หมอเตือน! ใช้แอร์ผิดวิธี เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้ทุกเมื่อ แนะปรับอุณหภูมิ 25-26 องศา ลดอันตราย
แอร์เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม สร้างสภาพแวดล้อมที่สบายในการใช้ชีวิตและทำงาน โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนจัด นอกจากช่วยทำความเย็นแล้ว แอร์บางรุ่นยังสามารถกรองฝุ่นละออง เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ช่วยปกป้องระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ที่จะลดความเสี่ยงจากการช็อกหรืออ่อนเพลียจากอากาศร้อนจัด อย่างไรก็ตาม การใช้แอร์อย่างไม่ถูกวิธีอาจก่อให้เกิดผลเสีย เช่น ผิวแห้ง ระคายเคืองทางเดินหายใจ หรือแม้แต่เสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันจากความเย็นจัด
Dr.Nguyễn Thế Anh แพทย์หัวหน้าหน่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาล Thanh Nhàn ประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม แนะนำให้หลีกเลี่ยงการตั้งอุณหภูมิแอร์ต่ำเกินไป เพราะอาจทำให้หลอดเลือดหดตัวทันที ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง แนะนำให้ตั้งอุณหภูมิแอร์ที่ 25-26 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการเกิดความต่างของอุณหภูมิระหว่างในและนอกห้องมากเกินไป ช่วยลดความเสี่ยงต่อช็อกความร้อนและโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ
- เกิดมาเพิ่งรู้! หมอเตือน เปิดแอร์ผิดวิธี น้ำตาลในเลือดพุ่ง เน้นย้ำ 3 จุดนี้ต้องระวัง
- เปลืองไฟเท่าไหร่? เปิดพัดลมทั้งคืน 8 ชั่วโมง หนุ่มทดลองทึ่ง เทียบผลลัพธ์กับแอร์
ทั้งนี้ คุณหมอยังได้แนะนำหลัก “3 ไม่” หรือข้อควรระวัง 3 ประการ เพื่อป้องกันผลเสียจากการใช้แอร์ ดังนี้
-
ไม่ควรเดินเข้าไปในห้องแอร์ทันที หลังออกจากแดดร้อนจัด ควรพักในที่ร่มหรือที่อากาศถ่ายเท ใช้พัดลมช่วยคลายร้อนก่อน
-
ไม่ควรเปิดแอร์ติดต่อกันนานเกิน 2-3 ชั่วโมง ควรปิดเครื่องและเปิดประตูระบายอากาศบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคในห้อง
-
ไม่ควรให้อากาศจากแอร์พัดตรงเข้าร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า เพราะเสี่ยงทำให้เกิดอักเสบทางเดินหายใจ โรคไซนัส หรือแม้แต่เป็นอัมพาตใบหน้าได้
นอกจากนี้ แอร์ที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ จะสะสมฝุ่น เชื้อรา และแบคทีเรีย เมื่อติดเครื่อง เชื้อโรคเหล่านี้จะปลิวฟุ้งในอากาศก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุก 1-2 เดือน และตรวจสอบบำรุงรักษาเครื่องอย่างน้อยทุก 3-6 เดือน
และเพื่อป้องกันผลเสียจากสภาพอากาศร้อนจัด คุณหมอแนะนำว่าควรปฏิบัติตัว ดังนี้
-
ดื่มน้ำและเติมเกลือแร่ให้เพียงพอเมื่อต้องออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้ง
-
สวมใส่เสื้อผ้าบางเบา สวมหมวกปีกกว้าง และหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงแดดแรงจัด (11.00-15.00 น.)
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ พร้อมสังเกตอาการผิดปกติหากมีโรคประจำตัว
-
อย่าประมาทกับอาการเวียนหัว เหนื่อยง่าย หรืออ่อนเพลียต่อเนื่อง เพราะอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของช็อกความร้อนหรือโรคหลอดเลือดสมอง
“หน้าร้อนไม่ใช่แค่ฤดูที่ร้อน แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่คนมักละเลยสัญญาณเตือนสุขภาพ การระมัดระวังและเข้าใจเรื่องสุขภาพอย่างถูกต้อง คือวิธีป้องกันตัวเองและคนที่เรารักได้ดีที่สุด” คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้ หากรู้สึกมีอาการผิดปกติในช่วงอากาศร้อน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้