เว็บไซต์ CNN รายงานข่าว ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาพูดในทำนองคล้ายต้องการผนวกแคนาดา ปานามา และกรีนแลนด์ เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ
กลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจับตามองอย่างใกล้ชิด เมื่อว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะกำลังสนใจการขยายดินแดนของสหรัฐฯ ในลักษณะที่คล้ายกับข้อตกลงที่เคยทำให้สหรัฐฯ ได้อะแลสกามาจากรัสเซีย
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์ยั่วยุเจ้าหน้าที่ของแคนาดา โดยเสนอว่า สหรัฐฯ อาจเข้ายึดครองแคนาดาและเปลี่ยนให้กลายเป็นรัฐที่ 51 เขายังขู่ว่าจะยึดคลองปานามา และเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. เขาก็ได้กลับมาแสดงความปรารถนาที่จะยึดกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนของเดนมาร์กที่เขาหมายมั่นมานาน
เมื่อทรัมป์ประกาศขู่ว่าจะยึดคลองปานามาคืนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาเสนอให้ลดค่าธรรมเนียมเรืออเมริกันที่ใช้เส้นทางนี้ในการเดินทางระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากในแง่ของการขยายฐานที่มั่นของสหรัฐฯ ในต่างประเทศ รวมถึงสะท้อนถึงหลักคำสอนเรื่องชะตากรรมที่ถูกกำหนดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นความเชื่อในสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ของสหรัฐฯ ในการขยายดินแดนไปทั่วทวีป
เมื่อเย็นวันที่ 22 ธ.ค. ทรัมป์กล่าวว่าการเป็นเจ้าของกรีนแลนด์เป็น “สิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง” เพื่อ “วัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงแห่งชาติและเสรีภาพทั่วโลก”
สำหรับทรัมป์ ความแตกต่างระหว่างข้อเสนอนโยบายที่จริงจังและการใช้คำพูดเพื่อดึงดูดความสนใจของสื่อหรือกระตุ้นฐานเสียงของเขานั้นมักไม่ชัดเจน ในบางครั้ง การยั่วยุของเขาดูเหมือนจะเป็นการเปิดฉากในการพยายามทำข้อตกลง
ทีมงานของทรัมป์ปฏิเสธที่จะชี้แจงว่า ท่าทีล่าสุดเหล่านี้สะท้อนถึงความทะเยอทะยานที่แท้จริงของเขาหรือแรงจูงใจอื่น ๆ
หลายคนที่ใกล้ชิดไม่สามารถระบุที่มาของความสนใจอย่างกะทันหันของเขาในความเห็นเรื่องคลองปานามา ซึ่งเป็นหัวข้อที่เขาไม่ได้พูดถึงในช่วงหาเสียง
อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์มักจะยกประเด็นที่ผู้คนต่าง ๆ เสนอให้เขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเก่าหรือคนรู้จักใหม่ ๆ หากประเด็นนั้นทำให้เขารู้สึกกระตือรือร้น
ที่ปรึกษาอีกคนกล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อบริษัทสหรัฐฯ ในปานามาน่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของทรัมป์ เพราะ “การค้าเป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก” การกดดันปานามาให้ลดค่าธรรมเนียมเรือที่ใช้คลองดังกล่าวอาจช่วยชดเชยต้นทุนการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากภาษีที่ทรัมป์ตั้งใจจะเรียกเก็บจากสินค้าต่างประเทศได้
ด้าน โฮเซ ราอุล มูลิโน ประธานาธิบดีปานามา โพสต์แถลงการณ์ยาวเป็นภาษาสเปนและภาษาอังกฤษบนโซเชียลมีเดียว่า “ผมต้องการแสดงอย่างชัดเจนว่า ทุกตารางเมตรของคลองปานามาและพื้นที่โดยรอบเป็นของปานามา และจะยังคงเป็นต่อไป”
ปานามาซึ่งสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เปิดให้ใช้งานโดยสหรัฐฯ จนถึงปี 1999 จากนั้นจึงถูกส่งมอบให้กับปานามาทั้งหมดภายใต้สนธิสัญญาที่ลงนามโดยประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ซึ่งให้การรับรองว่าสหรัฐฯ จะมีสิทธิใช้คลองนี้ตลอดไป
ส่วนข้อเสนอของทรัมป์ในการขอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งเขาเคยพยายามทำมาแล้วตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ก็ถูกปฏิเสธเช่นเดียวกัน
มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ กล่าวเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ว่า “กรีนแลนด์เป็นของเรา ... เราไม่ใช่ของขายและจะไม่มีวันขาย”
ขณะที่สำนักงานนายกรัฐมนตรีเดนมาร์กกล่าวว่า “รัฐบาลกำลังรอคอยที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่ของทรัมป์ ในสถานการณ์ทางการเมืองด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนอย่างที่เราประสบอยู่ในขณะนี้ ความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมีความสำคัญยิ่ง”
แถลงการณ์เสริมว่า “สำหรับแถลงการณ์เกี่ยวกับกรีนแลนด์ สำนักนายกรัฐมนตรีไม่มีความคิดเห็นใด ๆ นอกจากการอ้างอิงถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์กล่าวไว้ว่า กรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขาย แต่เปิดกว้างสำหรับความร่วมมือ”
ส่วนข้อเสนอของทรัมป์ในการผนวกแคนาดานั้นดูไม่จริงจังมากนัก และน่าจะเป็นการเหน็บแนมนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด หลังจากที่ทั้งสองไปรับประทานอาหารค่ำที่มาร์อาลาโกเมื่อไม่นานนี้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีคนใหม่ยังคงพูดทีเล่นทีจริงถึงแนวคิดนี้บนโซเชียลมีเดีย
“ผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่ดี” เขาเขียนในโพสต์ล่าสุด