ศัลยแพทย์มาแนะนำเอง ให้กินอาหาร 4 ชนิดนี้ หากมีปัญหาการขับถ่าย โดยชนิดแรกอาจช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ดร.การัน รังการาจัน หรือที่รู้จักในชื่อ ดร.การัน ราชัน ศัลยแพทย์ชื่อดังประจำระบบสาธารณสุขในอังกฤษ (NHS) ได้ออกมาแนะนำให้เพิ่มอาหาร 4 ชนิดที่อุดมด้วยไฟเบอร์ลงในรายการซื้อของ หากคุณมีปัญหาการขับถ่าย
ไฟเบอร์มีความสำคัญต่อสุขภาพลำไส้ ช่วยบำรุงแบคทีเรียดีในลำไส้ ชะลอกระบวนการย่อยอาหาร และส่งเสริมการขับถ่ายให้ราบรื่นและสม่ำเสมอ
รังการาชัน เผยว่า เขารับประทานอาหารทั้ง 4 ชนิดนี้ โดย 2 ชนิด เป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารประจำวัน
อาหาร 4 ชนิด อุดมด้วยไฟเบอร์ ช่วยแก้ปัญหาด้านการขับถ่าย
Dmitry Demidov
1. กีวี
“กีวีอุดมไปด้วยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ซึ่งช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้นและเพิ่มความถี่ในการขับถ่าย โดยไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาระบายบางชนิด” รังการาชัน กล่าว
นักโภชนาการยกย่องกีวีในด้านไฟเบอร์สูง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และอุดมด้วยวิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหายที่อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็ง
งานวิจัยปี 2023 ยังชี้ว่า ผลไม้ตระกูลส้ม แอปเปิล แตงโม และกีวี มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก
2. กาแฟ
“กาแฟมีคุณสมบัติเด่น 2 อย่างคือ ไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้และโพลีฟีนอล” รังการาชัน กล่าว
โพลีฟีนอลเป็นสารจากพืชที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นพรีไบโอติกช่วยบำรุงแบคทีเรียในลำไส้
“กาแฟยังช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ จึงมีประโยชน์ในการลดอาการท้องผูก” รังการาชันอธิบาย “และสำหรับคนที่พิถีพิถันเรื่องกาแฟ กาแฟสำเร็จรูปหรือดีแคฟก็ให้ผลดีเช่นกัน”
แต่ก่อนจะรินกาแฟดื่ม อย่าลืมดูเวลา การดื่มกาแฟให้ถูกเวลาช่วยให้คุณนอนหลับสบายตลอดคืน
3. ถั่วรวม
“อันดับ 3 คือสิ่งที่ผมพยายามกินทุกวัน ถั่วรวม เช่น อัลมอนด์ วอลนัท และพิสตาชิโอ” รังการาชัน กล่าว “การกินถั่วหลากชนิดช่วยให้ได้รับไฟเบอร์พรีไบโอติกหลากหลายชนิด ซึ่งส่งเสริมความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้”
รังการาชัน ยังกล่าวว่า งานวิจัยหลายชิ้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคถั่วในปริมาณ 20-30 กรัมต่อวัน กับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อาจเป็นเพราะลดการอักเสบและปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ให้ดีขึ้น
4. โยเกิร์ต
รังการาชัน เผยว่า โยเกิร์ตเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในมื้ออาหารประจำวันของเขา ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ศัลยแพทย์ทางเดินอาหาร
“เลือกโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์มีชีวิต เช่น แลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรียม ซึ่งช่วยเสริมจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้” รังการาชันแนะนำ “โยเกิร์ตยังช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน (IBS) และช่วยปรับการย่อยแลคโตสให้ดีขึ้นสำหรับผู้ที่แพ้แลคโตส”