นักชีวเคมีเผย “องุ่น” ซูเปอร์ฟู้ดทรงพลัง ช่วยลดไขมัน น้ำตาล คอเลสเตอรอล และยืดอายุได้ถึง 5 ปี
นักวิจัยจากสหรัฐฯ พบว่า “องุ่น” ผลไม้ที่หาซื้อได้ทั่วไป อาจเป็นกุญแจสำคัญในการต่ออายุขัยและลดความเสี่ยงของโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง และอัลไซเมอร์ โดยการบริโภคองุ่นเป็นประจำสามารถขับไขมันและน้ำตาลที่สะสมในร่างกายจากอาหารแปรรูปออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.จอห์น เปซซูโต (Dr. John Pezzuto) ศาสตราจารย์ด้านเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Western New England University กล่าวว่า องุ่นไม่เพียงแค่ดีต่อสุขภาพลำไส้เท่านั้น แต่ยังสามารถ “เปลี่ยนการแสดงออกของยีน” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลในร่างกายที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพโดยรวม
ในการศึกษาชุดหนึ่ง ทีมวิจัยได้ให้อาหารที่มีไขมันสูงแบบตะวันตกกับหนูทดลอง พร้อมเสริมผงองุ่นในปริมาณเทียบเท่ากับการบริโภคองุ่น 1 พันเน็ตต่อวัน พบว่า หนูเหล่านี้มีปริมาณไขมันในตับลดลง มีอายุยืนยาวขึ้น และแสดงพฤติกรรมด้านความคิดที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับองุ่นเสริม
"การเปลี่ยนแปลงที่เห็นในหนูทดลองอาจเทียบได้กับการมีอายุยืนยาวขึ้นอีก 4-5 ปีในมนุษย์" ดร.เปซซูโตกล่าว พร้อมเสริมว่า การบริโภคองุ่นยังส่งผลดีต่อระบบประสาทและการทำงานของสมอง ช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์และภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NAFLD) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารขยะ
นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า องุ่นช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดน้ำหนักและป้องกันโรคเรื้อรังในระยะยาวได้ “ผลลัพธ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพขององุ่นในการปรับเปลี่ยนการแสดงออกของยีน ลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน กระตุ้นการเผาผลาญไขมัน และเพิ่มอายุขัย เมื่อรับประทานควบคู่กับอาหารที่มีไขมันสูง” ดร.เปซซูโตกล่าว
ทั้งนี้ ภาวะไขมันพอกตับและโรคหัวใจยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การรับประทานองุ่นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ง่ายและได้ผลในการป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพในระยะยาว
การค้นพบครั้งนี้ยังตอกย้ำความสำคัญของ "นิวทริจีโนมิกส์" (Nutrigenomics) หรือวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับยีน ซึ่งเป็นแขนงใหม่ที่กำลังเติบโตและมีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจผลกระทบของอาหารต่อสุขภาพของมนุษย์ในระดับพันธุกรรม