วิจัยชวนอึ้งจากอังกฤษ นอนหลับแล้วฝันแบบนี้บ่อยๆ เร่งความแก่ เสี่ยงตายเร็วกว่าคนทั่วไป 3 เท่า
งานวิจัยล่าสุดจาก Imperial College London ร่วมกับ UK Dementia Research Institute เผยว่า ผู้ที่มีนิสัยฝันร้ายเป็นประจำ มีแนวโน้มเสียชีวิตเร็วกว่าคนทั่วไปเฉลี่ย 10 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการฝันร้ายทุกสัปดาห์เป็นระยะเวลานาน มีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยมากกว่าผู้ที่ไม่เคยฝันร้ายถึง 3 เท่า ผลการศึกษานี้ถูกนำเสนอเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2025 ที่การประชุมสมาคมประสาทวิทยายุโรป (EAN)
ดร. อบิเดมี โอไทคู (Abidemi Otaiku) นักวิจัยด้านประสาทวิทยา นำทีมศึกษาข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 185,441 คน ประกอบด้วยเด็กอายุ 8–10 ปี จำนวน 2,429 คน และผู้ใหญ่ช่วงอายุ 26–86 ปี อีกกว่า 183,000 คน โดยติดตามผลยาวนานถึง 19 ปี เด็กใช้ข้อมูลจากผู้ปกครอง ส่วนผู้ใหญ่รายงานพฤติกรรมฝันร้ายด้วยตนเอง
ผลการวิจัยพบว่า
-
ผู้ที่มีอาการฝันร้าย ≥ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนอายุ 70 ปีสูงถึง 59.3%
-
เทียบกับกลุ่มฝันร้าย ≤ 1 ครั้ง/สัปดาห์ ที่มีความเสี่ยง 50.5%
-
และกลุ่มที่ฝันร้าย ≤ 1 ครั้ง/เดือน มีความเสี่ยงเพียง 46.2%
นอกจากนี้ยังพบว่า แม้เด็กอายุเพียง 8–10 ปี หากฝันร้ายบ่อย ก็จะเกิด "ความเสื่อมของร่างกายก่อนวัย" ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 40% แม้จะฝันร้ายเพียงเดือนละครั้งก็ตาม
ดร.โอไทคูอธิบายว่า ฝันร้ายทำให้เกิด การตอบสนองต่อความเครียดรุนแรง ทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) สูงต่อเนื่อง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสื่อมของเซลล์ อีกทั้งยังรบกวนคุณภาพการนอน ทำให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ไม่เต็มที่
“สมองขณะฝันไม่สามารถแยกแยะความจริงกับความฝันได้อย่างชัดเจน จึงเกิดการตอบสนองรุนแรง เช่น สะดุ้งตื่น เหงื่อออก หายใจแรง ใจสั่น ราวกับเจอสถานการณ์อันตรายจริง”
โอไทคูกล่าวอีกว่า การฝันร้ายบ่อยเป็น "ตัวทำนาย" ความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยที่ชัดเจนยิ่งกว่าการสูบบุหรี่ โรคอ้วน อาหารที่ไม่ดี หรือการไม่ออกกำลังกาย
แนวทางป้องกันฝันร้าย
ดร.โอไทคูแนะนำแนวทางง่าย ๆ ที่ช่วยลดความถี่ของฝันร้าย เช่น
-
หลีกเลี่ยงสื่อหรือเนื้อหาหลอน ๆ ก่อนนอน
-
นอนให้เป็นเวลา สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
-
จัดการความเครียดและรักษาภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า
-
ใช้เทคนิค “การซ้อมภาพในจินตนาการ” (Imagery Rehearsal Therapy) ซึ่งคือการเขียนเนื้อหาฝันร้ายใหม่ให้เป็นแบบสงบ และฝึกซ้อมในใจซ้ำ ๆ
สำหรับผู้ที่มีปัญหาฝันร้ายรุนแรง ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอน และอาจพิจารณาใช้การบำบัดแบบ CBT-I (Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia) เพื่อแก้ไขพฤติกรรมและความคิดที่รบกวนการนอน
“ข่าวดีก็คือเราสามารถป้องกันและรักษาฝันร้ายได้” ดร. โอไทคู กล่าว
มาตรการง่ายๆ เช่น การรักษาสุขอนามัยการนอนให้ดี การจัดการความเครียด การรักษาอาการวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า และไม่ดูหนังสยองขวัญ ก็สามารถช่วยลดฝันร้ายได้อย่างมีประสิทธิผล
งานวิจัยเสริม : การงีบกลางวันบ่อยก็เสี่ยงตายเร็ว
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาพฤติกรรมการงีบหลับกลางวันในผู้ใหญ่วัยกลางคนกว่า 86,000 คน พบว่า ผู้ที่งีบกลางวันเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงบ่าย มีความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยมากกว่าผู้ที่ไม่งีบถึง 20%
ศาสตราจารย์เจมส์ โรว์ลีย์ จาก Rush University Medical Center ในชิคาโก ระบุว่า การงีบระหว่างวันอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ โดยแพทย์ควรสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับพฤติกรรมนอนหลับกลางวันเพิ่มเติมในการตรวจวินิจฉัย
สรุป ทั้งฝันร้ายและการนอนผิดเวลาอาจไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็น “สัญญาณเตือนสุขภาพ” ที่ไม่ควรมองข้าม หากคุณมีพฤติกรรมเหล่านี้บ่อยครั้ง ควรหันมาใส่ใจการนอนให้มากขึ้นเพื่อยืดอายุและดูแลสมองในระยะยาว