หาดูยากในไทย ปรากฏการณ์ "เสาแสง" จากผลึกน้ำแข็งในชั้นบรรยากาศ เกิดขึ้นใกล้ดอยอินทนนท์
เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เปิดเผยภาพ Sun Pillar หรือ Light Pillar หรือเรียกว่าปรากฏการณ์ “เสาแสง” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในชั้นบรรยากาศโลก โดยมีลักษณะแสงสว่างในแนวตั้ง เหนือแหล่งกำเนิดแสง จึงเรียกว่า “เสาแสง” หรือในกรณีที่แหล่งกำเนิดแสงเป็นดวงอาทิตย์ จะเรียกว่า Sun Pillar โพสต์ระบุว่า
เสาแสง และดอยอินทนนท์
Sun Pillar หรือ Light Pillar (เสาแสง) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในชั้นบรรยากาศโลก ปรากฏเป็นแสงสว่างในแนวตั้ง เหนือแหล่งกำเนิดแสง จึงเรียกว่า “เสาแสง” หรือในกรณีที่แหล่งกำเนิดแสงเป็นดวงอาทิตย์ จะเรียกว่า Sun Pillar
ปรากฏการณ์นี้เกิดจากอนุภาคน้ำแข็งที่แขวนลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ เมื่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็งในอากาศ จะเกิดขึ้นเป็นผลึกรูปทรงหกเหลี่ยมแบน (รูปแบบเดียวกับแกนกลางของ snowflake) เมื่อเกล็ดน้ำแข็งเหล่านี้ตกลงในชั้นบรรยากาศ จะเรียงตัวในแนวนอน คล้ายใบไม้ที่ร่อนลงพื้นช้าๆ ผลึกน้ำแข็งจำนวนมากที่เรียงตัวในแนวนอนนี้ เปรียบได้กับกระจกเงาในแนวราบเป็นจำนวนมาก ที่จะสะท้อนแสงได้ดีในแนวดิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แสงอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้าไปแล้วในภาพ ยังคงสะท้อนมายังผู้สังเกตได้ในแนวดิ่งเหนือตำแหน่งดวงอาทิตย์
เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากผลึกน้ำแข็ง จึงมักพบบ่อยในประเทศแถบหนาว และหาดูได้ค่อนข้างยากในประเทศไทย
ภาพนี้บันทึกในช่วงเย็นวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ขณะอยู่บนเครื่องบิน เส้นทางบินเชียงใหม่-ขอนแก่น มองเห็นปรากฏการณ์เสาแสงอยู่เหนือเมฆขึ้นไป ซึ่งในภาพมีดอยอินทนนท์อยู่ทางขวา อากาศบริเวณที่เกิดเป็น sun pillar นี้อยู่สูงกว่าความสูงยอดดอยเป็นอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้เกิดผลึกน้ำแข็งได้แม้ว่าอุณหภูมิบนพื้นไม่ได้หนาวมากเท่าไหร่นัก
#ปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศโลก