ล้างปลาหมึกแล้วมีฟอง เพราะอะไร? ผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน-ไทย ยืนยันตรงกัน ไม่ใช่สารอันตราย
ผู้ใช้โซเชียลในไต้หวันรายหนึ่ง โพสต์แชร์ประสบการณ์หลังซื้อปลาหมึกจากซูเปอร์มาเก็ตชื่อดัง เมื่อเตรียมล้างด้วยน้ำเปล่ากลับพบ "ฟองเต็มกะละมัง" จนสงสัยว่าอาหารมีปัญหาหรือเปล่า
โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นไวรัล และมีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเข้ามาชี้แจงว่า อาการแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติของอาหารทะเลอย่างปลาหมึกหรือกุ้ง โดยเกิดจาก "โปรตีนละลายน้ำ" ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ เมื่อละลายแล้วถูหรือกวนก็จะเกิดฟอง คล้ายสารลดแรงตึงผิวตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ บางครั้งฟองอาจเกิดจากสารที่ใช้ในกระบวนการแปรรูป เช่น สารช่วยคงความสด (ฟอสเฟต) หรือเกลือ ซึ่งล้วนมีคุณสมบัติทำให้เกิดฟองได้
อย่างไรก็ตาม หากฟองมีลักษณะเหนียวลื่น กลิ่นคาวแรง หรือมีกลิ่นสารเคมี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคทันที
กรมประมงไต้หวัน ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปลาหมึกบางชนิดมีเมือกธรรมชาติที่ช่วยป้องกันร่างกาย ซึ่งอาจละลายออกมาเมื่อโดนน้ำ ถือเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติ ไม่ใช่สารอันตราย
วิธีล้างปลาหมึกให้มั่นใจ เพียงล้างด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน ไม่จำเป็นต้องแช่หรือนวดแรง หากไม่มีกลิ่นผิดปกติสามารถนำไปปรุงอาหารได้อย่างปลอดภัย
ปัญหานี้ที่ไทยก็เคยเจอ
กรณีคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อหลายปีก่อน มีคนล้างปลาหมึกสดแล้วเกิดฟองจำนวนมากจนเข้าใจผิดว่าแช่ฟอร์มาลีน เรื่องนี้ทำให้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ความรู้ว่า
"ปลาหมึกแช่น้ำแล้วเป็นฟอง ไม่ใช่เพราะแช่ฟอร์มาลีนครับ"
อ.เจษฎาอธิบายว่า ฟองเกิดจากเมือกธรรมชาติของปลาหมึก ซึ่งประกอบด้วยโปรตีน เมื่อลงน้ำจึงเกิดแรงตึงผิวและฟองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะปลาหมึกที่สดมากๆ จะมีเมือกเยอะและเกิดฟองได้ง่าย ส่วนกรณีฟอร์มาลีน หากมีการลักลอบใช้จริง จะไม่ทำให้เกิดฟองแบบนี้ แต่อาจพบได้ในสินค้าทะเลที่ส่งขายในพื้นที่ห่างไกลจากทะเล เช่น ภาคอีสาน
อาจารย์ยังเสริมว่า จริงๆ พวกเครื่องในอย่าง สไบนาง กับ พวกปลาหมึกกรอบ มีการลักลอบแช่ฟอร์มาลีนมากกว่าปลาหมึกสดอีกครับ เพราะมันจะทำให้เนื้อแข็ง จับผิดได้