ระวังตกเป็นเหยื่อ เทรนด์โซเชียลฯ “ดื่มน้ำมะนาว 6 ลูกตอนเช้าเพื่อดีท็อกซ์” อุทาหรณ์จากผู้ป่วยจริง
ในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นแหล่งข้อมูลสุขภาพแบบรวบรัด เทรนด์ “ดื่มน้ำมะนาวเข้มข้นตอนเช้าเพื่อดีท็อกซ์” กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่าน TikTok, Facebook และ YouTube โดยมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยล้างพิษ ตับ ไต ลดไขมันในเลือด ทำให้ผิวกระจ่างใส ไปจนถึงเผาผลาญไขมันหน้าท้องได้ แต่เบื้องหลังคำอ้างสุดล่อตาล่อใจนี้ กลับมีผู้ตกเป็นเหยื่อจนต้องเข้าโรงพยาบาลจริง กลายเป็นว่าจากความเชื่อในโลกออนไลน์ สู่เตียงฉุกเฉินโรงพยาบาล
กรณีล่าสุดที่ได้รับความสนใจอย่างมากบนโลกออนไลน์ คือเรื่องราวของผู้หญิงชาวเวียดนามที่ออกมาเล่าประสบการณ์ ว่าเธอเริ่มต้นดื่มน้ำมะนาวเพื่อ "ล้างสารพิษ" หลังจากได้รับคำแนะนำจากเพื่อนและโพสต์ต่างๆ บนโซเชียล โดยในช่วงแรกเธอดื่มวันละ 1 ลูก แต่ภายในเวลา 1 เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 6 ลูกทุกเช้า สุดท้ายต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาล เนื่องจากภาวะลำไส้และกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน
กรณีของเธอไม่ใช่เพียงรายเดียว โรงพยาบาลหลายแห่งระบุว่า เริ่มมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากอาการปวดท้องอย่างรุนแรง แสบร้อนในกระเพาะ และภาวะกรดไหลย้อน ที่มีสาเหตุมาจากการบริโภคน้ำมะนาวเข้มข้นผิดวิธี
มะนาวดีจริงไหม หรือเป็นแค่ “ยาเทวดา” ปลอมๆ?
มะนาวมีประโยชน์จริง เช่น อุดมด้วยวิตามิน C และกรดซิตริก ซึ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและส่งเสริมการย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดการอักเสบในร่างกาย แต่สิ่งที่ควรตระหนักคือ ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดยืนยันว่ามะนาวสามารถ “ล้างพิษตับ-ไต” หรือ “รักษาโรคร้าย” ได้จริง
แพทย์จากศูนย์ออกซิเจนความดันสูงเวียดนาม-รัสเซีย กล่าวว่า การดื่มน้ำมะนาวเพรียวๆ โดยเฉพาะตอนท้องว่าง ไม่เพียงไม่ได้ช่วยดีท็อกซ์ แต่ยังเสี่ยงต่อการทำลายเยื่อบุภายในทางเดินอาหารอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากดื่มในปริมาณมาก
ในขณะเดียวกัน แพทย์จากสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพเสริม กล่าวว่า เทรนด์ที่รุนแรงกว่านั้น เช่น “หยอดน้ำมะนาวเข้าตา” เพื่อรักษาไซนัสอักเสบหรือภูมิแพ้ เป็นพฤติกรรมที่อันตรายอย่างยิ่ง อาจทำให้เกิดการระคายเคือง กระจกตาอักเสบ หรืออาจสูญเสียการมองเห็นได้ถ้าไม่รีบรักษา
แล้วจากคำแนะนำจากแพทย์ ใช้มะนาวอย่างไรให้ปลอดภัย?
-
ดื่มน้ำมะนาว เจือจาง (ไม่ควรใช้แบบเข้มข้น)
-
ดื่ม หลังอาหาร ไม่ใช่ตอนท้องว่าง
-
จำกัดปริมาณที่เหมาะสม วันละ ไม่เกิน 1-2 ลูก
-
หลีกเลี่ยงการนำมะนาวหยอดตา จมูก หรือใช้กับแผลเปิด
-
หากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้วิธีทางธรรมชาติใด ๆ
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า มะนาวไม่ใช่คำตอบของทุกปัญหาสุขภาพ และควรใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีวิจารณญาณ เพราะเทรนด์สุขภาพจำนวนมากในยุคปัจจุบันกำลังถูกผลักดันโดยผู้ที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ และมักผสมปนเประหว่างข้อเท็จจริงกับความเชื่อแบบผิดๆ เช่น การใช้คำว่า “ธรรมชาติ” มาสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสูตรล้างพิษหรือสูตรลดน้ำหนักแบบเร่งรัด
สิ่งที่ควรเข้าใจคือ แม้มะนาวจะมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่ “ยาเทวดา” และการใช้ผิดวิธีอาจก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าประโยชน์ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร หรือระบบทางเดินอาหาร ก่อนทำตามคำแนะนำสุขภาพบนโซเชียล ควรตรวจสอบแหล่งที่มา และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เสมอ
- แพทย์อเมริกัน อวยเครื่องดื่ม "ล้างตับไต" ใช้แค่ผลไม้ 1 ชนิด ที่ไทยมีตลอดปี!!!
- เตือนแล้วนะ 3 อาการแปลกๆ เมื่อ "ดื่มน้ำ" อาจไม่ใช่กระหาย-ท้องอืด แต่เป็นสัญญาณมะเร็งตับ!