หลังจากที่เกิดกรณีแอปพลิเคชันเงินกู้อย่าง ‘Fineasy’ และ ‘สินเชื่อความสุข’ กับแอปพลิเคชันเงินกู้อื่น ๆ จนนำไปสู่แถลงการณ์ขออภัยเรื่องแอปพลิเคชันดังกล่าว เรื่องทั้งหมดเกิดอะไรขึ้นบ้าง แอปฯนี้คืออะไร และทำไมถึงเกิดปัญหาขึ้นได้ บทความนี้จะเป็นการสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น พร้อมบอกวิธีการแก้ไขปัญหา และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
สรุปไทม์ไลน์ OPPO – realme กรณีแอปเงินกู้
จุดเริ่มต้น เรื่องแดง
แอปพลิเคชัน Fineasy เป็นแอปพลิเคชันที่เป้น Bloatware ที่มีการเข้ามาอยู่ในสมาร์ตโฟน OPPO และ realme ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในคอมมูนิตี้ของผู้ใช้ OPPO และ realme พักใหญ่แล้ว โดยมีการพูดถึงในเว็บไซต์คอมมูนิตี้ของ OPPO เอง อยู่เช่นกัน ถึงการเป็นแอปพลิเคชันที่ติดตั้งเข้ามาในสมาร์ตโฟน OPPO และ realme หลากหลายเครื่อง และไม่สามารถลบออกได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่า แอปฯ Fineasy เป็นแอปฯ ที่เรียกว่าฝังเป็น System App กล่าวคือเป็นแอปพลิเคชันที่ฝังมาในเครื่องเลย ไม่สามารถลบแอปฯ ออกจากเครื่องได้ โดยในภาพโปรโมททั้งหมด ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงการเข้ามาของฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับการกู้เงินแต่อย่างใด ซึ่งคาดการณ์ว่าฟีเจอร์การกู้เงินนี้น่าจะมีการเพิ่มมาในภายหลัง
ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือ มีผู้ใช้หลายคน พบว่าแอปพลิเคชัน Fineasy นั้นมีการฝังฟีเจอร์ ‘สินเชื่อ KK’ เข้ามาในแอปพลิเคชัน Fineasy เวอร์ชันใหม่ ๆ ซึ่งมีการแจ้งชัดเจนเลยว่าเป็น ‘สินเชื่อออนไลน์’ ฝังเข้ามาอยู่ในแอปฯ Fineasy และสามารถกดเพื่อสมัครได้จากในแอปพลิเคชันโดยตรง ทำให้เกิดเป็นกระแสและประเด็นขึ้นในวงกว้าง
สภาองค์กรของผู้บริโภคออกมาร้อง ให้ OPPO – realme ชี้แจง
หลังจากเกิดประเด็นบนโลกออนไลน์ได้พักใหญ่ นำไปสู่การเรียกร้องคำชี้แจงจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ออกมาเตือนภัยในเรื่องนี้ จนเกิดเป็นประเด็นที่ลุกลามขึ้นอย่างหนัก โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นนี้ในตอนแรกว่า
“หลังมีรายงานจากผู้ใช้หลายรายว่า พบแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อน อาทิ แอปฯ ชื่อ ‘สินเชื่อความสุข’ หรือ ‘Fineasy’ ถูกติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ System App บนสมาร์ทโฟน ที่น่ากังวล คือ แอปดังกล่าวไม่สามารถลบออกจากเครื่องได้! และยังสามารถส่งการแจ้งเตือนเชิญชวนให้กู้เงิน รวมถึงเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เช่น รายชื่อผู้ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์ การที่แอปฯ ฝังตัวอยู่ในระบบของสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การแอบติดตั้งซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้นับเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และเสี่ยงต่อการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การล่วงละเมิดทางการเงิน หรือการหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขอเรียกร้องไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ทั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลบุคคล (สคส.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ@กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจนำไปสู่ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์”
ซึ่งหลังจากเกิดโพสต์ดังกล่าวขึ้น ทำให้เรื่องนี้เกิดเป็นกระแสในวงที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก เกิดแรงกดดันทางสังคมไปยังแบรนด์ทั้ง OPPO และ realme ในกรณีเหล่านี้ และเกิดเป็นประเด็น เกิดเป็นข่าวมากมายขึ้นมา
แถลงการณ์แรก จาก OPPO – realme ถึงแอป ‘Fineasy’
หลังจากที่มีประเด็นทางสังคมจำนวนมากเกิดขึ้น ทำให้ทั้ง OPPO และ realme นั้น ออกแถลงการณ์เพื่อเป็นการยอมรับถึงเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมกับชี้แจงว่าตัวแอปพลิเคชัน Fineasy นั้นได้มีการนำเอาฟีเจอร์กู้ยืมเงินออกแล้ว และได้มีการเร่งอัปเดตให้ผู้ใช้สามารถลบแอปพลิเคชัน Fineasy ได้เอง รวมไปถึงการยุติการติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงินในเครื่อง และจะหยุดแสดงผลแอปพลิเคชันสินเชื่อใน App Market ในอนาคต
หลังจากมีประเด็นนี้ ก็ได้มีการรายงานจากทางผู้ร่วมกลุ่ม Droidsans : We ❤️ Android ได้ลองนำสมาร์ตโฟนที่มีประเด็น เข้าศูนย์บริการ แล้วพบคำตอบว่า การจะลบแอปพลิเคชันออกได้นั้น ต้องรอการอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างเดียว เพื่อทำการลบแอปพลิเคชันออก ที่ศุนย์บริการตอนนี้สามารถทำได้แค่การติดตั้งไฟล์ Apk เพื่อแสดงว่าลบออกเท่านั้น ไม่ได้เอาออกจริง พอคืนค่าโรงงาน ตัวแอปฯ จะกลับมาเหมือนเดิม ทำให้ตอนนี้ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าทั้ง 2 แอปพลิเคชันนั้นจะสามารถลบออกได้ผ่านการอัปเดต และสามารถให้ลูกค้านั้นลบได้เองตั้งแต่เมื่อไหร่
กสทช สคส เรียก OPPO – realme เข้าชี้แจง
นอกจากนั้น ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สั่งการให้ PDPC ตรวจสอบว่าแอปฯ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานโดยไม่ยินยอมหรือไม่ ก่อนให้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกับ กสทช. 13 ม.ค. นี้ โดยทาง PDPD ได้ทำการโพสต์ข้อความทั้งหมด ลงในเฟซบุ๊กเพจของ PDPC โดยในใจความสำคัญคือ
พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล ได้รับมอบหมายให้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อแจ้งให้ตัวแทนบริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 13 มกราคม 2568 ช่วงบ่าย ที่ กสทช. เพื่อพิจารณามาตรการที่เหมาะสมในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและรักษาสิทธิของประชาชน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
‘#OPPOFighting’
