่ม! เราเริ่มต้นที่ Supercharger Amazon วังน้อยที่ 91%
ผมใช้ความเร็ว 100-120 กม/ชม. ตลอดทาง แล้วแต่ช่วง ซึ่งก็น่าจะถึงประมาณตี 3 แต่ระหว่างขับง่วงมาก เลยจอดนอนก่อนระหว่างทาง แล้วค่อยเดินทางต่อ สุดท้ายถึง EV Pluz หล่มสักตอน 6.30 น. สรุปการใช้พลังงาน
SOC 91-30%
ระยะทาง 293 กม.
ใช้พลังงาน 147 Wh/km
หากคิดเป็นระยะวิ่ง 480 กม.
Trip B – ขึ้นลงเขา
ในการใช้งานช่วงนี้ จะเป็นการวิ่ง ขึ้น-ลง ภูทับเบิก และเข้าค้อ โดยวิ่งจาก EV Pluz ม.ราชภัฏ ไปถึงทางขึ้นประมาณ 50 กม. เป็นการใช้งานบนเขาประมาณ 120 กม. และวิ่งพื้นราบจนถึงสถานี Elexa อีกประมาณ 50 กม. การใช้พลังงานเป็นดังนี้
SOC 80-34%
ระยะทาง 223 กม.
ใช้พลังงาน 142 Wh/km
หากคิดเป็นระยะวิ่ง 485 กม.
โดยปกติแล้วในการใช้งานขึ้นเขา หรือลงเขา หากเป็นรถสันดาปอัตราสิ้นเปลืองจะสูงมาก แต่สำหรับรถไฟฟ้า จะได้พลังงานคืนมาตอนลงด้วย ซึ่งจะได้คืนมากน้อย ขึ้นอยู่กับการ Regen ของรถไฟฟ้าแต่ละรุ่น
สำหรับ Trip นี้ ผลที่ออกมาค่อนข้างน่าทึ่งมากครับ เพราะเราได้ Consumption เท่า ๆ กับวิ่งพื้นราบในขามาเกือบจะเปะเลย เรียกได้ว่า เทสลามีการจัดการพลังงาน และการ Regen ที่ดีเยี่ยมมากครับ ถึงจะมีการใช้งานบนเขา ก็ไม่ได้เปลืองไปกว่าการวิ่งพื้นราบเลย
Trip C – เพชรบูรณ์ – กทม.
เราเดินทางกลับจากเพชรบูรณ์ จาก Elexa ที่ 82% เป็นการวิ่งตอนบ่าย ๆ อากาศไม่ร้อนมาก ใช้ความเร็ว 100-120 กม/ชม. บางช่วง และ 80-90 กม/ชม. ในช่วงสระบุรี เนื่องจากรถเริ่มเยอะ
ในรอบนี้ผมจะเก็บข้อมูลการชาร์จ จึงอยากให้ SOC เหลือต่ำที่สุด แผนแรกที่ Supercharger วังน้อย แต่ปรากฏว่าเมื่อถึง Amazon วังน้อย SOC เหลือเยอะเกินไปที่ 17% ผมเลยเปลี่ยนแผน ขับต่ออีก 70 กม. ข้ามไปชาร์จ Supercharger Central Villege ฝั่งบางนาแทน เนื่องจากใกล้บ้าน และมีของกินด้วย
ข้อดีของรถเทสลาคือต่อให้ SOC เหลือต่ำ ๆ ระยะวิ่งก็ยังไว้ใจได้ ไม่วูบ ดังนั้นหากใช้จนชินแล้ว 17% นี่ยังวิ่งได้อีกเยอะครับ
เมื่อไปใกล้ถึง Supercharger ปรากฏว่าระยะทาง 70 กม. ใช้ไปเพียง 10% เท่านั้น เรียกว่าประหยัดมาก ๆ สุดท้ายผมจึงต้องไปวิ่งเบิร์นแบตจนเหลือ 2% สรุปการใช้พลังงานทริปนี้เป็นดังนี้
SOC 82-2%
ระยะทาง 446 กม.
ใช้พลังงาน 132 Wh/km
หากคิดเป็นระยะวิ่ง 558 กม.
เรียกได้ว่า Trip นี้ได้ระยะมากที่สุด ทั้งที่ขับใช้งานตามปกติ ตามการจราจร เร่งแซงบ้าง ใช้ความเร็วบ้าง คาดว่าน่าจะเป็นเพราะเพชรบูรณ์สูงกว่าระดับน้ำทะเล 114 ม. ลงมาพื้นราบแถว ๆ สระบุรีที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ~ 10-20 ม. จึงเหมือนการลงเขาเบา ๆ ไปด้วย
Trip D – ทริปสั้น ๆ เช้าเย็นกลับ – นั่ง 5 คน
การใช้งานในรอบนี้จะเป็นทริปไปต่างจังหวัดใกล้ ๆ แบบเช้าเย็นกลับ ซึ่งเป็นการออกทริปปกติที่หลายครอบครัวทำกัน โดยวันนี้ผมไปบางแสน ไปร้านอาหารทะเลเจ้าประจำที่อร่อย และถูกมาก เป็นการนั่ง 5 คนเต็ม วันนี้เมฆเยอะ อากาศร้อน เปิดแอร์ 20 องศา ที่น่าสนใจคือด้านหลังบอกหนาว เลยปิดไป (ต้องให้ความดีกับ Blower ตัวใหม่ที่เป่าได้แรงมาก ดังนั้นไม่ต้องกลัวด้านหลังไม่เย็นครับ)
SOC 100-54%
ระยะทาง 187 กม.
ใช้พลังงาน 166 Wh/km
หากคิดเป็นระยะวิ่ง 407 กม.
ใน Trip นี้ จะเห็นว่าใช้พลังงานมากขึ้น น่าจะเป็นเพราะนั่ง Full load เปิดแอร์แรง และ Sentry Mode ระหว่างทานข้าวด้วย ทำให้ค่อนข้างกินไฟมากกว่าทริปอื่น
Trip E – ในเมือง อากาศร้อน รถติด
สำหรับทริปนี้ เป็นทริปใช้งานในเมืองที่รถติดเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นวัน “แผ่นดินไหว” นี่จึงไม่ใช่รถติดธรรมดา ซึ่งหลายคนคงนึกออกว่าติดขนาดไหน ผมใช้เวลา 4 ชม. ในการเดินทางเพียง 20 กม. เรียกว่าจอดเฉย ๆ เปิดแอร์ซะส่วนมาก หลังจาก LIVE กับคุณกิมเสร็จ ในตอนดึกมีวิ่งทางด่วนบ้าง แต่ก็ไม่มาก สรุปการใช้ไฟดังนี้
SOC 80-20%
ระยะทาง 198 กม.
ใช้พลังงาน 184 Wh/km
หากคิดเป็นระยะวิ่ง 330 กม.
ทริปนี้ได้ระยะวิ่งน้อยสุด ซึ่งผมถือว่าได้เท่านี้ก็ดีแล้ว เพราะรถหยุดนิ่งมากกว่ารถวิ่ง เรียกว่าใช้ไฟทิ้งไปค่อนข้างเยอะครับ
หากเราหาค่าเฉลี่ยระยะวิ่งจากการใช้งานต่าง ๆ จะได้ดังนี้
(480 + 485 + 558 + 407 + 330) / 5 = 452 กม.
แต่หากไม่นับวันแผ่นดินไหว เพราะเป็นการใช้งานที่ไม่ปกติเท่าไร เราตัดออก 1 Trip จะได้ค่าเฉลี่ยดังนี้ครับ
480 + 485 + 558 + 407 = 482.5 กม.
จากตัวเลขที่ได้ ก็ถือว่าใกล้เคียงกับที่คำนวนจากสูตรที่ 495 กม. ประมาณนึงครับ

ในภาพนี้เป็นทริป C ที่กลับจากเพชรบูรณ์ เป็นชาร์จที่วิ่งได้เยอะที่สุด
สุดท้ายหากจะสรุประยะวิ่ง เราอาจจะสรุปได้เป็นช่วงว่า Model Y Long Range วิ่งจริงได้ 407 – 558 กม. ตามการใช้งานนี้ครับ หรือถ้าจะสรุปด้วยตัวเลขเดียว จะเป็นตัวเลขที่ได้จากค่าเฉลี่ย 482 กม. ครับ
การใช้พลังงาน
โดยปกติรถไฟฟ้านั้นจะเริ่มกินพลังงานมาก เมื่อวิ่งด้วยความเร็วเกินรอบที่ประหยัดของมอเตอร์ ซึ่งปกติอยู่ที่ประมาณ 40-50 กม/ชม. ดังนั้นหากวิ่งความเร็วในการเดินทางทั่วไปเช่น 100-120 กม/ชม. ก็จะกินพลังงานมากขึ้น และด้วยแรงต้านอากาศ (Drag) ที่มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้กินพลังงานมากขึ้นอีก จึงเป็นสาเหตุที่รถไฟฟ้าทั่วไป มักกินไฟ และได้ระยะวิ่งน้อยลงมากหากใช้ความเร็วสูง

แต่สำหรับเทสลานั้นเด่นในเรื่องประหยัดพลังงานมาก เมื่อวิ่งด้วยความเร็วในการเดินทาง ก็ยังคงประหยัดอยู่ และได้ระยะวิ่งที่มากโดยจากการทดสอบ ได้อัตราการใช้พลังงานที่ความเร็วต่าง ๆ ดังนี้
100 km/h ~ 111 Wh/km
110 km/h ~ 134 Wh/km
120 km/h ~ 160 Wh/km
ซึ่งถ้าเทียบกับ ตัวเก่า จะได้ประมาณนี้
100 km/h ~ 120 Wh/km
110 km/h ~ 140 Wh/km
120 km/h ~ 170 Wh/km
เรียกได้ว่า รุ่นใหม่ ประหยัดขึ้นแบบสังเกตุได้เลยครับ

การใช้ CAMP Mode
แน่นอนว่า หลาย ๆ คนที่สนใจ Model Y ก็เพราะสามารถตั้งแคมป์ นอนในรถได้นี่แหละ การนอนในรถใช้ไฟเท่าไร และการใช้งานเป็นยังไง?
