ผู้ชาย vs ผู้หญิง เพศไหนฉลาดกว่า? จิตวิทยาให้คำตอบความ "สุดโต่ง" ที่หลายคนคาดไม่ถึง!

1 week ago 7
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

รู้หรือไม่... สมองของผู้ชายและผู้หญิง มีโครงสร้างแตกต่างกัน ทำให้มีแนวโน้มถนัดในด้านต่างกัน แล้วทำไมผู้ชายจึงมักเป็น "อัจฉริยะ" หรือ "ล้มเหลว" มากกว่าผู้หญิง?

คำถามว่า "ใครฉลาดกว่าระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง" กลายเป็นประเด็นถกเถียงมานานในห้องเรียน ที่ทำงาน และบนโลกออนไลน์ แต่ผลการศึกษาทางจิตวิทยากลับให้คำตอบที่เหนือความคาดหมายคือ ไม่มีใครฉลาดกว่าใครอย่างชัดเจน เพียงแค่ "ฉลาดกันคนละด้าน"

ความฉลาดคืออะไร?  ก่อนจะฟันธงว่าใครฉลาดกว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า “ความฉลาด” ในเชิงจิตวิทยานั้นครอบคลุมหลายด้าน ไม่ได้วัดแค่ผลสอบหรือความสามารถทางคณิตศาสตร์เท่านั้น โดยทั่วไปความฉลาดแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท เช่น

  • ความสามารถทางภาษา: การสื่อสาร พูด เขียน และเข้าใจคำศัพท์

  • ความสามารถทางคณิตศาสตร์และตรรกะ: การคิดอย่างเป็นระบบ การคำนวณ และการวิเคราะห์ปัญหา

  • ความสามารถทางมิติสัมพันธ์: การรับรู้ทิศทาง การตีความแผนที่ การจินตนาการวัตถุหมุน

  • ความเข้าใจผู้อื่น : ความเห็นอกเห็นใจ การสื่อสารทางอารมณ์

  • การควบคุมตนเอง : ความสามารถในการจดจ่อ ความจำ และควบคุมอารมณ์หรือแรงกระตุ้น

สมองของผู้ชายและผู้หญิงมีโครงสร้างแตกต่างกัน ทำให้มีแนวโน้มถนัดในด้านต่างกัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่า "ต่างกันแต่ไม่ด้อยกว่ากัน"  และเนื่องจากมีจุดเด่นคนละแบบ เมื่อทำงานร่วมกัน จะช่วยเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าแข่งขันกัน

โดยงานวิจัยด้านประสาทวิทยาเผยว่า สมองของผู้ชายโดยเฉลี่ยใหญ่กว่าผู้หญิงประมาณ 10% โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคิดเชิงมิติและการเคลื่อนไหว เช่น กลีบข้าง (parietal lobe) และสมองน้อย (cerebellum)

ในทางตรงกันข้าม สมองของผู้หญิงมีการเชื่อมโยงระหว่างสมองซีกซ้ายและขวามากกว่าถึง 20% ทำให้ผู้หญิงมักเก่งด้านการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เข้าใจภาษา และแสดงอารมณ์ได้ดี

แล้วทำไมผู้ชายจึงมักเป็น "อัจฉริยะ" หรือ "ล้มเหลว" มากกว่าผู้หญิง? นักจิตวิทยาพบว่า การกระจายของไอคิว (IQ) ในเพศชายมีแนวโน้มจะ "สุดโต่ง" กว่าเพศหญิง กล่าวคือ ผู้ชายบางคนมีไอคิวสูงมากในระดับอัจฉริยะ ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้ชายอีกกลุ่มหนึ่งที่มีไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ตรงกันข้าม ผู้หญิงมีการกระจายของไอคิวที่ "สมดุล" มากกว่า

นั่นอาจอธิบายได้ว่าทำไม ผู้ชายมักได้รางวัลระดับโลกอย่างโนเบลมากกว่า แต่ผู้หญิงกลับมีแนวโน้มเรียนจบมหาวิทยาลัยมากกว่า, มีเกรดเฉลี่ยดีกว่า และสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากกว่าประมาณ 10-15%

โดยความแตกต่างนี้เริ่มตั้งแต่ในครรภ์ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ความแตกต่างของสมองชาย-หญิงเริ่มตั้งแต่เดือนที่ 4–7 ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนเพศชาย (เช่น เทสโทสเทอโรน) จะไปกระตุ้นให้สมองของทารกชายพัฒนาในทิศทางเฉพาะ ถ้าไม่มีฮอร์โมนดังกล่าว สมองจะพัฒนาเป็นแบบหญิงโดยอัตโนมัติ สิ่งนี้ชี้ว่า ความแตกต่างด้านโครงสร้างและหน้าที่ของสมองมีต้นกำเนิดจากชีววิทยา ไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูหรือวัฒนธรรม

สรุปแล้วใครเก่งเรื่องอะไร?

  • ผู้หญิงมักเก่งด้านการสื่อสาร อารมณ์ และการจัดการหลายอย่างพร้อมกัน

  • ผู้ชายมีแนวโน้มจะเก่งเรื่องตรรกะ มิติสัมพันธ์ และการคิดเป็นระบบ

แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทักษะต่างๆ สามารถ "ฝึกฝน" ได้ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเพศอีกต่อไป โลกยุคใหม่ต้องการความสามารถรอบด้าน เมื่อยุคดิจิทัลความฉลาดไม่ได้วัดจากไอคิวอย่างเดียวอีกต่อไป แต่รวมถึงความฉลาดทางอารมณ์ (EQ), ความสามารถในการปรับตัว, การทำงานร่วมกับผู้อื่น และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งหลายด้านเหล่านี้ ผู้หญิงมีความโดดเด่นอยู่แล้ว และกำลังกลายเป็นทักษะที่ตลาดงานให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ท้ายที่สุดจึงอาจสรุปได้ว่า ไม่มีใคร "ฉลาดกว่า" อย่างแท้จริง ดังนั้น แทนที่จะมองว่าใครฉลาดกว่าใคร เราควรยอมรับว่า "ผู้ชายและผู้หญิงมีความฉลาดคนละแบบ" และเมื่อนำความถนัดของแต่ละเพศมาผสมผสานกัน จะทำให้เกิดพลังแห่งความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แนวคิด "พหุปัญญา" (Multiple Intelligences) โดย Howard Gardner ก็ชี้ว่า มนุษย์เรามีความฉลาดหลากหลายด้าน และควรพัฒนาให้รอบด้าน ไม่จำกัดแค่แบบเดียว

 

Read Entire Article