ก่อนที่ทาง OPPO และ realme จะได้ทำการชี้แจงกับทางสคส. หรือใครก็ตาม ก็ได้มีกระแส ‘OPPOFighting’ เกิดขึ้น ซึ่งกระแสนี้ เกิดจากการที่มีพนักงานขาย (หรือที่เรียกว่า PC) บางส่วนของทางแบรนด์ OPPO ได้มีการออกมาประกาศสนับสนุนแบรนด์ แม้จะมีประเด็นอะไรเกิดขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับโพสต์ข้อความประมาณว่า “ผู้ที่มีการเติบโตสูงมากๆก็มักจะถูกบททดสอบจากผู้อื่นอยู่เสมอ” แต่กระแสก็ย้อนกลับ และทำให้เกิดเป็นประเด็นทางสังคมที่มากกว่าเดิม พร้อมกับได้มีการรุมถล่มทั้งผู้ที่โพสต์ และเกิดเป็นข่าวในเรื่องนี้เป็นวงกว้าง เกิดเป็นอีกกระแสหนึ่ง
สคส. ออกมาตรการเร่งด่วนให้ OPPO – realme จัดการ
หลังจากที่ทาง PDPC ได้มีการโพสต์ให้ทั้ง OPPO และ realme เข้าพบกับ กสทช. เพื่อชี้แจงกับประเด็นที่เกิดขึ้น ทำให้ทาง OPPO และ realme ได้เข้าชี้แจงกับทางกสทช. โดย กสทช. นำโดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการของ กสทช. เชิญบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ realme เข้าแจงข้อมูล เกี่ยวกับการติดตั้งแอปพลิเคชั่นเงินกู้บนโทรศัพท์มือถือ โดยมีผู้อำนวยการของ PDPC และตัวแทนจากสกมช. เข้าร่วมรับฟัง
ทำให้หลังจากมีการเข้าชี้แจง นำไปสู่ 4 มาตรการเร่งด่วน ที่ทาง สคส. หรือ PDPC ได้กำหนดให้ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนทุกแบรนด์ทำตาม ในกรณีแอปพลิเคชันทางการเงินที่ติดตั้งมาบนสมาร์ตโฟน คือ
- ผู้จำหน่ายมือถือ จะต้องแจ้งวัตถุประสงค์เพื่อขอคำยินยอมจากลูกค้า ให้ลูกค้าทราบว่ามีแอปที่เก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลหรือไม่
- เมื่อลูกค้านำมือถือไปใช้แล้ว เห็นว่ามีแอปที่ใส่มาไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีสิทธิ์แจ้งให้ลบหรือทำลาย และมีช่องทางให้ลูกค้าสามารถลบได้เอง โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา
- โดยทาง OPPO และ realme ต้องไปจัดการระบบหลังบ้านมาให้ ระยะเวลาน้อยกว่า 1 เดือน แจ้งกรอบเวลาอีกครั้งในวันที่ 16 มกราคม 2025
- สำหรับมือถือใหม่ ที่จะวางจำหน่าย ถ้ามีแอปกู้เงินบนเครื่อง งดจำหน่ายทั้งหมด หากพบว่ามี เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์แจ้งให้แบรนด์ลบทิ้ง ถือว่าเป็นการใช้ข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลผิดวัตถุประสงค์ สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากมีผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 3 ล้านบาท
- ทั้งนี้ ทางแบรนด์ OPPO และ realme ยืนยันว่าจะไม่จำหน่าย หากยังไม่แก้ไข
- ส่วนข้อมูลที่เก็บผ่านแอปพลิเคชันไปก่อนหน้าแล้ว ให้รายงานรายละเอียดมา ว่ามีผลกระทบอะไรบ้างจากการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลหรือไม่
- ถ้ามีประเด็นที่แก้ไขเยียวยาได้ ก็จะแจ้งให้ดำเนินการเยียวยาทันที
- ถ้ามีประเด็นมีความผิด เสียความเสียหาย มีผู้ร้องเรียน ก็จะรายงานทางปกครอง เพื่อพิจารณาโทษต่อไป
ทำให้ทั้ง 2 แบรนด์ในตอนนี้ ต้องมีมาตรการในการนำเอาแอปพลิเคชันทางการเงินที่เกี่ยวข้องออกให้ได้ ภายในเวลาที่กำหนด และสามารถให้ลูกค้านั้นลบได้เองด้วย รวมไปถึงทาง TrueMoney ได้ออกมาชี้แจง หลังโดนพาดพิง จากกรณีข่าว OPPO, realme เข้าชี้แจงเรื่องแอป ‘สินเชื่อความสุข’ และ ‘Fineasy’ ด้วย