โดยทั่วไปการนอนในรถมีสองแบบคือ
- พับเบาะหน้าให้มาต่อกับเบาะหลัง
- พับเบาะหลังให้ต่อกับที่เก็บของ
ซึ่งสำหรับ Model Y เป็นแบบที่สอง

ผมได้ทดลองนอนในนี้ 1 คืน พื้นที่ในการนอน ค่อนข้างกว้าง นอนได้สบายสำหรับสองคน แต่ข้อเสียคือหากไม่มีฟูก จะเหมือนการนอนบนแผ่นกระดานแข็ง ๆ และไม่สบายเท่าไร นอนหงายได้อย่างเดียว และเจอปัญหาที่พอจะสรุปได้ดังนี้
- แข็ง ถ้าไม่มีฟูกนอนไม่ค่อยสบาย
- เปิด / ปิดฝาท้ายลำบาก ต้องกดจาก App เอา
- จะนอนดูหนังจอเล็กก็ไม่ถนัด จะดูจอใหญ่ เบาะหน้าก็บัง
- แอร์ด้านหลัง เป่าไม่พ้นเบาะที่พับเท่าไร ต้องพึ่งแอร์เบาะหน้า
- กดจอด้านหน้าลำบาก ต้องปีนไปกด
- จะปรับอุณหภูมิ ก็ต้องใช้ App เอา สะดวกกว่า
- เข้าออกขึ้นลง ต้องทำจากฝาท้าย ไม่สะดวกเท่าไร
- ลุกมานั่งไม่สะดวก หัวจะติดหลังคา (สูง 168 cm)
- ถ้ามีสัมภาระท้ายรถ ต้องจัดใหม่ ไม่มีที่จะไว้ (ถ้าแบบเอนเบาะหน้า จะไม่ต้องยุ่งกับสัมภาระท้าย)
- แอร์ 22 องศา ถ้านั่งด้านหน้าเย้น แต่ถ้ามานอนด้านท้ายยังไม่ค่อยเย็นเท่าไร ต้องปรับต่ำกว่านี้
สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องฟูก ผมแนะนำอันนี้ Model Y Mattress เป็นฟูกเป่าลมที่ทำมาสำหรับ Model Y โดยเฉพาะ มีขายใน Tesla Official Shop ทุกประเทศ ยกเว้น …ประเทศไทย ซึ่งอันนี้ผมซื้อจาก Tesla Online Shop มาเลย์เซีย ในรอบที่ขับรถไปงาน Tesla Takeover ให้มาส่งที่โรงแรม ราคาประมาณ 8000 บาท

ที่ดีมากคือ ในชุดมีปั้มลมให้ และสูบได้เต็มในเวลาเพียง 20 วินาที! เร็วมาก ๆ เมื่อเต็มแล้ว นุ่มสบายมาก ๆ เกือบจะเหมือนฟูกเตียงดี ๆ อันนึงเลยทีเดียว และตอนพับเก็บก็ง่าย ไม่ยากเลย
สิ่งที่เพิ่มขึ้นของฝาท้ายคือ มี Switch เปิดฉุกเฉินถ้าแบตหมดแล้ว
การใช้พลังงาน
ผมลองเปิด CAMP Mode และตั้งอุณหภูมิที่ 22 องศา ตั้งแต่ 1.30 น. จนถึง 9.40 น. ทั้งหมด 8 ชม. 10 นาที ใช้ไฟ 89-75% = 14% หรือ 1.7% ต่อ ชม. คิดเป็น 1.37 kWh ถ้าคิดค่าไฟ ก็ประมาณ 5 บาทต่อ ชม.ครับ ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้เยอะมากครับ
สรุปการนอนในรถ
เทสลา น่าจะให้การเปิดปิดฝาท้ายทำได้จากจอด้านหลังด้วย และควรจะสามารถบังคับอุณหภูมิ หรือบังคับจอด้านหน้าได้ (ตอนนี้บังคับได้แต่ YouTube, Netflix) ส่วนตัวผมว่า การเอนเบาะหน้ามาต่อกับเบาะหลังเป็นเตียงนั้น สะดวกกว่า เพราะเราสามารถบังคับจอได้ เข้าออกทางประตูได้ เลือกเอนครึ่งเดียว และนั่งทำงานอีกฝั่งได้ มีความนุ่มของเบาะในกรณีที่ไม่มีฟูกด้วย และของท้ายรถก็ยังเก็บได้ ไม่ต้องยุ่งด้วยครับ
การชาร์จ / Tesla Supercharger
สิ่งที่คนใช้รถไฟฟ้าต้องการคือ “มีที่ให้ชาร์จ” และ “ชาร์จเร็ว” ซี่งเทสลามีให้ทั้งสองข้อ คือมีเครือข่ายสถานีชาร์จของตัวเอง Tesla Supercharger ให้บริการทั่วประเทศ (และกำลังขยายให้ครอบคลุมที่สุด) ชาร์จได้เร็ว และยังใช้ง่ายสะดวก ซึ่งยังถือเป็นจุดแข็งที่ผู้ใช้รถเทสลาจะได้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทางช่วงเทศกาล เพราะผู้ใช้เทสลา ยังไม่ได้เยอะขนาดนั้น (ถึงต่อคิว ก็ต่อไม่นาน)
