ย้อนประวัติศาสตร์ เจ้าฟ้าหญิงผู้งดงามที่สุด รัชกาลที่ 5 ถึงกับเอ่ยพระโอษฐ์ “ลูกพ่องามเหมือนเทวดา” ใครเห็นก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่างาม
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและธิดาหลายพระองค์ เพื่อช่วยบริหารราชกิจ หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร หรือที่ชาววังเรียกกันว่า “ทูลกระหม่อมหญิง” ซึ่งทรงเป็นราชเลขานุการิณีในรัชกาลที่ 5 มีบทบาทเคียงข้างพระราชบิดาทั้งในการเสด็จประพาสต้น ออกแขกเมือง และร่วมแก้ไขวิกฤต ร.ศ. 112
พระองค์มีพระสิริโฉมงดงามจนเป็นที่เลื่องลือ แม้แต่รัชกาลที่ 5 ยังตรัสชมว่า “ลูกพ่องามเหมือนเทวดา”
พระประวัติ “ทูลกระหม่อมหญิง”
พระนามเดิมคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 19 ของรัชกาลที่ 5 ประสูติเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2420 โดยสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้าหญิงองค์แรกในรัชกาล และเป็นพระองค์เดียวในรัชสมัยที่ได้รับพระราชทาน “กรมหลวง” ซึ่งเป็นกรมสูงสุด โดยพระนามกรมหมายถึง “กรุงรัตนโกสินทร์” อันเป็นนามของเมืองหลวง
ทูลกระหม่อมหญิงได้ศึกษาตามโบราณราชประเพณีกุลสตรีชาววังโดยสมบูรณ์ ทั้งภาษาอังกฤษจาก “ครูมีทินและครูทิม” จนแตกฉาน โปรดของสวยงามและประดิษฐ์ของหลายอย่าง สิทธิพร ถึงกับเล่าว่า ทรงถักโครเชต์และแทตติ้งยอดเยี่ยมที่สุดในยุคนั้น จนได้รับรางวัลงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร โดยทรงแปลงวิธีปักดอกไม้ขวดซึ่งแต่ก่อนปักเสมอกันเป็นพุ่มมาแบบสูงข้างต่ำข้าง และปักใบไม้แซมหรือปล่อยให้ดอกห้อยลงมาบ้างกระจายกันไป มีบันทึกว่า “พวงมาลัยที่ผูกห้อยจากริบบิ้น” ที่นิยมกันในเวลาต่อมานั้นก็ทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง
ทูลกระหม่อมหญิงยังโปรดการฉายภาพ และทรงเข้าห้องล้างอัดเอง อีกทั้งยังชนะรางวัลในการประกวดภาพประจำปีด้วย วิชาการเรือนเหล่านี้ทรงถ่ายทอดให้พระภาติยะ (ลูกของพี่ชายหรือน้องชาย) ราชสกุลบริพัตรและกุลสตรีแห่งวังของสมเด็จพระอนุชาจนเป็นที่เลื่องลือ
กรมศิลปากรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร และ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
งามจนเป็นกังวล
สิทธิพร ณ นครพนม เคยเขียนไว้ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2538 ว่า พระฉวีของทูลกระหม่อมหญิงขาวผุดผ่อง ไร้ไฝฝ้าราคี ความงดงามบริสุทธิ์นี้ทำให้พระบรมชนกและพระชนนีเป็นกังวล เพราะในสมัยโบราณเชื่อกันว่า ผู้ที่งดงามมากมักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน จึงมีการเฝ้าระวังพระอาการประชวรอย่างใกล้ชิด
ครั้งหนึ่งเมื่อพระชนมายุขวบเศษ พระองค์ทรงดิ้นจนคิ้วถูกชามแก้วบาดเป็นแผล โลหิตไหล ทำให้หลายคนเชื่อว่าพ้นเคราะห์แล้ว
เมื่อพระชนมายุครบ 11 พรรษา ทูลกระหม่อมหญิงทรงเข้าพิธีโสกันต์อย่างสมพระเกียรติภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขบวนแห่จัดอย่างยิ่งใหญ่ 3 วัน 3 คืน ทรงแต่งกายงดงามเปลี่ยนสีเครื่องทรงทุกวัน พระบรมชนกตรัสว่า “ลูกพ่องามเหมือนเทวดา”
ราษฎรที่มาชมพระบารมีพากันชื่นชมความงาม และกล่าวว่า “ลูกท่านงามอย่างนี้ มิน่าท่านจึงแห่จนค่ำ”
หลังโสกันต์ตามราชประเพณี หญิงราชวงศ์ต้องงดออกงานฝ่ายหน้า แต่ทูลกระหม่อมหญิงกันแสง เพราะอยากรับใช้พระราชบิดา จึงกราบทูลขอให้ทรงถือเป็นเด็กต่อไป ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงอนุญาตจนถึงเมื่อพระชนมายุ 18 พรรษา ทูลกระหม่อมหญิงจึงได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด
เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) กับฝรั่งเศส สิทธิพร ยังเล่าว่า สมเด็จพระบรมโอรสธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หรือทูลกระหม่อมใหญ่ กับทูลกระหม่อมหญิง โปรดทรงงานแก้ไขวิกฤตการณ์ร่วมกัน ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระประชวรหนักถึงกับไม่ยอมเสวยพระกระยาหาร พระโอสถใดๆ
คำชมจากผู้ใกล้ชิด
ความงามของทูลกระหม่อมหญิงถูกกล่าวขานไม่เฉพาะในหมู่ราษฎร แต่ยังได้รับการยืนยันจากพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระบรมโอรสธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หรือทูลกระหม่อมใหญ่ ทรงแต่งบทสักวาชมว่า
ได้ยลพักตร์ลักขณาสุดาพี่ จะหาไหนไม่มีเสมอสอง
เสงี่ยมงามทรามสงวนนวลละออง ไฉนน้องไร้คู่อยู่เอกา
ถ้าอยู่ได้ก็จะอยู่เป็นคู่ชื่น สำราญรื่นร่วมจิตขนิษฐา
จะบนบวงสรวงเหล่าเทวา ขอให้สมปรารถนาคราวนี้เอยฯ
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ก็กล่าวในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ว่า “ท่านงามมาก แต่ค่อนข้างน่ากลัว” และ ม.จ.มารยาตรกัญญา ดิศกุล ก็เคยกล่าวว่า “ยังไม่เคยเห็นใครงามและน่ารักเหมือนพระองค์ท่านเลย”
พระนครคีรี กรมศิลปากร / Phra Nakhon Khiri, The Fine Arts Department
หลังรัชกาลที่ 5 สวรรคต ทูลกระหม่อมหญิงทรงประทับอยู่พระบรมมหาราชวังเป็นศรีแห่งรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 6 ทรงประทับอยู่พระราชวังพญาไท) จน พ.ศ. 2458 จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาไปประทับอยู่วังบางขุนพรหมกับทูลกระหม่อมชายพระอนุชา ตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 1 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1246 วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2468 พระชันษา 46 อย่างสงบ