เว็บไซต์ BBC นำเสนอบทความ "เมื่อไม่มีไฟฟ้าและไม่มีอะไรใช้งานได้ มนุษย์จะเอาตัวรอดกันอย่างไร?"
นั่นคือคำถามที่ผู้คนหลายล้านคนถามตัวเอง เมื่อสเปนและโปรตุเกสเกิดไฟดับครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.
เหตุการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงและได้รับการแก้ไขแล้ว แต่มันทำให้การขนส่งโกลาหลอย่างมาก และกิจกรรมการทำงานต่างๆ บนคาบสมุทรแห่งนี้ติดขัด
ในยามที่เกิดวิกฤตนี้ขึ้น บีบีซี สอบถามผู้คนที่ใช้ชีวิตโดยปราศจากไฟฟ้าว่าสิ่งใดบ้างที่ช่วยพวกเขาไว้ และอะไรคือสิ่งจำเป็นที่พวกเขาควรมี แต่กลับไม่มีเมื่อเกิดไฟดับครั้งใหญ่ขึ้น
เงินสด
การชำระเงินผ่านโทรศัพท์และบัตรต่างๆกลายเป็นเรื่องปกติของผู้คนไปแล้ว แต่เมื่อไม่มีไฟฟ้า ตู้กดเงินสดหรือ ATM ในเมืองต่างๆทั่วสเปนและโปรตุเกสก็มีผู้คนเข้ามาต่อคิวยาว (เนื่องจากบางตู้ยังทำงานอยู่) เพราะไม่มีวิธีการอื่นใดในการชำระเงินตามร้านค้า นอกจากเงินสด
"ช่วงไฟดับใหม่ๆ เรายังจ่ายค่ากาแฟด้วยบัตรได้ แต่หลังจากนั้นเราก็ซื้ออะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีเงินสดติดตัว" เอ็ด โรว์ จากกรุงมาดริด บอกกับ บีบีซี
"ร้านอาหารทุกร้านยังเปิดให้บริการ แต่พวกเขารับแค่เงินสดเท่านั้น" เขากล่าว
ส่วน เกรซ โอเลรี วัย 32 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวงของสเปนเช่นกัน บอกว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งเธอกับแม่ก็พบว่าตนเองกำลังนั่งนับเหรียญ เพื่อดูว่ามีเงินพอซื้อไวน์จากร้านค้าตรงหัวมุมถนนหรือไม่
"เห็นได้ชัดว่าการมีเงินสดไว้นั้นดีที่สุด" เขากล่าว
ด้าน เจมี จิออจิโอ วัย 28 ปี โชคดีที่ยังมีเงินสดติดตัวอยู่บ้าง ช่วยให้เขาสามารถซื้ออาหารและของใช้ที่จำเป็น
"ในกรุงมาดริด มันค่อนข้างโกลาหล รถไฟใต้ดินใช้งานไม่ได้ และคุณก็ไม่สามารถหาเงินสดได้ แต่ผมยังมีติดตัวอยู่บ้าง ขณะที่เพื่อนร่วมห้องของผมไม่มีเงินสดเลย ดังนั้นเขาต้องยืมผมเพื่อจะซื้อของ"
วิทยุ
เหตุไฟฟ้าดับยังทำให้ข้อมูลข่าวสารที่หาอ่านได้ตามหน้าจอต้องจอดำไปด้วย เนื่องจากอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชัน เช่น วอตส์แอปป์ (WhatApp) การโทรหากัน รวมไปถึงโทรทัศน์ หยุดทำงานลง
"การสูญเสียการสื่อสารทั้งหมดทำให้เกิดความสับสนและน่าเป็นห่วงอย่างมาก เราถูกทิ้งให้คาดเดาเกี่ยวกับเหตุต่างๆ และสอบถามข่าวคราวจากผู้คนในละแวกนั้นแทน" แดเนียล เคลกก์ จากนครบาร์เซโลนา กล่าว
วิทยุทรานซิสเตอร์แบบหมุนรุ่นดึกดำบรรพ์ช่วยให้ ซิกฟรีด และ คริสติน บุชชลือเตอร์ จูนคลื่นหาสถานีข่าวท้องถิ่น และนี่เป็นวิธีที่พวกเขาค้นพบว่ามันช่วยได้ หลังจากโทรศัพท์หยุดทำงานและไฟฟ้าในละแวกเขตชานเมืองหลวงของสเปนดับลง
คริสตีน วัย 82 ปี บอกว่า "เราต้องคอยหมุนปุ่มไปเรื่อยๆ มันเป็นสถานการณ์ที่แปลกประหลาดมาก ฉันเกิดที่กรุงเบอร์ลินในช่วงสงคราม และฉันก็นึกได้ว่ามันมีวันหนึ่งที่พ่อแม่ของฉันพยายามหาข่าว สิ่งนี้ทำให้ฉันนึกย้อนเวลากลับไป"
ทั้งคู่ประเมินว่าเหตุการณ์ไฟดับจะทำให้ความต้องการวิทยุใส่ถ่านมีมากขึ้น
แดเนียล บอกว่า เขาจะเพิ่มวิทยุลงในรายการซื้อของ เผื่อว่าเกิดสถานการณ์ไฟดับในครั้งต่อไป
"มันเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการรับข้อมูลข่าวสารขั้นพื้นฐาน ซึ่งผมลืมเรื่องนี้ไปอย่างสิ้นเชิง"
