ทุกๆ 3 วินาที มี 1 คนป่วยโรคสมองเสื่อม! หมอบอก 6 วิธีป้องกัน ลดความเสี่ยงเกิดโรค อย่ารอให้เป็นแล้วรักษา
เมื่อต้นปีนี้ นักแสดงชื่อดังชาวอเมริกัน "จีน แฮกแมน" และภรรยาถูกพบว่าเสียชีวิตภายในบ้าน จากการสอบสวนพบว่าภรรยาเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮันตา ส่วน จีน แฮกแมนเสียชีวิตหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน โดยก่อนเสียชีวิตเขาป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมขั้นรุนแรง อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภรรยาได้จากโลกนี้ไปแล้ว
นายแพทย์ เคอ เต๋อซิน (柯德鑫) แพทย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเป่ยกังมาจู่ สังกัดมหาวิทยาลัยการแพทย์จีน มณฑลหยุนหลิน เปิดเผยว่า ตามรายงานของสมาคมโรคสมองเสื่อมโลกปี 2019 ระบุว่า ทุกๆ 3 วินาที จะมีคนหนึ่งคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม โดยอัตราการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เช่น ในช่วงอายุ 65–69 ปี มีอัตราผู้ป่วยประมาณ 2.5% ขณะที่ในช่วงอายุ 85–89 ปี อัตรานี้จะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 20%
นายแพทย์เคอกล่าวว่า โรคสมองเสื่อมไม่ใช่กระบวนการชราภาพตามปกติ แต่เป็น “กลุ่มอาการ” ที่มีความเสื่อมถอยหลายด้าน ไม่เพียงแค่ความจำเสื่อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถด้านภาษา การรับรู้พื้นที่ การคำนวณ การตัดสินใจ การคิดเชิงนามธรรม และสมาธิ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการทางจิต เช่น บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมรบกวน หลงผิด หรือเห็นภาพหลอน ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการดำเนินชีวิตประจำวัน
โรคสมองเสื่อมชนิดที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับแรกคือ โรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือด และโรคพาร์กินสันที่มีภาวะสมองเสื่อม โรคนี้มีลักษณะการเสื่อมถอยแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากระยะเบา พัฒนาเป็นระยะกลางและรุนแรง จนถึงขั้นสุดท้าย
จะป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร?
นายแพทย์เคอแนะนำว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ชี้ว่า การมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมได้
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ใช้สมองให้มากขึ้น ฝึกให้สมองได้คิดบ่อยๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือบ่อยๆ คิดเลข เล่นเกมตอบปัญหา ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ เป็นต้น
- รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean diet) เน้นอาหารที่ดีต่อหัวใจและสมอง ช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง ลักษณะเด่นของอาหารเมดิเตอร์เรเนียน คือ กินผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วและเมล็ดพืช ใช้น้ำมันมะกอกเป็นหลักแทนน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ กินปลาและอาหารทะเล ลดเนื้อแดง กินผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณพอเหมาะ
- เพิ่มกิจกรรมทางสังคม เช่น ไปพบปะผู้คน ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรม เป็นต้น
- ควบคุมโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
- งดสูบบุหรี่
นายแพทย์เคอทิ้งท้ายว่า ผลกระทบของโรคสมองเสื่อมนั้นรุนแรง และเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงมาก (Super-aged society) ประเด็นนี้จะยิ่งทวีความสำคัญ ประชาชนควรเริ่มดูแลสุขภาพตั้งแต่ตอนนี้ผ่านการออกกำลังกาย อาหาร การเข้าสังคม และการควบคุมโรคเรื้อรัง เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม ดีกว่ารอให้เกิดโรคแล้วค่อยเริ่มรักษา