จักษุแพทย์ไขข้อสงสัย ทำไมหมอไม่ทำเลสิก? ถ้าทำแล้วดีจริง ทำไมหมอหลายคนสายตาสั้นแต่ยังเลือกใส่แว่นสายตา
หลายคนสงสัยว่า เห็นจักษุแพทย์จำนวนไม่น้อยยังใส่แว่นตาอยู่ แล้วแบบนี้ยังจะทำ "เลสิก" ไปทำไม? ถ้าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังเลือกใส่แว่น แสดงว่าแว่นตาดีกว่าเลสิกจริงหรือเปล่า?
คำตอบคือ “ไม่ใช่ทุกคนสามารถทำเลสิกได้”
แพทย์จาง จิ้งหมิน จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคตาในไต้หวัน ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันจักษุแพทย์ Nobel Eye Institute อธิบายว่า การทำเลเซอร์แก้สายตาสั้นมีข้อดี เช่น ไม่ต้องพึ่งแว่นหรือคอนแทคเลนส์อีกต่อไป สะดวกกับผู้ที่มีอาชีพหรือกิจกรรมที่ไม่เหมาะกับการใส่แว่น เช่น นักกีฬา ทหาร แอร์โฮสเตส ฯลฯ และปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายแบบ เช่น LASIK, PRK, SMILE ที่มีความปลอดภัยและให้ผลลัพธ์มั่นคง
แต่ก็มีบางคนที่ไม่เหมาะกับการทำเลสิก เช่น
-
กระจกตาบางเกินไป – เพราะการทำเลเซอร์ต้องขูดบางส่วนของกระจกตา หากบางเกินไปจะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน
-
สายตาสั้นมาก – หากค่าสายตาสั้นสูงเกินไป แม้ผ่าตัดแล้วก็อาจยังต้องพึ่งแว่นเล็กน้อย แพทย์บางคนจึงเลือกใส่แว่นเพื่อให้เห็นชัดกว่า
-
มีอาการตาแห้ง – คนที่มีน้ำตาน้อยแต่กำเนิด หรือมีอาการตาแห้ง อาจมีอาการแย่ลงหลังผ่าตัด ทำให้เลือกไม่ผ่าตัดดีกว่า
สรุปคือ จักษุแพทย์ก็เป็นคนธรรมดา ที่อาจมีเงื่อนไขไม่เหมาะกับการทำเลสิก การใส่แว่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก!
บางคนใส่แว่นเพราะ “สะดวกกว่า”
จักษุแพทย์บางคนต้องเพ่งสายตากับจอคอมพิวเตอร์หรือกล้องจุลทรรศน์นาน ๆ การใส่แว่นช่วยลดความล้าทางสายตาได้ดีกว่าเลสิก อีกทั้งบางคนกลัวผลข้างเคียง เช่น แสงฟุ้งตอนกลางคืน หรือ อาการตาแห้ง จึงยังเลือกใส่แว่นอยู่
เลสิกไม่สามารถป้องกันสายตายาวตามวัย
แพทย์จางยังกล่าวว่า การทำเลเซอร์แก้สายตา แก้ได้เฉพาะสายตาสั้นและเอียง แต่ไม่สามารถป้องกันสายตายาวเมื่ออายุมากขึ้นได้ บางคนพออายุ 40 แล้วกลับใช้ประโยชน์จาก "สายตาสั้นนิด ๆ" ที่มีอยู่แต่แรก มาช่วยถ่วงสมดุลกับอาการสายตายาว จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งแว่นสายตายาวเต็มรูปแบบ นี่จึงเป็นเหตุผลที่แพทย์บางคน ตั้งใจเก็บสายตาสั้นไว้ ไม่ทำเลสิกตั้งแต่แรก