สาวอายุแค่ 20 ป่วยสโตรก พูด-เขียน-ทรงตัวไม่ได้ เผยมี 1 สัญญาณเตือนที่มือ ตอนกดโทรศัพท์ แต่คิดว่าไม่เป็นไร
โรงพยาบาลแทงเญินในฮานอยเปิดเผยว่า เคยรับเคสหญิงสาววัย 20 ปี ซึ่งยังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย เข้ารับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยเมื่อเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยมีอาการพูดไม่ได้ เขียนไม่ได้ เดินโซเซ สูญเสียการทรงตัว
จากการซักประวัติพบว่า ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกิน (โรคอ้วน) และรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 1 ปี ก่อนหน้านั้น เธอเคยมีอาการผิดปกติ เช่น มือไม่สามารถกดเบอร์โทรศัพท์ได้ แต่คิดว่าไม่เป็นไรจึงไม่ได้ไปพบแพทย์ กระทั่งผ่านไป 1–2 วัน อาการชัดเจนขึ้น จึงมาพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
หลังจากการรักษาและทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง อาการของผู้ป่วยเริ่มดีขึ้น สามารถเดินและเขียนหนังสือได้อีกครั้ง น้ำหนักตัวลดลง แต่ยังจำเป็นต้องตรวจสุขภาพและทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงของโรคกลับมาเป็นซ้ำ
โรคหลอดเลือดสมองไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้สูงอายุ
นพ.เหงียน แถ่ แอง หัวหน้าหน่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลแทงเญิน กล่าวว่า ปัจจุบันโรคนี้พบในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลปี 2022 ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 12 ล้านคน โดย 16% ของผู้ป่วยมีอายุต่ำกว่า 45 ปี สำหรับเวียดนาม กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า ผู้ป่วยอายุวัยกลางคนและวัยหนุ่มสาวคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนวัยหนุ่มสาว
-
กินอาหารมันจัด ของทอด ของแปรรูป
-
โรคอ้วน ไม่ออกกำลังกาย
-
กินเค็มเกินไป ทำให้ความดันโลหิตสูง
-
ใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน (โดยเฉพาะชนิดฮอร์โมนสูง)
-
ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้บุหรี่ไฟฟ้า
-
กรรมพันธุ์ เช่น เส้นเลือดในสมองผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองที่ควรรีบพบแพทย์
-
หน้าบูดเบี้ยว ปากเบี้ยว
-
แขนขาไม่มีแรง เดินเซ ยกแขนไม่ขึ้น
-
พูดไม่ชัด หรือฟังไม่เข้าใจ
คำแนะนำในการป้องกัน
-
ปรับพฤติกรรม เช่น กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
-
งดบุหรี่และแอลกอฮอล์
-
หลีกเลี่ยงการอาบน้ำช่วงดึก
-
ตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
กรณีของหญิงสาววัย 20 ปีรายนี้ถือเป็นตัวอย่างที่เตือนใจว่า โรคหลอดเลือดสมองอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้อายุยังน้อย การใส่ใจสุขภาพและตรวจเช็กความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