ความหวังใหม่ "คำสาปฟาโรห์" ที่คร่าชีวิตนักสำรวจสุสาน อาจเป็นยารักษามะเร็งได้

2 weeks ago 8
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

นักวิจัยเผย "คำสาปฟาโรห์" ที่เคยคร่าชีวิตนักสำรวจสุสาน อาจเป็นความหวังใหม่ของโลกในหารรักษามะเร็ง ยาลับจากธรรมชาติ

“คำสาปฟาโรห์” ที่เคยถูกเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตอย่างลึกลับของนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์หลังการเปิดสุสานโบราณในอียิปต์ บัดนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนายารักษามะเร็งชนิดใหม่ที่มีแนวโน้มสูงในการต่อสู้กับโรคร้าย

เหตุการณ์นี้เริ่มต้นจากการเปิดสุสานของ พระเจ้าตุตันคาเมน ในปี 1920s และต่อมาในปี 1970s ที่โปแลนด์ มีนักวิทยาศาสตร์ 12 คนเข้าไปสำรวจสุสานของกษัตริย์คาซิเมียร์ที่ 4 แต่ 10 คนเสียชีวิตภายในไม่กี่สัปดาห์ ต่อมามีการสันนิษฐานว่า สปอร์ของเชื้อราโบราณที่แฝงตัวอยู่นานนับพันปี อาจเป็นต้นเหตุ

ภายหลัง นักวิจัยพบว่าในสุสานมีเชื้อรา Aspergillus flavus ซึ่งปล่อยสารพิษที่สามารถทำให้ติดเชื้อในปอด โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ได้ปรับแต่งสารเคมีที่แยกได้จาก A. flavus และพบว่า สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Chemical Biology เปิดเผยว่า สารกลุ่มใหม่นี้ชื่อว่า Asperigimycins มีฤทธิ์เทียบเท่ากับยารักษามะเร็งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และแสดงศักยภาพเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งบางชนิด โดยไม่มีผลกระทบต่อเซลล์เต้านม ตับ หรือปอด

 

ยาที่ได้จากธรรมชาติ

ศ.เชอร์รี เกา หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า "ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่ธรรมชาติมอบยาลับจากธรรมชาติให้เราเสมอ เหมือนที่เราได้เพนิซิลลินจากเชื้อรา และวันนี้เรากำลังได้ยาต้านมะเร็งจากเชื้อราที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคำสาป"

สาร asperigimycins จัดอยู่ในกลุ่ม RiPPs (Ribosomally synthesised and Post-translationally modified Peptides) หรือเปปไทด์ที่สร้างขึ้นโดยไรโบโซมและปรับแต่งภายหลัง ซึ่งมีคุณสมบัติในการหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ โดย ไปยับยั้งการสร้าง microtubules ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของการแบ่งเซลล์

ความหวังใหม่จากโลกของเชื้อรา

ดร.ฉิวเยว่ หนี ผู้ร่วมวิจัยเสริมว่า "แม้ RiPPs จากเชื้อรายังค้นพบได้ไม่มาก แต่ทุกชนิดที่ค้นพบล้วนมีฤทธิ์ทางชีวภาพสูง เชื้อรา Aspergillus ยังซ่อนศักยภาพไว้อีกมาก"

ทีมวิจัยยังค้นพบว่าเชื้อรา A. flavus มีโปรตีนเฉพาะที่สร้างสาร RiPPs และสามารถปิดการทำงานของยีนดังกล่าวเพื่อตรวจสอบกลไกการผลิตได้ ทำให้เทคนิคนี้อาจกลายเป็นแนวทางใหม่ในการค้นหายารักษาโรคจากเชื้อราในอนาคต

ขั้นตอนถัดไปคือการทดลองสาร Asperigimycins ในสัตว์เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ก่อนเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ในอนาคตอันใกล้

Read Entire Article