นอกจากนั้น ในที่ประชุมได้มีมีการสรุปให้ OPPO และ realme ต้องนำข้อสงสัยที่ทางหน่วยงานสรุป กลับมาชี้แจงในวันที่ 16 มกราคมนี้อีกรอบ โดยมีข้อสงสัย และข้อปฏิบัติคือ ส่วนข้อมูลที่เก็บผ่านแอปพลิเคชันไปก่อนหน้าแล้ว ให้ส่งรายงานรายละเอียดมา ว่ามีผลกระทบอะไรบ้างจากการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลหรือไม่, สั่งทำลิงก์ OTA เพื่อลบ แอปเงินกู้ ‘สินเชื่อความสุข’ และ ‘Fineasy‘ ออก, ระบุรุ่นให้ชัดเจน ว่ามีรุ่นไหนที่ถูกติดตั้งบ้าง และชี้แจง แอปเงินกู้ ‘สินเชื่อความสุข’ และ ‘Fineasy’ ว่าใครเป็นผู้ผลิตแอป ใครเป็นผู้ให้กู้เงิน ใครดูแล ด้วย
Fineasy ประกาศหยุดให้บริการ
ในวันที่ 13 มกราคม เวลาประมาณ 21.30 ทาง Fineasy ได้มีการถอดทุกฟีเจอร์ของ Fineasy ออกจนหมด และได้ทำการประกาศยุติให้บริการ Fineasy บนสมาร์ตฟน OPPO และ realme แล้ว โดยในแอปฯ มีการกล่าวว่าเป็นการปิดเพราะ “ปรับปรุงทางธุรกิจ” โดยจะหยุดให้บริการทั้งหมด และแจ้งวิธีการปิดใช้งานแบบเบื้องต้น พร้อมกับบอกว่า “จะดำเนินการส่งเวอร์ชันที่สามารถถอนการติดตั้งได้โดยเร็วที่สุด“
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าตัวแอปฯ ไม่มีฟีเจอร์อื่น ๆ ให้ใช้แล้วในหน้าหลัก แต่ยังสามารถกดปุ่มล็อก 2 ครั้ง เพื่อทำการเข้าฟังก์ชัน Access Card และทำการคัดลอกการ์ดได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถทำอย่างอื่นใด ๆ ได้แล้ว และตัวแอปพลิเคชันยังไม่สามารถถอนการติดตั้งเองได้ หากยังไม่มีการอัปเดตซอฟต์แวร์ หรือ OTA แต่อย่างใด
OPPO – realme แถลงลบแอปฯ ‘Fineasy’ ออกแล้ว
ในช่วงดึกเข้าวันที่ 14 มกราคม ทาง OPPO และ realme ได้มีการประกาศเตรียมส่งอัปเดตซอฟต์แวร์ให้กับสมาร์ตโฟนเวอร์ชันที่ไม่มี Fineasy และ สินเชื่อความสุขตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมนี้เป็นต้นไป โดยทาง OPPO ประกาศสิ่งที่ลงมือทำแล้วในตอนนี้คือ
- ในช่วงเย็นวันที่ 13 มกราคม 2568 แอปพลิเคชัน Fineasy ได้ออกประกาศภายในแอปฯ เพื่อระงับการให้บริการแล้วเป็นที่เรียบร้อย
- ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โทรศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการติดตั้งแอป Fineasy ล่วงหน้าจะไม่ถูกจำหน่ายอีกต่อไป
- ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนจะได้รับการอัปเดต OTA (Over-the-Air) ซึ่งเป็นเวอร์ชันระบบใหม่ที่ไม่มีการติดตั้งแอปฯ Fineasy อีกต่อไป
- ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมเป็นต้นไป จะหยุดการติดตั้งแอปฯ ล่วงหน้าของแอปฯ สินเชื่อของบุคคลที่สามทั้งหมดในอุปกรณ์ของ OPPO ในขณะที่ realme ก็ออกประกาศในลักษณะเดียวกันด้วย
ซึ่งทำให้ตอนนี้ (14 มกราคม 16.00) ทั้งแอปพลิเคชัน ‘Fineasy’ และ ‘สินเชื่อความสุข’ ไม่สามารถเข้าใช้แอปพลิเคชันได้อีกต่อไป ด้วยการนำเอาฟีเจอร์ทั้งหมดออกจนหมด โดย Fineasy ยังไม่สามารถลบออกได้ และสินเชื่อความสุข สามารถลบออกได้แล้ว
OPPO – realme เข้าพบ สคบ.
