การแต่งงานไม่ใช่คำตอบเดียว ผลการศึกษาชี้คนที่อยู่เป็นโสด หรือลงเอยด้วยการหย่าร้าง อาจลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม!
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (Florida State University) พบว่าการแต่งงาน หรือการเป็นโสด อาจมีผลในการลดหรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อม โดยผลการศึกษานี้ได้เสนอข้อสรุปที่แตกต่างจากการวิจัยในปี 2019 ที่พบว่าคนโสดมีความเสี่ยงสูงกว่าในการเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อเทียบกับผู้ที่แต่งงานแล้ว
การศึกษาระยะยาวนี้ได้ศึกษาผู้เข้าร่วมมากกว่า 24,000 คน เป็นระยะเวลา 18 ปี และผลลัพธ์ที่ได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่หย่าร้างหรือไม่เคยแต่งงาน มีความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมที่ “ต่ำกว่า” ผู้ที่แต่งงานแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีอาการทางสมองที่รุนแรงมากจนถึงขั้นเป็นโรคสมองเสื่อม
นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า ผู้ที่ไม่มีคู่สมรส หรือเป็นคนโสด มักจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่จะพัฒนาเป็นโรคอัลไซเมอร์ และผู้ที่หย่าร้าง รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยแต่งงาน ก็จะมีโอกาสน้อยในการพัฒนาจากการเสื่อมสมองขั้นต้นไปสู่โรคสมองเสื่อม
ในบทความที่เผยแพร่ใน The Conversation ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons ดร. อาวินาช จันดรา (Avinash Chandra) นักวิจัยปริญญาเอกในสาขาประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยควีนแมรี (Queen Mary University) กล่าวว่า "คนที่แต่งงานอาจได้รับการวินิจฉัยโรคเร็วขึ้นเพราะคู่สมรสสามารถสังเกตเห็นปัญหาความจำและกระตุ้นให้ไปพบแพทย์"
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้อาจมีข้อจำกัดเมื่อพิจารณาว่าผู้เข้าร่วมในการศึกษาทุกคนมีการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งหมายความว่าอาการของโรคสมองเสื่อมจะได้รับการตรวจพบได้ทันที และเขายังกล่าวว่า ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาอาจไม่สะท้อนถึงประชากรทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ของการศึกษา
โดย ดร.จันดรา ได้ทฤษฎีว่า ผลการศึกษานี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่และสถานะความสัมพันธ์ต่อสุขภาพสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแต่งงาน การหย่าร้าง หรือการเป็นโสด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลต่างกันไปในแต่ละบุคคล
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฟลอริดา พบว่า สถานะความสัมพันธ์ไม่สามารถบ่งชี้ได้โดยตรงว่าความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมีการสนับสนุนจากสังคมและความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่นอย่างไร
โดย ดร.จันดราให้ความเห็นว่า "สิ่งที่สำคัญไม่ใช่สถานะความสัมพันธ์ แต่คือความรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุน ความเชื่อมโยงและความสุขจากชีวิต"
ไม่ว่าอย่างไร ท้ายที่สุดผลการศึกษานี้ก็ชี้ให้เห็นว่า สถานะความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่ มีผลต่อสุขภาพสมองในหลายมิติ ซึ่งอาจช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้ดีขึ้น