หมอหมู วีระศักดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช ไขข้อสงสัย "รับเลือดผิดกรุ๊ป" จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย อันตรายแค่ไหน?
จากเหตุการณ์แผ่นปูนจากสะพานเก่าข้ามถนนพระราม 2 หล่นใส่ประชาชน ส่งผลให้ผู้บาดเจ็บได้รับอาการสาหัส ตับฉีก และเลือดออกในช่องท้อง ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา มีประเด็นสำคัญดังนี้
-
ผู้บาดเจ็บถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเป็นแห่งแรก ซึ่งพบว่ามีการให้เลือดผิดกรุ๊ป
-
เดิมโรงพยาบาลตั้งใจให้เลือดกรุ๊ป O ตามหลักการเพื่อความปลอดภัย แต่เลือดกรุ๊ป O ไม่เพียงพอ จึงตรวจกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วยแทน
-
ผลแล็บในตอนแรกระบุว่าผู้ป่วยมีกรุ๊ป A จึงให้เลือดกรุ๊ป A แต่พบภายหลังว่าเป็นกรุ๊ป B ทำให้เลือดที่ให้ไม่เข้ากัน
-
หลังพบความผิดพลาด จึงมีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลสมุทรสาคร แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา
นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ระบุว่า ความผิดจากการให้เลือดผิดกรุ๊ปมีแน่นอน แต่ต้องสอบสวนในทุกขั้นตอน ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ และความผิดพลาดทางการแพทย์ ยืนยันว่าต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่า การให้เลือดผิดกรุ๊ปเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตหรือไม่ ส่วนข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ส่งผู้บาดเจ็บไปรพ.สมุทรสาครตั้งแต่แรกนั้น ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ต้องรอตรวจสอบเพิ่มเติม
รับเลือดผิดกรุ๊ป เสี่ยงชีวิต?
สำหรับกรณี การรับเลือดผิดกรุ๊ป หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ ระบุว่า
แนวโน้มของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการให้เลือดผิดหมู่ ซึ่งรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ในช่วงปี 2000–2019 แสดงให้เห็นว่า
ช่วงปี 2000–2010: มีการรายงานเฉลี่ย 5–6 ราย/ปี
ช่วงปี 2011–2019: ลดเหลือเฉลี่ย 2–3 ราย/ปี
ความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) เช่น ติดฉลากผิด หรือเลือดสลับคน ยังคงเป็นสาเหตุหลัก
การให้เลือดผิดหมู่ แม้จะเกิดได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นมีโอกาสเสียชีวิต สูงมากถึง 30–60%
การแจกแจงชนิดหมู่เลือด ABO ตามแอนติเจนและแอนติบอดี มีดังนี้
1. เลือดกรุ๊ป A: มีแอนติเจน A อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด และ มีแอนติบอดี B ในน้ำเลือด
2. เลือดกรุ๊ป B: มีแอนติเจน B อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด และ มีแอนติบอดี A ในน้ำเลือด
3. เลือดกรุ๊ป AB: มีทั้งแอนติเจน A และ B อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด แต่ ไม่มีแอนติบอดี A และ B ในน้ำเลือด
4. เลือดกรุ๊ป O: ไม่มีแอนติเจน A และ B อยู่บนพื้นผิวของเม็ดเลือด แต่ มีทั้งแอนติบอดี A และ B ในน้ำเลือด
เมื่อใดก็ตามที่มีแอนติเจนและแอนติบอดีชนิดเดียวกัน ทั้งคู่จะจับตัวกันและตกตะกอน ทำให้เม็ดเลือดแดงนั้นใช้ไม่ได้และแตกสลาย
สิ่งนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นหากให้เลือดผิดหมู่ เช่น หากเรามีหมู่เลือด B ซึ่งจะมีแอนติบอดี A ในน้ำเลือด หากได้รับเลือดหมู่ A แอนติเจนและแอนติบอดีจะตรงกัน เข้าจับตัวทำปฏิกิริยาและตกตะกอนทันที เป็นที่มาของภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
ผลที่อาจเกิดขึ้น คือ มีไข้ หนาวสั่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ความดันตก ไตวายเฉียบพลัน ช็อก และเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
การรับและการให้เลือด
1. หมู่เลือด A รับเลือดจาก A, O ได้ และให้เลือด A และ AB
2. หมู่เลือด B รับเลือดจาก B, O ได้ และให้เลือด B และ AB
3. หมู่เลือด AB รับเลือดได้จากทุกหมู่ และให้เลือดได้เฉพาะ AB
4. หมู่เลือด O รับเลือดได้จากหมู่เลือด O เท่านั้น และให้เลือดได้ทุกหมู่
อ้างอิงข้อมูลจาก: Storch EK, Rogerson B, Eder AF. Trend in ABO-incompatible RBC transfusion-related fatalities reported to the FDA, 2000-2019. Transfusion. 2020 Dec;60(12):2867-2875. doi: 10.1111/trf.16121. Epub 2020 Oct 16. PMID: 33064880.
เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี หมอหมูวีระศักดิ์