แต่ในการใช้งานจริงปัญหาก็ยังมีบ้างเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งที่ตั้งสถานีชาร์จ ที่อยู่นอกเส้นทางหลัก ทำให้ไม่สะดวกในการใช้งาน แต่นั่นเป็นปัญหาที่แก้ได้ และในปีนี้ผู้บริหารคนใหม่ Isabel Fan ได้มีการปรับเปลี่ยนการจัดการภายในใหม่ และจะเพิ่มอีก 10 จุด ในปีนี้ และสัญญาว่าจะเป็นทำเลที่ถูกใจ เรามารอดูกันในปีนี้ครับ
สำหรับการชาร์จที่ Supercharger เป็นยังไง เร็วขนาดไหน หรือมีปัญหาอะไรไหม มาดูข้อมูลกัน

เบื้องต้นแบตเตอรี่ของเทสลามีความจุ 78 kWh (355V) หรือระบบ 400V ชาร์จได้กำลังสูงสุด 250 kW ซึ่งถือว่าเร็วมาก แต่รถเทสลาจะชาร์จได้เร็วที่สุดเมื่อชาร์จกับ Tesla Supercharger เท่านั้น ถึงแม้จะไปชาร์จตู้ ABB 360 kW ก็ยังคงช้ากว่า Supercharger 250 kW ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ในการอธิบายต้องดูสูตรกำลังชาร์จดังนี้
Charging Power = Amp x Voltage
โดย Voltage คือแรงดันของแบตเตอรี่ซึ่งสำหรับ Model Y LR มี Nominal Voltage อยู่ที่ 355V แต่เมื่อชาร์จแรงดันจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 380V และเมื่อ SOC สูงขึ้น V ก็จะสูงขึ้นอีก ส่วน Amp จะมาจากตู้ชาร์จ ดังนั้นหากต้องการกำลัง 250 kW ตู้ชาร์จต้องจ่ายกระแสเท่ากับ
Amp = Charging Power / Voltage
Amp = 250 kW / 380V = 657A
ดังนั้นในการที่จะได้กำลังสูงสุด 250 kW นั้น จะต้องใช้ตู้ที่จ่ายกระแสสูงสุดได้ 657A เท่านั้น ซึ่งตู้ที่จ่ายกระแสได้สูงขนาดนี้ ก็มีเพียง Tesla Supercharger เท่านั้น
ถ้าหากดูตู้ ABB 360 kW ซึ่งจ่ายกระแสได้สูงสุดเพียง 500A จะได้กำลังเท่ากับ
500A x 380V = 190 kW
หากดูตู้ EV Pluz ซึ่งปล่อยกำลังสูงสุดได้ 120 kW แต่จ่ายกระแสสูงสุดที่ 200A เท่านั้น เมื่อชาร์จกับเทสลา จะได้กำลังชาร์จ
200A x 380V = 76 kW
ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้เทสลาเมื่อไปชาร์จที่ตู้อื่น จึงได้กำลังไม่เต็ม และค่อนข้างช้า
ดังนั้น หากแบตเตอรี่เป็นระบบ 800V ก็จะชาร์จได้กำลังสูงกว่า 200A x 800A = 160 kW แต่ตู้จ่ายได้ 120 kW ก็จะชาร์จได้เต็มกำลังตู้เป็นต้น นี่จึงเป็นข้อแตกต่างระหว่าง Voltage ของแบตเตอรี่ ซึ่ง Voltage ที่เยอะกว่า ทำให้ได้กำลังเยอะกว่าเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าชาร์จได้เร็วขึ้น รถที่ 400V ชาร์จได้เร็วกว่า 800V ก็ยังมี
อย่างไรก็ตามเมื่อเทสลาชาร์จกับ Tesla Supercharger จะได้ Charging Curve ดังนี้ครับ

Tesla Supercharger Graph
สำหรับ Model Y 2025 กราฟที่ได้นั้นเหมือนกับ Model Y 2024 ตัวปัจจุบันครับ โดยชาร์จได้กำลังสูงสุด 250 kW เมื่อ SOC ต่ำกว่า 5% และคงกำลังที่ 250 kW ได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น และค่อย ๆ ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนเหลือ 11 kW ที่ 100% และไม่มี Section ไหน Flat หรือเป็นเส้นตรงเลย ซึ่งกราฟแบบนี้ เราจะได้กำลังสูงต่อเมื่อชาร์จที่ SOC ต่ำเท่านั้น
EV Pluz Graph
เส้นสีส้มเป็นการชาร์จตู้ EV Pluz 120 kW (200A) จาก 30-70% จะเห็นว่ากำลังต่ำกว่ากันมาก และได้กำลังสูงสุดเพียง 78 kW เท่านั้น และกราฟเป็นเส้นตรงจาก 71-78 kW ที่ 68% และลดเหลือ 75 kW ที่ 70%