หลังจากนั้น ในวันที่ 14 มกราคม ตัวแทนจากบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Realme ได้ทำการเข้าพบกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถึงการจัดการป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดย นายอนุพงษ์ เจริญเวช ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สคบ. เปิดเผยว่า กำลังสืบสวนสอบสวนกรณีแอปพลิเคชันสินเชื่อความสุขและ Fineasy ที่ติดตั้งมาพร้อมสมาร์ตโฟน โดยยังรอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน รวมถึงตัวเลขผู้ลงทะเบียนใช้งานสินเชื่อ และจำนวนอุปกรณ์ที่ติดตั้งแอปฯดังกล่าว เพื่อประเมินผลกระทบอย่างละเอียดอีกครั้ง
โดยทั้ง 2 แบรนด์ยังเน้นย้ำว่าจะทำการออกอัปเดต OTA (Over-the-Air) ที่จะทำการลบแอปพลิเคชัน Fineasy ออกภายในวันที่ 16 มกราคมนี้ กับทางสคบ. อยู่ นอกจากนั้น ยังได้มีผู้เสียหาย ที่ร้องเรียนเข้ามาแล้ว 9-10 ราย ส่วนใหญ่กังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและปัญหาอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการทวงถามหนี้แบบผิดกฎหมาย โดย สคบ. ยืนยันว่าหากพบการกระทำผิด จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในวันที่ 15 มกราคม นอกจากนั้น นายอนุพงษ์ ยังได้ระบุว่า น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสรุปข้อมูลและแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุดต่อไป
OPPO ประกาศเลื่อนเปิดตัว OPPO Reno 13
ในช่วงบ่ายของวันที่ 14 มกราคม ทาง OPPO ได้ร่อนจดหมายผ่านทางอีเมลให้กับสื่อว่าได้มีการเลื่อนงานเปิดตัว OPPO Reno13 Series ออกไปอย่างไม่มีกำหนดแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทาง OPPO ได้ประกาศจัดงานเปิดตัว OPPO Reno13 Series ในประเทศไทย ในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดประเด็นนี้ขึ้น
OPPO – realme นำมือถือออกจากช่องทางจำหน่ายออนไลน์
ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ทาง OPPO และ realme ได้ทำการถอดสินค้ากลุ่มมือถือออกจากร้านค้าทางการบน Lazada และ Shopee แล้ว ตามข้อกำหนดที่ทางสคส. กำหนดมา โดยได้เป็นไปตามประกาศของ OPPO และ realme ที่บอกว่า โทรศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการติดตั้งแอป Fineasy ล่วงหน้าจะไม่ถูกจำหน่ายอีกต่อไป โดยมีผลกับทั้งร้านค้าออนไลน์ และหน้าร้านออฟไลน์ รวมถึงตัวแทนจำหน่ายด้วย ซึ่งการงดจำหน่ายชั่วคราวนี้ อาจเป็นเพราะทางแบรนด์ต้องไปอัปเดตตัวเครื่องให้ไม่มีแอปฯ เงินกู้ก่อน ไม่งั้นก็อาจจะผิดกฎที่ตกลงไว้กับทางสคส. ก็เป็นได้
ตรวจสอบกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบ ‘Fineasy’ เป็นของ OPPO
หลังจากนั้น ได้มีคนที่ลองค้นหา ‘Fineasy’ ลงในหน้าค้นหาสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา แล้วพบว่า มีการจดทะเบียนชื่อ ‘Fineasy’ เอาไว้เป็น ‘เครื่องหมายการค้า’ ทั้งหมด 3 ชื่อด้วยกัน โดยขึ้นเป็นเลขจดทะเบียน เลขที่คำขอ 230125276, 220136166 และ 240153365 โดยทั้ง 3 ชื่อนั้นมีเจ้าของเครื่องหมายเป็น ‘กว่างตง ออปโป โมบาย เทเลคอมมิวนิเคชั่น คอร์ป., แอลทีดี. เลขที่ 18 ไห่ปิน โร้ด, วูชา, ฉาง’อัน, ตงกวน, กว่างตง,‘ ซึ่งหมายความว่า ‘Fineasy’ นี้เป็นชื่อจดทะเบียนของ OPPO นั่นเอง
16 มกราคม OPPO – realme เข้าชี้แจงกับ กสทช. อีกรอบ
