ผอ.โรงพยาบาล เมาแล้วขับชนช่างภาพ บาดเจ็บ 2 ราย ซดนมเปรี้ยวก่อนเป่าแอลกอฮอล์ ดูผลชัดๆ ช่วยได้ไหม?
จากกรณี รถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูเนอร์ สีขาว ซึ่งมีสติกเกอร์ "กระทรวงสาธารณสุข" ข้างรถ พุ่งขึ้นฟุตบาทพังร้านอาหาร และชนช่างภาพ 2 รายบาดเจ็บสาหัส ขณะกำลังจะเข้าไปสั่งข้าวช่วงดึก
เหตุเกิดที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองชัยภูมิ พร้อมทีมแพทย์และกู้ภัยเร่งเข้าตรวจสอบ พบผู้บาดเจ็บ 2 รายคือ ช่างภาพจากสถานีโทรทัศน์อัมรินทร์ทีวี อายุ 33 ปี และช่างภาพจากไทยรัฐทีวี อายุ 35 ปี ทั้งคู่ถูกรถพุ่งชนจนล้มฟาดพื้นอย่างแรง ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
ผู้ขับขี่รถคันดังกล่าวคือผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งมีพยานระบุว่า เพิ่งเดินทางออกมาจากร้านอาหารกึ่งบาร์ใกล้จุดเกิดเหตุ ก่อนจะขับรถมาด้วยความเร็วและพุ่งขึ้นฟุตบาทโดยไม่มีการเบรก
เจ้าหน้าที่ได้เก็บหลักฐานและภาพจากกล้องวงจรปิด พร้อมนำตัวผู้ขับขี่ไปสอบสวนเพิ่มเติม และเตรียมตรวจวัดแอลกอฮอล์ในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ระหว่างขั้นตอนตรวจวัด ผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมถ่วงเวลา โดยขอดื่มน้ำ เข้าไปในห้องน้ำ และดื่มนมเปรี้ยวซ้ำหลายครั้ง
สุดท้ายเมื่อเป่าด่วยเครื่องวัด พบระดับแอลกอฮอล์สูงถึง 119 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อเป่าซ้ำอีกครั้งได้ 107 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างรอบคอบและเป็นธรรม
“ดื่มนมเปรี้ยว” ก่อน “เป่าแอลกอฮอล์” ช่วยได้จริงไหม?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2023 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Jessada Denduangboripant” ว่า
หลายคนเชื่อว่าการดื่มนมเปรี้ยว เคี้ยวหมากฝรั่ง ดื่มกาแฟ แปรงฟัน หรือดื่มน้ำ จะช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเมื่อต้องเป่าตรวจ แต่ความจริงมีดังนี้:
-
ดื่มน้ำมาก ๆ หรือ ดื่มกาแฟ อาจช่วยระบายแอลกอฮอล์บางส่วนผ่านปัสสาวะ แต่ต้องใช้เวลา
-
เคี้ยวหมากฝรั่ง / แปรงฟัน / บ้วนปาก / อมลูกอม ทำได้แค่กลบกลิ่น และลดแอลกอฮอล์ในช่องปากเท่านั้น ไม่ช่วยลดในเลือด
-
ดื่มนมเปรี้ยว แทบไม่ช่วยลดแอลกอฮอล์ในเลือดจริง แค่ทำให้ค่าที่เป่าตรวจลดลงชั่วคราว เพราะล้างแอลกอฮอล์ในช่องปากออก
-
ยา-สมุนไพรลดแอลกอฮอล์ ที่ขายตามร้านเหล้า ไม่มีผลจริงตามที่อ้าง
ข้อเท็จจริงคือ วิธีเดียวที่แอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงคือ “เวลา” เพราะร่างกายต้องใช้เวลาในการกำจัดเอง ดังนั้นถ้า “ยื้อเวลาเป่า” ได้ ก็อาจทำให้ระดับแอลกอฮอล์ลดลง แต่ไม่ควรใช้เป็นช่องโหว่ เพราะผิดจรรยาบรรณและเสี่ยงต่อความปลอดภัย
สรุป ทริคส่วนใหญ่ไม่ช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจริง แค่หลอกเครื่องตรวจในปากได้ชั่วคราว ควรเร่งตรวจทันทีเมื่อเกิดเหตุ อย่าปล่อยให้ผู้ต้องสงสัยมีโอกาสยื้อเวลา
โทษข้อหาเมาแล้วขับ 2568
มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
เมาแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเมาแล้วขับ
- ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ กรณีผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือมีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (แบบ 2 ปี) ถือเป็นผู้เมาสุรา
ไม่เป่า = เมาแล้วขับ
การปฏิเสธเป่าวัดแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 - 20,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน และศาลสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และสามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน
โทษเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ-เสียชีวิต
เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ
จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ
เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส
จำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี
เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที