กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โพสต์ 3 วิธีเอาตัวรอด "เมื่ออยู่บ้าน" ขณะเกิดแผ่นดินไหว ย้ำเตือน "ข้อห้าม" ที่ต้องจำให้ขึ้นใจ!
วันนี้ (28 มี.ค.68) จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แนะนำวิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น โดยให้ประชาชนยึดหลัก “หมอบ – ป้อง – เกาะ” โดยการหมอบลงใต้โต๊ะหรือจุดที่มีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรงให้พ้นจากแนวที่สิ่งของอาจหล่นใส่ และป้องกันของตกกระแทกด้วยการหมอบราบกับพื้นหรือก้มต่ำโดยแขนหรือมือกำบังศีรษะ รวมถึงเกาะโต๊ะหรือที่กำบังให้แน่น และเร่งอพยพออกจากอาคารสูงทันที
และเมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวสิ้นสุด ขอให้ตรวจเช็กความปลอดภัยของคนรอบข้าง และอย่าเพิ่งรีบกลับเข้าไปในอาคารทันที ให้ตรวจสอบโครงสร้างอาคารและสภาพความมั่นคงปลอดภัยของสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ หรือรอฟังคำสั่งจากทางราชการ เมื่อมั่นใจว่าปลอดภัยแล้วจึงค่อยเข้าไปในอาคารและตรวจสอบความเสียหายต่อไป
โดยในกรณีแผ่นดินไหวในครั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ประสานให้จังหวัดที่มีรายงานรับรู้แรงสั่นสะเทือน ติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อลดความตื่นตระหนก ประชาสัมพันธ์แนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยและการให้ความช่วยเหลือของทางราชการ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป
ขณะเดียวกัน อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้แชร์ข้อมูลดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant พร้อมคลิปวิดีโอที่เคยให้ความรู้ในประเด็นเรื่อง 3 วิธีรับมือ เมื่ออยู่บ้านเวลาเกิดแผ่นดินไหว โดยย้ำแนวทางปฏิบัติตามหลัก “หมอบ ป้อง เกาะ”
- หลบใต้โต๊ะ
- หาผ้าหรืออะไรนุ่มๆ มาคลุม
- จับขาโต๊ะให้แน่นที่สุด
หรือกรณีไม่มีที่หลบภัย ให้หมอบราบกับพื้นหรือกำแพงโดยใช้มือป้องกันศีรษะและลำคอ และอยู่ให้ห่างจากสิ่งของที่จะหล่นลงมา รอให้แผ่นดินไหวสงบก่อนออกจากอาคาร อย่ารีบร้อนออกจากอาคาร เพราะอาจมีเศษกระจกหรือสิ่งของตกใส่ พร้อมย้ำว่าห้ามกลับเข้าไปในอาคารทันทีหลังแผ่นดินไหว เพราะอาคารอาจเสียหายและไม่ปลอดภัย อาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา
- รีบแชร์ต่อ! สว.หมอวี ย้ำเวลาเฝ้าระวัง "อาฟเตอร์ช็อก" สอนวิธีเอาตัวรอดในอาคาร-กลางแจ้ง
- ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สั่งตั้งวอร์รูมย่อย ตอบร้องเรียน "รอยร้าวอาคาร" หลังแผ่นดินไหว