หลังจากวันนี้ (14 มกราคม) ทาง OPPO และ realme ต้องเข้าชี้แจงกับทาง กสทช. อีกรอบ ในวันที่ 16 มกราคนที่จะถึงนี้ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา และตอบคำถามในส่วนข้อมูลที่เก็บผ่านแอปพลิเคชันไปก่อนหน้า ให้ส่งรายงานรายละเอียดมา ว่ามีผลกระทบอะไรบ้างจากการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลหรือไม่, ยืนยันการปล่อย OTA สำหรับการถอนการติดตั้ง ‘Fineasy’ และ ‘สินเชื่อความสุข’ ออก, ระบุรุ่นให้ชัดเจน ว่ามีรุ่นไหนที่ถูกติดตั้งบ้าง และชี้แจง แอปเงินกู้ ‘สินเชื่อความสุข’ และ ‘Fineasy’ ว่าใครเป็นผู้ผลิตแอป ใครเป็นผู้ให้กู้เงิน ใครเป็นผู้ดูแลต่อไป
ข้อควรรู้เพิ่มเติม
แอปพลิเคชัน ‘Fineasy’ คืออะไร
‘Fineasy’ เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่เป็น ‘Bloatware’ หรือก็คือแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาบนสมาร์ตโฟนที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีพื้นฐานมาจาก ColorOS อย่าง OPPO และ Realme UI อย่าง realme ซึ่งคาดว่าจะติดตั้งมาในสมาร์ตโฟนของ OPPO และ realme มาตั้งแต่ในเวอร์ชัน ColorOS 13 หรือ realme UI 4 เป็นต้นมา โดยติดตั้งในสมาร์ตโฟนทุกเครื่องของ OPPO และ realme ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟนรุ่นเริ่มต้น ไปจนถึงสมาร์ตโฟนเรือธง โดยคำอธิบายของแอปฯ Fineasy ใน Google Play บอกว่า Fineasy คือแอปที่ช่วยคุณให้ประหยัดเงินด้วยบริการคูปองและการเงิน ในขณะที่แอปฯ ‘App Market’ ที่ติดมากับสมาร์ตโฟน OPPO และ realme นั้นได้บอกว่า ‘ประหยัดมากขึ้น – รับเงินมากขึ้น’ และใช้คำว่า ‘แอปที่ช่วยคุณให้ประหยัดเงินด้วยบริการคูปองและการเงิน’ เหมือนกัน
ข้อมูลจาก Blognone ได้มีการสืบค้นผู้พัฒนาแอปฯ และเจ้าของของแอปฯ Fineasy แล้วพบว่าแอปฯ Fineasy มีเว็บไซต์ชื่อ finosfin.com มีข้อมูลเพียง 1 หน้าเท่านั้น ระบุชื่อเจ้าของแอพเป็นบริษัท Wealth Hope Pte. Ltd. จดทะเบียนในสิงคโปร์ ที่อยู่จดทะเบียนคือ 138 Market Street #15-03 Capitagreen Singapore 048946 และได้สืบค้นต่อมาพบว่ามีอีกหน้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนี้ และมีอีเมลซัพพอร์ตเป็น ‘tangtiantian@oppo.com’ ซึ่งเป็นอีเมลภายในของ OPPO เอง และได้พบข้อมูลเพิ่มเติมในฐานข้อมูล ACRA ของสิงคโปร์ พบว่าบริษัท Wealth Hope Pte. มีผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียว ชื่อว่า Shenzhen Yufei Technology Corp. ที่จดทะเบียนในเซินเจิ้น ประเทศจีน
โดยในวันที่ 13 มกราคม 2568 เวลา 16.00 ได้มีการนำเอาฟีเจอร์การกู้ยืมเงินออกจาก Fineasy แล้ว พร้อมกับการที่ตัวแอปฯได้มีการเปลี่ยนหน้าตาใหม่จำนวนมาก และไม่มีฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินอีก คาดว่าเป็นการนำฟีเจอร์ดังกล่าวออกไปทั้งหมดแล้วด้วย แต่ตัวแอปฯยังไม่สามารถลบออกได้เหมือนเดิม และฟีเจอร์อื่น ๆ ที่มีอยู่ใน Fineasy เวอร์ชันภาษาไทย คือการแนะนำโปรโมชันเติมเงิน, แพ็กเกจอินเทอร์เน็ต และสินค้าลดราคา ที่มีการร่วมมือกันกับ Lazada มากกว่า ก่อนจะถูกลบออกในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ฟีเจอร์ของ Fineasy หลายฟีเจอร์มีการผูกติดกับการทำงานของเครื่องมาก เช่นฟีเจอร์การคัดลอกบัตรเข้าอาคาร ที่ตอนนี้ยังสามารถใช้งานได้ผ่านการแตะตัวเครื่องเข้ากับเครื่องอ่าน NFC ที่รองรับ เช่นตัวล็อกอาคาร ที่แค่เอาตัวเครื่องเข้าใกล้ ก็สามารถแตะเข้าได้เลย หรือเข้าดกูบัตรทั้งหมดได้ผ่านการกดปุ่มล็อก 2 ครั้ง ซึ่งสามารถยกเลิกออกไปได้ แต่ไม่สามารถปรับการตั้งค่าเพื่อเปลี่ยนโหมดได้
‘สินเชื่อความสุข’ แอปพลิเคชันกู้เงินที่ทำมาเน้นคนไทย แต่ว่า..