หากเรา Plot SOC และ เวลา จะได้กราฟด้านล่างนี้

ถ้าเราดูการชาร์จที่เพิ่มขึ้น 60% ในช่วงต่าง ๆ จะได้ข้อมูลดังนี้
Tesla Supercharger Time Graph
🔋 30% → 90% ใช้เวลา 37.17 นาที
🔋 25% → 85% ใช้เวลา 33.01 นาที
🔋 20% → 80% ใช้เวลา 29.39 นาที
🔋 15% → 75% ใช้เวลา 26.48 นาท
🔋 10% → 70% ใช้เวลา 24.08 นาที
จากกราฟนี้บอกเราได้ว่า หากต้องการชาร์จเพิ่มอีก 60% Range ให้ใช้ช่วงยิ่งต่ำยิ่งดี เพราะจะใช้เวลาน้อยกว่า เช่น 10-70% ใช้เวลาเพียง 24.08 นาที เท่านั้น ในขณะที่ชาร์จในช่วง 20-80% จะใช้เวลา 29.39 นาที หรือต่างกันถึง 5 นาที แต่ในการใช้งานจริง เหลือ 10% อาจจะเสี่ยงไปนิด ดังนั้น 15-75% ใช้เวลา 26.48 นาที ก็อาจจะเหมาะกว่าครับ ในภาพรวมถือว่าชาร์จได้ค่อนข้างเร็ว และยังโอเคอยู่ แต่หากชาร์จที่ EV Pluz (กราฟสีส้ม) ปรากฏว่า 🔋 30% → 70% ใช้เวลาถึง 27 นาที ซึ่งถือว่าช้ามาก
สุดท้ายถึงเทสลาจะชาร์จได้ช้าที่ตู้อื่น หรือเป็นระบบ 400V ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้าในการเดินทาง สามารถใช้ Tesla Supercharger ได้ตลอดการเดินทางครับ
ความปลอดภัย
แน่นอนครับว่าทุกคนก็มองหารถที่ปลอดภัย แต่ในรถรุ่นใหม่ ๆ ทุกคันก็ได้คะแนน 5 ดาวทั้งนั้น แปลว่ารถเหล่านั้น ปลอดภัยเท่ากันหมดจริงหรือ? เราจะรู้ได้ยังไงว่ารถคันนั้น ไม่ได้ทำให้แข็งแรงเฉพาะส่วนที่มีการทดสอบ?
ดังนั้นต่อให้ได้ 5 ดาว ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคันจะ “ปลอดภัยเท่ากัน” เสมอไป เพราะการทดสอบเหล่านั้นมักอ้างอิงจากสถานการณ์จำลองเพียงบางรูปแบบ เช่น การชนด้านหน้าแบบเยื้องศูนย์ การชนด้านข้าง หรือการชนจากด้านหลัง ซึ่งแม้จะมีมาตรฐานชัดเจน แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมทุกสถานการณ์จริงบนท้องถนนได้
สำหรับเทสลานั้น เน้นเรื่องการออกแบบรถให้ความปลอดภัยมากที่สุด โดยอิงจาก Real world data เช่น ในการจุดระเบิดถุงลม เทสลาคำนวนว่าผู้โดยสาร น้ำหนักเท่าไร สูงเท่าไร นั่งส่วนไหนของเบาะ โดยอิงจาก Pressure sensor ที่เบาะ และมีการปรับการจุดระเบิดของ Airbag ให้เหมาะสมกับผู้โดยสาร และหากมีข้อมูล Real world เพิ่ม และพบวิธีที่ดีกว่าเดิม ก็จะแก้ไข และจะส่ง Update OTA ให้รถเทสลาทุกคัน ดังนั้นรถเทสลาทุกคันจึงปลอดภัยมากขึ้น และเพื่อให้การคำนวนแม่นยำขึ้น Model Y รุ่นนี้ มีการใส่ Cabin Radar เพื่อจำแนกผู้โดยสาร และการคำนวนที่แม่นขึ้นอีก ในการให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่งของอีลอนในรายการ Joe Rogan บอกว่า “รถเทสลาเราได้คะแนน 5 ดาวเต็มในทุกหมวด ถ้ามี 6 ดาว เราก็จะได้ 6 ดาว” เรียกว่ารถเทลา ออกแบบให้ปลอดภัยเกินมาตรฐานในปัจจุบันไปแล้วก็ว่าได้
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้น และ Model Y ก็สามารถปกป้องผู้โดยสารได้อย่างดี แต่ถ้าอ้างอิงจากคะแนน Model Y มีความเสี่ยงในการพลิกคว่ำเพียง 7.9% ต่ำที่สุดในรถ SUV ตั้งแต่ NHTSA เคยทดสอบมา และ Model Y ยังได้คะแนนความปลอดภัยสูงสุดในทุกหมวดจาก EUNCAP และได้ Top Safety Pick+ จาก IIHS
