ผลการศึกษาเป็นเวลา 20 ปี ค้นพบเคล็ดลับอายุยืนอย่างมีคุณภาพ ชาวญี่ปุ่นที่สุขภาพดีส่วนมากทำ 1 ข้อนี้
ผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS Nexus พบว่า มีตัวชี้วัดสุขภาพง่ายๆ ตัวหนึ่งที่อาจช่วยทำนายโอกาส “มีอายุยืนยาว” หรือ “อายุยืนอย่างมีคุณภาพ” ได้
โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) ประเทศญี่ปุ่น ได้วิเคราะห์ข้อมูลจาก “โครงการวิจัยโอฮาซามะ” ซึ่งเก็บข้อมูลจากประชาชนในเมืองโอฮาซามะ จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น และค้นพบ “เคล็ดลับอายุยืน” อย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก คือ การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
ศึกษานาน 20 ปี ชี้ชัดน้ำตาลในเลือดหลังอาหารมีผลต่ออายุขัย
จากรายงานของ News Medical งานวิจัยนี้ติดตามกลุ่มอาสาสมัครเกือบ 1,000 คน โดยทำการทดสอบความสามารถในการทนกลูโคสทุกๆ 4 ปี นานถึง 20 ปี
ผู้เข้าร่วมจะได้รับการวัดระดับน้ำตาลในเลือดก่อนดื่มน้ำผสมกลูโคส และวัดอีกครั้งหลังจากดื่มไปแล้ว 120 นาที ซึ่งเป็นการจำลองสภาวะหลังมื้ออาหาร
ผลการศึกษาพบว่า
-
กลุ่มที่มีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารต่ำกว่า 170 mg/dL มีอัตราการมีชีวิตอยู่ต่อหลัง 20 ปีถึง เกือบ 80%
-
ขณะที่กลุ่มที่มีระดับน้ำตาลหลังอาหารเกิน 170 mg/dL มีอัตรารอดชีวิตเพียง ราว 50% เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มที่มีระดับน้ำตาลหลังอาหารต่ำยังมีสุขภาพโดยรวมที่ดีกว่า โดยพบว่ามีอัตราการเกิดโรคหัวใจจากภาวะหลอดเลือดแข็งตัว และการเกิดมะเร็งร้ายแรง ต่ำกว่า อย่างมีนัยสำคัญ
เคล็ดลับควบคุมระดับน้ำตาลหลังอาหาร
นักวิจัยแนะนำว่า การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร เป็นกุญแจสำคัญในการมีอายุยืนและมีสุขภาพดี โดยสามารถทำได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (GI) ต่ำถึงปานกลาง เช่น:
-
ธัญพืชไม่ขัดสี: ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต มันเทศ มันฝรั่งต้ม
-
ผักใบเขียวเข้ม
-
ผลไม้หวานน้อย: เบอร์รี่ แอปเปิล ส้มโอ ส้ม
-
โปรตีนคุณภาพดี: เนื้อไม่ติดมัน ไข่ เต้าหู้ ถั่วต่างๆ
-
ไขมันดี: น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา อะโวคาโด
อาหารเหล่านี้จะปล่อยน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ ลดภาระการทำงานของตับอ่อนในการผลิตอินซูลิน ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2
เทคนิคเพิ่มเติม
-
เริ่มมื้ออาหารด้วยอาหารที่มี ใยอาหารหรือโปรตีน ก่อนรับประทานแป้ง
-
หลีกเลี่ยงการทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมากแบบทันที
-
ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับให้เพียงพอ ก็ช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ได้เช่นกัน
การควบคุมระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง แต่ยังอาจเป็น “กุญแจแห่งอายุยืน” ที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้