อาหารกระป๋อง
ไมโครเวฟ หม้อทอดไร้น้ำมัน และเตาไฟฟ้า รวมถึงเตาอบบางประเภท ไม่สามารถใช้งานได้เมื่อไฟดับลง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมวันที่เกิดเหตุดังกล่าว จึงมีความต้องการอาหารที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าเพื่ออุ่นร้อนหรือทำให้มันสุก
ในซูเปอร์มาร์เก็ต มีลูกค้าต่อแถวยาวเพื่อซื้อสินค้าพื้นฐานด้วยความตื่นตระหนก อันหวนให้นึกถึงบรรยากาศช่วงการระบาดของโควิด-19
"เราซื้ออาหารจำนวนมากที่ไม่เน่าเสีย เช่น ทูน่ากระป๋อง ก็แค่เผื่อไว้ก่อน" เจมี กล่าว
"ไฟฟ้าดับกินเวลาไปเพียงวันเดียว แต่ตอนนี้เรามีอาหารอยู่เหลือเฟือ ซึ่งมันจะไม่เน่าเสียและเก็บไว้ได้นาน"
เลสลีย์ เอลเดอร์ จากเมืองฟอร์ตูนา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน บอกว่า "การพยายามหาอาหารที่ไม่ต้องอุ่นร้อนนั้นยากกว่าที่คิด"
"ดังนั้น เราจึงลงเอยด้วยการทานแฮมและชีสในมื้อเย็น" โดยเขาเสริมว่าการมีเตาแก๊สขนาดเล็กไว้อุ่นอาหารในกระทะ ก็มีประโยชน์เช่นกัน
เทียนและไฟฉาย
ผู้คนต้องหันมาใช้เทียนเพื่อให้แสงสว่างภายในบ้านของตน
ริชาร์ด ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองอัลกาลา เด เอนาเรส ประเทศสเปน เล่าว่า ไม่มีไฟถนนแม้แต่ดวงเดียวเมื่อยามค่ำคืนมาถึง
"ผู้คนต้องใช้ไฟฉายในการเดินทาง มันดูเหนือจริงมากที่มองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นความมืดสนิท โดยเฉพาะบ้านของผมที่อยู่ติดกับทางหลวง" เขากล่าว
"เวลาว่างผมชอบทำเทียน และโชคดีที่ยังมีเหลืออยู่บ้าง เลยพอมองเห็นอะไรได้ในความมืด"
ด้าน ซารา แบ็กซ์เตอร์ จากบาร์เซโลนา เล่าว่า เธอถึงกับต้องใช้เทียนสำหรับการอุ่นอาหาร
"เราสามารถอุ่นถั่ว ข้าว และต้มผงมันฝรั่งสำเร็จรูปได้" เธอกล่าว
"มันปลอดภัยกว่าเตาแก๊สสำหรับการตั้งแคมป์ เมื่อต้องใช้งานในอพาร์ตเมนต์" เธอกล่าว แม้ว่าเปลวไฟจากเทียนอาจทำให้เกิดอันตรายจากเหตุไฟไหม้ได้
แบตเตอรีแบบพกพา
ในกรุงมาดริด ผู้คนต่างต่อแถวซื้อแบตเตอรีแบบพกพาหน้าร้านขายอุปกรณ์ไอที
โชคดีที่ ซาราห์ มีเครื่องชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งช่วยให้โทรศัพท์ของเธอใช้งานได้ แม้ไฟดับนานถึง 10 ชั่วโมง และเธอยังช่วยเพื่อนบ้านผู้สูงอายุด้วยวิธีการเดียวกัน
เลสลีย์ บอกว่า แบตเตอรีเครื่องอ่านหนังสือคินเดิลของเธอหมด "ฉันไม่มีทีวีหรือเกมต่อคำ (Scrabble) ในโทรศัพท์ ดังนั้นการมีหนังสือสัก 2-3 เล่มก็คงจะดี" เธอกล่าว
แต่สำหรับคนอื่นๆ การเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ กลับเป็นเรื่องที่พวกเขารู้สึกโล่งใจ
"เราทุกคนพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป มันเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีว่าเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพามันตลอดเวลา" เอ็ด กล่าว
"คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับทุกคนตลอดเวลา" ฮานนา สไตเนอร์ วัย 23 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมบ้าน กล่าว "ฉันมีช่วงเวลาที่ดีกับเพื่อนร่วมห้องของฉัน"
ด้าน ซารา ฟรานซิสโก วัย 24 ปี จากเมืองเลเรีย ตอนกลางของประเทศโปรตุเกส ให้ความเห็นว่า "ฉันคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เรารู้จักนิสัยตัวเองมากขึ้น"