นอกจากนั้น อีกแอปพลิเคชันที่มีประเด็นอยู่อย่าง ‘สินเชื่อความสุข’ นั้น เป็นอีกแอปพลิเคชันหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาบนสมาร์ตโฟน OPPO และ realme ในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เป็นคนละกรณีกันกับใน Fineasy เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ไม่ได้เป็นแอปฯ ที่เป็น System App แต่เป็นแอปฯที่เกิดจากการติดตั้งมาแบบอัตโนมัติหลัง หลังจากที่เราทำการเซตตั้งค่าเครื่องครั้งแรกแล้ว โดยแอปพลิเคชันจะทำการติดตั้งไว้ในเครื่อง โดยไม่มีการเปิดแอปฯเองหรือบังคับห้ามลบแอปพลิเคชันแต่อย่างใดในตอนนี้ แม้จะมีผู้ใช้บางราย รายงานว่าแอปพลิเคชันไม่สามารถลบได้ก็ตาม
โดยตัวแอปพลิเคชันจะทำหน้าที่เป็นเหมือนแอปฯที่ใช้สำหรับกู้ยืมเงิน ซึ่งจะมีการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จำนวนมาก และมีการอธิบายถึงการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวหลายอย่างมาก ๆ
นอกจากนั้นยังต้องมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ ถึงจะสามารถทำการกู้เงินได้ ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์กันว่าจะมีการนำเอาข้อมูลไปเพื่อใช้ในการติดตามตัวและทวงหนี้ต่าง ๆ เกิดขึ้น ซึ่งทำให้มีคนที่มีประเด็นกับเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวค่อนข้างมาก เนื่องจากมีผู้ที่ตรวจสอบผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วพบว่าตัวแอปฯ ทั้ง Fineasy, สินเขื่อ KK และสินเชื่อความสุข ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมายของทางธนาคารแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้ ทำการเลียนแบบการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเหมือนกันแอปพลิเคชันที่ถูกกฎหมายเท่านั้น
ข้อมูลจาก Blognone ได้มีการสืบค้นผู้พัฒนาแอปฯ สินเชื่อความสุขเช่นกัน ก็ได้มีการหาข้อมูลเพิ่มเติม กล่าวว่า แอปพลิเคชันนี้ มีเว็บไซต์ใช้โดเมน hizonetech.com แต่หน้าแอปฯบน Google Play ถูกลบออกไปแล้ว แต่หน้าเว็บไซต์ยังอยู่ พร้อมกับการแนะนำวงเงินกู้แบบชัดเจนผ่านเว็บไซต์ และในหน้าเว็บลงอีเมล ‘ติดต่อเรา’ เป็น kathleeneva7@outlook.com ซึ่งเป็นอีเมลส่วนตัว และเป็นอีเมลซัพพอร์ตบนหน้าแอปพลิเคชันบน Google Play ก่อนจะถูกลบไป และได้พบที่อยู่ติดต่อของแอปพลิเคชันว่าคือ ‘1 65/101-103 ซอย สุขุมวิท 64 แขวง บางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร 10260’ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นที่อยู่จริงหรือไม่ อย่างไร
โดยในปัจจุบัน (14 มกราคม 2568) แอปพลิเคชันสามารถลบได้แล้ว และตัวแอปฯนั้น หายไปจากหน้าร้านค้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Google Play หรือ App Market ของ OPPO หรือ realme ก็ตาม ในขณะที่แอปพลิเคชันอีกตัวที่มีการพูดถึงก่อนหน้านี้อย่าง ‘สินเชื่อ KK’ ยังคงอยู่ในหน้า Google Play และยังคงมีข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์อยู่