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องความปลอดภัย ทำให้เทสลามีเครดิตดีกว่าแบรนด์อื่น ๆ และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในรถที่ปลอดภัยมากที่สุดครับ
Software / Feature ใหม่
Regen 2 ระดับ
โดยปกติ Regen ของเทสลาจะ “หน่วง” เต็มที่ เพราะเป็น One-Pedal ที่สามารถขับโดยใช้แป้นเดียวได้จริง ๆ แต่อาจจะเหนื่อยคนขับซักหน่อย เพราะในการขับให้ Smooth ไม่เวียนหัว ต้องเลี้ยงคันเร่งตลอดเวลา และในการขับทางไกล จะถอนเท้าปล่อยไหลแบบรถทั่วไปไม่ได้ ดังนั้นในรอบนี้ มี Regen ให้สองแบบคือ “ปกติ” และแบบ “น้อยลง” ซึ่งปกติ ก็จะให้ฟีลเหมือนเดิม แต่ถ้าเลือก ลดลง Regen จะเหลือครึ่งเดียวเท่านั้น รถจะไหลมากขึ้น และเห็นได้ชัดในช่วงความเร็วต่ำ ฟีลของโหมดนี้ ใกล้เคียง / เบากว่า Regen ของรถไฟฟ้าคันอื่น ๆ แน่นอนว่าถ้าใช้ Mode นี้ จะต้องใช้เบรคบ่อยขึ้น และด้วยระบบเบรคใหม่ของเทสลา ที่เพิ่มการ Regen มามากขึ้นด้วย ต่อให้หน่วงน้อยลง ก็ยังคงประหยัดได้เหมือนเดิมครับ
ชาร์ต 100% รถหน่วงเหมือนเดิม ไม่ไหล
โดยปกติเมื่อชาร์จเต็ม 100% จะมีสัญลักษณ์เตือนว่า “Regen” จะลดลง (เนื่องจากแบตเต็ม Regen เพื่อชาร์จกลับไม่ได้) ซึ่งคนขับจะต้องปรับตัวจุดนี้ เพราะเมื่อถอนคันเร่ง รถจะไหล จนต้องใช้เบรคเข้าช่วย (เหมือนการขับรถทั่วไป) แต่ในรุ่นใหม่ ไม่มีสัญลักษณ์เตือนเรื่องการ Regen ลดลงแล้ว และยังคงให้ความหน่วงได้เหมือนปกติ แต่ไม่แน่ใจว่า กลไกเบื้องหลังคือการใช้ “เบรค” เข้ามา blend หรือเพราะมี Buffer ของแบตเยอะ จนใช้ Regen ได้กันแน่ แต่ถือว่าดีมากครับในมุมผู้ใช้ เพราะไม่ว่าจะแบตเต็ม หรือไม่เต็ม ลักษณะการขับขี่ก็เหมือนเดิม ไม่ต้องปรับตัว
Boombox
มีการเพิ่ม Boombox มาให้ ไม่ต้องจ่ายเงินติดเพิ่มเองแล้ว โดยจะสามารถเปลี่ยนเสียงล็อค เปิดล็อคประตูได้ ใช้ Megaphone พูดผ่าน App ไปดังนอกรถได้ ฯลฯ
Blindspot
มี Blind spot จุดไฟเล็ก ๆ ที่กระจกมองข้างแล้ว
Tesla Wall Connector
แน่นอนว่าถ้ามีรถไฟฟ้าแล้ว ก็ต้องมีที่ชาร์จที่บ้าน แต่สิ่งที่ควรระวังคือ รถไฟฟ้านับเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ ที่กินกระแสสูงมาก ดังนั้นตัว Wall Charger และการติดตั้งจึง “สำคัญ” มาก ๆ เพราะหากติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน สายไฟ หรือใช้อุปกรณ์ผิด ก็อาจจะเกิดอันตรายได้ ดังนั้นควรเลือกใช้ Wall Charger ที่ดี และบริษัทติดตั้งที่ชำนาญด้วย แต่ถ้าใครมีความรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว จะหา Wall Charger / ผู้รับเหมาเองก็ไม่ว่ากัน แต่ใครที่ไม่มีความรู้เท่าไร ผมแนะนำใช้ Package ของเทสลาเลยดีกว่า ติดตั้ง Tesla Wall Connector 1 เฟส เริ่มที่ 23,000 บาท ซึ่ง Wall Connector ของเทสลาคุณภาพดีมาก และเข้ากับรถได้เป็นอย่างดี และราคาไม่ได้แพงมากด้วย ดังนั้น ถ้าใครยังไม่มี แนะนำ Package นี้ครับ

Supercharger ในปีนี้
นี่คือหัวใจสำคัญของเทสลาเลย ปัจจุบันมี 28 แห่ง 171 หัวชาร์จ ซึ่ง 28 แห่งนี้ เส้นทางที่ใช้ได้ดีมากคือสายใต้ ที่ติดทางหลัก สามารถใช้ได้ยาว ๆ ถึงหาดใหญ่ สำหรับสายอื่นอาจจะมีอ้อมไปบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง และที่น่าสนใจคือในปีนี้จะมีเพิ่มมาอีก 10 แห่ง ซึ่งคุณ Isabel Fan บอกว่ารอดูได้ ไม่ผิดหวังแน่นอน โดย 10 แห่งนี้คือ
