มัลแวร์ ‘SpyLoan’ โผล่ในแอปฯ กู้เงินออนไลน์ แม้จะอยู่บน Play Store (ไทยก็โดนด้วย)

3 weeks ago 62
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

McAfee ผู้พัฒนาโปรแกรมแอนตี้ไวรัส ปิดเผย Blog บนเว็บไซต์ของตัวเองว่าเจอกับมัลแวร์ ‘SpyLoan’ บนแอปพลิเคชันที่อ้างว่าเป็นแอปพลิเคชันปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำบน Google Play Store แต่แท้จริงแล้วเป็น ‘SpyLoan’ ซึ่งแอบขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ และอาจนำไปใช้ข่มขู่หรือรีดไถเงินในภายหลังได้ แถมไทยเองก็เป็นเป้าหมายด้วย !

หลักการทำงานของแอปฯ เหล่านี้คือ แอปอาจรวบรวมข้อมูลธนาคารส่วนบุคคล รหัสประจำตัว และข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ของผู้ใช้ โดยแอปฯ บางเจ้าหลังจากได้ข้อมูลไปแล้ว ก็จะไม่ให้เงินกู้เลย ขณะที่บางแอปฯ ก็เลือกที่จะให้เงินกู้น้อยกว่าที่ขอ และคิดค่าธรรมเนียมสูงหรือคิดดอกเบี้ยเกินที่ระบุไว้

แอปฯ เหล่านี้มักจะออกแบบให้มีความเหมือนกับแอปฯ สถาบันการเงินจริง ๆ ไปพร้อม ๆ กับหน้าต่าง Pop-Up คอยหลอกล่อให้ลงทะเบียน เช่นโปรโมชันจำกัดเวลา หรือหน้าต่างเคาท์ดาวน์เพื่อให้คนที่โหลดแอปฯ รู้สึกถึงความเร่งด่วน และไม่ทันระวังตัว ในขณะที่ตัวแอปฯ ยังพยายามข้อเข้าถึงสิทธิ์ในสมาร์ทโฟนที่มากกว่าแอปฯ​กู้เงินโดยทั่วไป เช่น ข้อความ SMS, ประวัติการโทร, รายชื่อผู้ติดต่อ และกล้องถ่ายรูปในโทรศัพท์ เป็นต้น

เหล่าสแกมเมอร์ที่ไม่หวังดี ก็จะอาศัยโอกาสในการเข้าถึงข้อความ หรือเบอร์โทรศัพท์ของเรา ในการส่งภาพที่ถูกปรับแต่ง หรือภาพอนาจารไปยังรายชื่อผู้ติดต่อของเหยื่อ เพื่อแบล็คเมล หรือข่มขู่ ในรีวิวของบางแอปฯ ได้มีข้อมูลว่าผู้เสียหายบางรายถึงกับได้รับคำขู่เอาชีวิต และถ้อยคำหยาบคายจากกลุ่มมิจฉาชีพเลย

แอปพลิเคชันเหล่านี้โผล่บน Google Play Store ทั้งในประเทศเม็กซิโก โคลัมเบีย อินโดนีเซีย ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงประเทศไทยด้วย แม้ Google จะลบแอปบางส่วนออกแล้ว แต่ก็ยังมีบางแอปที่มิจฉาชีพเลือกที่จะปรับเล็กน้อยเพื่อให้ยังอยู่บน Play Store อยู่ได้ โดย McAfee บอกว่าจะสามารถชี้ได้ว่าแอปฯ ไหนจะมีการขโมยข้อมูลของเราบ้าง และจะติดแท็กว่าเป็น ‘potentially unwanted programs (PUPs)’

แผนที่ความรุนแรงของแอปฯ ที่มี SpyLoan (รวมถึงไทยด้วย)

โดยปกติแล้ว แม้แอปฯ นั้น ๆ จะอยู่บน Google Play Store ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป ดังนั้นก่อนดาวน์โหลดแอปฯ ใด ๆ ก็ตาม ควรตรวจสอบผู้พัฒนาแอปฯ ก่อน หากเป็นบัญชี Gmail หรืออีเมลฟรีอื่น ๆ ก็ควรระวังมากกว่าบัญชีที่มีโดเมนที่น่าเชื่อถือ, ใช้ Google Play Protect เพื่อช่วยตรวจสอบและป้องกันแอปฯ ที่เป็นอันตราย และตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแอปฯ เช่น รีวิวจากผู้ใช้ และข้อมูลที่ปรากฏในหน้าแอปฯ ก่อนว่าแอปฯนั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน จะเป็นการปลอดภัยที่สุด

ที่มา : PCMag, McAfee

Read Entire Article