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตือนอีกครั้ง ทั้งแอปพลิเคชัน ‘สินเชื่อความสุข’ และ ‘สินเชื่อ KK’ นั้นไม่ได้เป็นแอปพลิเคชันกู้เงินที่ถูกกฎหมาย ทำให้มีอัตราดอกเบี้ยที่สูง และการทวงเงินที่อาจจะผิดกฎหมายได้ ซึ่งไม่มีความแตกต่างจากการกู้นอกระบบ ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าสินเชื่อเหล่านี้ถูกฝังมาอยู่ในแอปพลิเคชันติดเครื่องของทั้ง 2 แบรนด์ได้อย่างไร
เจาะแอปพลิเคชัน Fineasy และ สินเชื่อความสุข ว่าภายในมีอะไรซ่อนอยู่
นอกจากนั้น ทางทีมงาน DroidSans ได้มีการเจาะเข้าไปถึงการทำงานของ APK (ตัวแอปพลิเคชัน) ของ Fineasy และ สินเชื่อความสุข โดยพบว่า แอปพลิเคชัน Fineasy นั้น สามารถติดตั้งแอปลงในเครื่องในรูปแบบที่เรียกว่า Silent Install หรือแบบที่เราไม่ต้องกดยืนยันแอปได้ (ถ้าจะทำ) เหมือนกับเวลาเราใช้งาน Google Play กดติดตั้งแอปฯ และแก้ไขการตั้งค่าบางอย่างภายในเครื่อง จากเดิมที่ต้องให้ผู้ใช้เป็นคนเข้าไปตั้งค่าด้วยตัวเองเท่านั้น
ในขณะที่แอปฯ สินเชื่อความสุขนั้น พบว่าเพิ่งจะถูกเพิ่มเข้ามากับ ROM ของ OPPO และ realme ในการอัปเดทช่วงหลังๆ ประมาณการคร่าวๆ ว่าเป็นช่วง Q3 หรือ Q4 ของปี 2024 โดยมีการขออนุญาตสิทธ์ในการเข้าถึงจากผู้ใช้งานจำนวนมาก หากเราไม่ยอมให้สิทธิ์ permission ทุกตัว ก็จะไม่สามารถใช้งานแอปฯ ต่อได้ มีการใช้ระบบยืนยันตัวตนในรอบแรกแบบ OTP ผ่านเบอร์มือถือ และมีการทำ KYC เพื่อยืนยันใบหน้าด้วย โดยจากที่ดูโค้ดภายในแอป พบว่าเหมือนจะถูกเขียนขึ้นมาเพื่อใช้งานในประเทศไทยโดยเฉพาะ เพราะมีแค่ภาษาไทยทั้งหมด ไม่มีการแปลไปเป็นภาษาอื่นเลย
หลังจากการยืนยันเบอร์มือถือด้วย OTP แล้ว ขั้นตอนทั้งหมดจะเป็นการเปิดเว็บภายในแอป (WebView), หน้าเว็บ Customer Service (จะถูกเปิดผ่านแอป) คือ https://www.hizonetech.com/p/m/#/mine/customer-service-now, ในโค้ดมีคอมเมนต์บางส่วนที่เป็นภาษาจีน และมีโค้ดที่เรียกว่า Operator ที่จะดึงข้อมูลจากในเครื่อง ส่งขึ้น Web Service ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่อัปโหลดทันทีที่เปิดแอปฯ หรือรอคำสั่งผ่าน Javascript Interface จากหน้าเว็บที่เปิดภายในแอปด้วย แปลว่าในระหว่างที่เปิดหน้าเว็บภายในแอปฯ เพื่อใช้งาน หน้าเว็บสามารถสั่งให้ส่งข้อมูลภายในเครื่องขึ้น Web Service ได้ตลอดเวลาด้วย
สรุปส่งท้าย
ทั้งนี้ ประเด็น ‘Fineasy’ นี้ยังไม่สิ้นสุด ต้องรอทาง OPPO และ realme ออกอัปเดตซอฟต์แวร์เพื่อทำการลบทั้ง 2 แอปพลิเคชันนี้ได้อย่างถาวรต่อไป โดยในปัจจุบัน มีเพียงแค่การยืนยันเบื้องต้นว่าจะออกอัปเดตกลุ่มแรกภายในวันที่ 16 มกราคมนี้เท่านั้น ซึ่งถ้ามีการอัปเดตนี้ออกมาเมื่อไหร่ เราจะทำการแจ้งให้ทราบต่อไปในอนาคตแน่นอน
ที่มา : Blognone, สภาองค์กรของผู้บริโภค, สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว, สำนักข่าวแนวหน้า