- พัทยา ชลบุรี
- หาดใหญ่ สงขลา
- เพชรบุรี
- พัทลุง
- ตาก
- นครสวรรค์
- อุดรธานี
- นครราชสีมา
- บุรีรัมย์
- เพลินนารี่ เขาค้อ เพชรบูรณ์
ทำเลดีไม่ดี ถูกใจไหมรอดูกันได้ครับ

สรุปเป็นข้อดี – ข้อสังเกต
ข้อดี
- หน้าตาทันสมัย
- วิ่งได้ไกลขึ้น
- ประหยัดไฟมากขึ้น
- ช่วงล่างสบายขึ้นมาก 50% นุ่มสบายในเมือง
- พวงมาลัยช้าลง ขับง่ายขึ้น
- มีกล้องหน้าแล้ว มีน้ำล้างกล้องด้วย
- Frunk เก็บของเปียกได้ มีรูระบายน้ำแล้ว
- Active Hood สำหรับลดการบาดเจ็บคนเดินถนน
- เบาะหลังนั่งสบายมากขึ้น
- เบาะหลังพับไฟฟ้า
- เก็บเสียงดีขึ้น 20%
- Air vent 2.0 ส่ายได้ ลมแรงขึ้น เย็นสบาย
- เบาะหน้าเป่าเย็นได้
- หลังคาเคลือบ Metallic 2 ชั้น กั้นร้อนพอได้ เหมือนติดฟิล์มแพง ๆ
- จอด้านหลัง
- ด้านหลังแอร์ลมแรงมากขึ้น (หนาวเลย)
- วัสดุภายในดีขึ้น สวยขึ้น บุนุ่มทุกจุด มี Ambient Light
- กันชนหลังออกแบบใหม่ แนวโน้มซ่อมถูกลง
- ฝาท้ายเปิดอัตโนมัติด้วย UWB ได้แล้ว
- ฝาท้ายเปิดปิดได้ช้าลง ใช้ strut ไฟฟ้าคู่
- เสียงประตูแน่นขึ้น น่าใช้ขึ้น
- สวิชฉุกเฉินเปิดฝาท้าย
- Regen ปรับได้ 2 ระดับ ขับง่ายขึ้น
- ชาร์จเต็ม 100% แรงหน่วง One-Pedal เหมือนเดิม
- มี Boombox แล้ว
- Autopilot HW 4.0 ทำงานดีขึ้นมาก
- ที่เก็บของเยอะเหมือนเดิม
- เพิ่ม Blind Spot
มีชมแล้ว ก็ต้องมีบ่นบ้าง
น่าเสียดาย
- วงเลี้ยวกว้างเหมือนเดิม
- ความเร็วสูงช่วงล่างให้ความ Sport ลดลง
- พวงมาลัยคมน้อยลง
- แบตตัวเดิม Charging Curve ยังเหมือนเดิม
- แอร์กินไฟเยอะ โดยเฉพาะหน้าร้อน รถติด
- เบาะหลังยังไม่สบายเท่ารถจีน
- เบาะหน้ารองขาสั้นไปหน่อย น่าจะปรับได้ยาวได้อีก
- แบตยังไม่ได้ใหญ่เท่าคู่แข่ง
- ระบบแบต 400V ชาร์จช้าในสถานี 200A
- Supercharger ยังไม่ครบ และทำเลยังไม่ดี
- ประกันแพง
- อะไหล่ตัวถังแพง ค่าซ่อมแพง
- ประกันตัวรถสั้นไปนิด 4 ปี 80,000 กม.
รอ Software แก้ไข
- Auto-Shift ยังทำงานไม่ครบเหมือน HL
- Auto-park จอดไม่ชิดที่กั้น และถอยหลายรอบเกินจำเป็น
- ไฟ Matrix ยังไม่แม่น และยังไม่เร็ว
ยังมีอะไรใหม่ได้อีก
ในช่วงการสัมภาษณ์ Lars Moravy ในรายการ Munro LIVE มีหลายคำถามที่น่าสนใจ เกี่ยวกับ Model Y รุ่นต่อไป ว่าจะมีอะไรมาบ้าง ได้ความดังนี้ครับ
- Steer by Wire – ยังไม่สามารถใส่มาให้ในรุ่นนี้ได้ เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนชิ้นส่วน และสายการผลิตมากเกินไป การอัพเกรดจึงต้องค่อย ๆ ทำ
- Supermanifold v2 – จะอัพเดทตามมาทีหลัง
- แบตที่ใหญ่ขึ้น – มองว่าไม่จำเป็น เพราะสามารถเพิ่ม Range จากการ Optimized ส่วนอื่นได้
นอกจากนี้ก็มีระบบไฟ 48V และแบต 800V ที่เทสลายังไม่ได้ใส่ให้รุ่นไหนนอกจาก Cyber truck ครับ ซึ่ง Franz และ Lars บอกว่า รถเทสลาจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ดังนี้คาดว่าระบบเหล่านี้ น่าจะค่อย ๆ ทะยอยมาในอนาคตครับ
ตอบคำถามที่น่าสนใจ
คู่แข่งสเปคดีกว่า ถูกกว่า?
ถ้าดูสเปคคู่แข่งในช่วงนี้โหดมากครับ ให้สเปคที่สูงในราคาที่ต่ำกว่า แต่นั่นทำให้เทสลาไม่น่าใช้หรือเปล่า?
