หมอเตือน "สมองเสื่อม" ไม่ใช่แค่โรคคนแก่ แนะนำทำ 3 ข้อนี้ ป้องกันได้ตั้งแต่หนุ่มสาว อนาคตจะขอบคุณตัวเอง
ความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมอาจเริ่มสะสมตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี จากงานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พบว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ และการขาดการออกกำลังกาย มีผลกระทบต่อการทำงานของสมองในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว แม้ยังไม่ปรากฏอาการชัดเจนก็ตาม
นพ.เจิ้ง ฉุนอวี่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมอาจเริ่มสะสมอย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี หลายคนมักเข้าใจว่าโรคนี้เป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว สัญญาณเบื้องต้นอาจปรากฏตั้งแต่อายุเพียง 24 ปี
อ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นใหม่ของทีมมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Regional Health – Americas เมื่อเมษายน 2025 พบว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ การไม่ออกกำลังกาย หรือภาวะอักเสบเรื้อรัง ล้วนส่งผลกระทบต่อสมองตั้งแต่อายุยังน้อย
นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า สถานะสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ตัวชี้วัดของการอักเสบในร่างกาย และสารบ่งชี้ทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ ล้วนมีความสัมพันธ์กับความสามารถด้านความจำและการคิด แม้แต่ในกลุ่มคนหนุ่มสาว และที่น่าสนใจคือ ในผลการทดสอบสมอง ยังพบการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของความเสื่อมทางสมองก่อนที่อาการทางคลินิกจะปรากฏ
หมอเจิ้ง ได้เตือนประชาชนว่า การป้องกันโรคสมองเสื่อมควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ โดยแนะนำให้เลี่ยงเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ขนมปัง และเบเกอรี่แปรรูป เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลเสียต่อสมองโดยตรง พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การควบคุมความดันโลหิต ความถี่ในการออกกำลังกาย การเลือกอาหาร การนอนหลับ และการลดการอักเสบในร่างกาย ล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาสุขภาพสมองและชะลอการเสื่อมของสมอง
เขาย้ำว่า “การกินให้ถูก นอนให้พอ และลุกขึ้นขยับร่างกาย” ไม่ได้ทำเพื่อซิกแพก แต่เพื่อรักษาความจำของเรา “วางแก้วชานมไข่มุกและขนมลงซะ สมองคุณจะขอบคุณคุณเอง”
ท้ายบทความ นพ.เจิ้งยังเสริมว่า งานวิจัยนี้อ้างอิงจากการวิเคราะห์ข้อมูลในโครงการวิจัยระดับชาติของสหรัฐฯ ชื่อว่า “การศึกษาระยะยาวด้านสุขภาพจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่” (Add Health) โดยมีการติดตามกลุ่มตัวอย่างกว่า 10,000 คน ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยแบ่งช่วงอายุเป็น 24–34 ปี และ 34–44 ปี ดำเนินการผ่านแบบสอบถาม การตรวจสมรรถภาพสมอง การตรวจร่างกาย และการวิเคราะห์เลือด ทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความเสื่อมของสมองตั้งแต่วัยหนุ่มสาว