อย่าเพิ่งชะล่าใจ! สว.หมอวี แนะวิธีเอาตัวรอด "แผ่นดินไหว" ย้ำต้องเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อก 12-24 ชั่วโมง
วันนี้ (28 มีนาคม 2568) จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด เมื่อเวลา 13.20 น. โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อยู่ที่บริเวณเมืองสะกาย ละติจูด 21.682 องศาเหนือ ลองจิจูด 96.121 องศาตะวันออก และลึก 10 กิโลเมตร ส่งผลให้มีการสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร
ในเวลาต่อมา นพ.วีรพันธ์ สุวรรณนามัย หรือ หมอวี ศัลยแพทย์ระบบประสาท และสมาชิกวุฒิสภา โพสต์คลิปผ่านทาง @dr.v_official เตือนให้แชร์ต่อกัน ย้ำอย่าเพิ่งนิ่งนอนใจจากเหตุแผ่นดินไหว เนื่องจากในช่วงเวลา 12-24 ชั่วโมง นับจากเกิดเหตุ ยังคงต้องเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) พร้อมทั้งแนะนำวิธีการเอาตัวรอด หากอยู่ในอาคารขณะเกิดแผ่นดินไหว ให้ปฏิบัติดังนี้ "หมอบ-คลาน-ยึด"
- หมอบลงทันทีเป็นอย่างแรก เพราะหากยืนจะทำให้เกิดการล้มและกระแทกได้
- จากนั้นให้คลานเข้าไปใต้โต๊ะที่แข็งแรง หรือข้างเฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคง ปกป้องไม่ให้ของตกใส่ร่างกายเรา
- และยึดโต๊ะหรือสิ่งกำบังไว้ให้แน่น จนกว่าแรงสั่นนั้นจะหยุด
รวมทั้งอยู่ให้ห่างจากกระจก, หน้าต่าง, ตู้หนังสือ, ชั้นวางของ หรือสิ่งที่อาจจะหล่นลงมาใส่ตัวเราได้ และเรื่องสำคัญที่ต้องย้ำเตือนอีกครั้งคือ "อย่าใช้ลิฟต์" ทั้งนี้ ถ้าอยู่ใกล้ทางออกและสามารถออกได้อย่างปลอดภัย ให้รีบออกไปยังพื้นที่กลางแจ้งให้เร็วที่สุด
ในกรณีที่อยู่กลางแจ้งขณะเกิดแผ่นดินไหว ให้อยู่ห่างจากอาคาร ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา สายไฟ ฯลฯ ส่วนในกรณีอยู่ที่ถนนขณะเกิดเหตุ ให้นั่งลงยองๆ ลงกับพื้น "อย่าวิ่ง" และในกรณีที่อยู่ในรถ ให้หยุดรถทันทีในที่ที่ปลอดภัย โดยไม่จอดใต้สะพานหรือสายไฟ จากนั้นรอจนกว่าแผ่นดินไหวจะหยุด แล้วจึงขับต่ออย่างระมัดระวัง
หลังแผ่นดินไหว ให้ตรวจสอบตนเองและผู้อื่นว่ามีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ รวมทั้งระวังอาฟเตอร์ช็อก อย่าใช้ไฟฟ้าหรือเปิดเปลวไฟทันที เพราะอาจจะมีแก๊สรั่วออกมาได้ ขณะเดียวกันให้ฟังข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ อย่าตื่นตูมจนเกิดเหตุ และอย่าหลงเชื่อเฟคนิวส์ สุดท้ายหากอยู่ในพื้นที่ๆ มีความเสี่ยงสึนามิ หรือแผ่นดินไหวรุนแรง ให้รีบอพยพขึ้นพื้นที่สูงทันที
- ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สั่งตั้งวอร์รูมย่อย ตอบร้องเรียน "รอยร้าวอาคาร" หลังแผ่นดินไหว
- หลังแผ่นดินไหว รถไฟฟ้า BTS ปิดให้บริการชั่วคราว รอวิศวกรตรวจเช็กความปลอดภัยก่อน