ผมจะบอกว่า “ไม่” ครับ เพราะ “รถที่ดี คือรถที่ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดี” ไม่ว่าจะเป็นความไว้ใจได้ของรถ ความเสถียรของ Software การใช้งานที่ลื่นไหล ฯลฯ ซึ่งจุดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะทำตามกันได้ง่าย ๆ และจุดนี้ยังไม่มีเจ้าไหนสู้เทสลาได้ครับ
เทคยังแค่ 400V น่าใช้หรอ?
อันที่จริงผู้ใช้งานส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่าแบตจะเป็น 400v หรือ 800v ครับ แต่สนใจว่ามันชาร์จเร็วไหม และมีที่ให้ชาร์จไหม? ดังนั้นตราบใดที่เทสลายัง Offer สองอย่างนี้ได้ พัฒนา Supercharger ให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยผู้ใช้ไม่ต้องพึ่งที่อื่น ผมว่าการที่เทสลายังอยู่กับ 400v ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรครับ เพราะชาร์จระดับ 20 นาทีต้น ๆ นั้นก็ยังใช้ได้
แต่วันนี้ Supercharger ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมขนาดนั้น และสถานี 800v ที่ชาร์จได้เร็ว ก็ยังไม่ได้เยอะเช่นกัน
ดังนั้นวันนี้ผู้ใช้ อาจจะดูเหมือนพึ่งพาอนาคต ระหว่างใช้ 800v แล้วรอเอกชนพัฒนาสถานี 200 kw+ ให้เยอะ ๆ จนไม่ต้องรอคิว หรือรอเทสลาเร่งพัฒนา Supercharger ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จนไม่ต้องใช้ที่อื่น ซึ่งผมว่า อย่างหลังดูจะเป็นจริงได้เร็วกว่าครับ
ควรซื้อหรือรอก่อน …?
ปัจจัยที่แต่ละคนจะตัดสินใจซื้อนั้นแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมอาจจะตัดสินใจแทนให้ไม่ได้ แต่ถ้างบถึง และโอเคกับข้อจำกัดบางอย่าง และยังไม่เคยใช้เทสลา ผมมองว่าซื้อได้ครับ และคุณจะได้ประสบการณ์ใหม่ ที่น่าประทับใจในการใช้รถไฟฟ้าครับ และจะเข้าใจว่า ทำไมหลาย ๆ ค่ายถึงพยายามเอาเทสลาเป็นต้นแบบ แต่ถ้าไม่ได้รีบอะไร และไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ รอดูปีหน้าก็ได้ครับ การแข่งขันที่สูงขึ้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ
รุ่นเก่าน่าสนใจไหม?
ความแตกต่างระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ ก็ตามที่เขียนในรีวิวนี้เลยครับ ซึ่งถ้าสิ่งใหม่มันสำคัญ และงบถึง ก็ไปรุ่นใหม่ได้ครับ แต่ถ้าเฉย ๆ กับสิ่งที่เพิ่มมา รุ่นเก่าก็ถือว่าคุ้มมากครับ เพราะตัวรถก็ยังดีมาก และหากได้ราคาที่ดี ผมว่ามองข้ามยากครับ
เจ้าของเก่าเปลี่ยนดีไหม?
เจ้าของเก่าน่าจะเข้าใจรถเทสลาของตัวเองดีอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละท่านอาจจะต้องลองดูครับว่า สิ่งที่ดีขึ้น มากพอ กับเงินที่จ่ายเพิ่มไหม ถ้าคิดว่าโอเค ก็ซื้อได้เลยครับ แต่ส่วนตัวผม ยังครับ เพราะ Model Y Legacy ก็ยังใช้ดีมากอยู่ และยังตอบโจทย์การใช้งานทุกอย่างครับ
สรุป
Model Y 2025 นั้นดีขึ้นในทุก ๆ ส่วนจริง ๆ แต่ก็มีส่วนที่น่าเสียดายอยู่บ้าง …
ทั้งหมดนี้ก็เป็นรีวิวการใช้งานจริงในแง่มุมต่าง ๆ ของ Model Y 2025 ครับ อ่านแล้ว อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ไปทดลองด้วยตัวเอง ว่าเราเห็นตรงกันไหม ถ้าลองแล้วชอบ รับข้อเสียได้ งบถึง นี่จะเป็นรถที่น่าใช้แน่นอนครับ
ถึงบทความนี้จะพยายามรีวิวให้ครอบคลุมที่สุด แต่เทสลาเป็นรถที่ไม่มีวันรีวิวได้ครบ เพราะเมื่อ Software Update ใหม่ การใช้งานก็จะเปลี่ยนไป มีฟีเจอร์ มีฟังก์ชันใหม่ ๆ ให้ใช้งานมากขึ้น ดังนั้น รีวิวนี้จึงเป็น Review สำหรับ Software 2025.2.200.1 ครับ
สุดท้าย หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่เล็ง Model Y 2025 นะครับ
สวัสดีครับ
ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ droidsans, www.facebook.com/shortspecs และ www.shortspecs.com ครับ