อุทาหรณ์ ทำปลั๊กพ่วงไฟใช้เองไฟรั่วช็อตช่างฝ้าดับคาที่ทำงาน
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 9 เมษายน 2568 พ.ต.ท.พงษ์นรินทร์ นนตานอก สารวัตรสอบสวน สภ.บางพลี ได้รับแจ้งมีผู้ถูกไฟช็อตได้รับบาดเจ็บ ภายในร้านอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ หลังรับแจ้งจึงพร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กู้ชีพและกู้ภัย เดินทางตรวจสอบ
ภายในร้านดังกล่าวพบ นายไซ มีน อายุ 29 ปี ชาวเมียนมา ซึ่งเป็นหนุ่มช่างระบบต่อเติมภายใน นอนหมดสติแน่นิ่งอยู่กับพื้น เจ้าหน้าที่กู้ชีพและกู้ภัย ให้การช่วยเหลือปั้มหัวใจและให้สารกระตุ้นหัวใจอยู่นาน แต่ไม่เป็นผลเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ใกล้กันพบปลั๊กพ่วงลักษณะทำขึ้นเอง ตกอยู่
ภาพจากกล้องวงจรปิดภายใน สามารถจับภาพได้ ในขณะที่ นาย ไซ มีน กำลังที่จะต่อสายพ่วงปลั๊กไฟมายังอีกจุดเพื่อจะทำงาน นายไซ มีน ดึงสายไฟมาม้วนไว้ในมือก่อนจะใช้มืออีกข้างจับที่มือจับประตูกระจก แต่จังหวะนี้เองคาดว่ากระแสไฟฟ้าที่รั่วจากสายปลั๊กพ่วงนั้นเกิดรั่วจนทำให้ นายไซ มีน ถูกไฟดูดจนล้มทั้งยืน ต่อหน้าพนักงานภายในร้าน ซึ่งพนักงานได้ตะโกนเรียกเพื่อนร่วมงานพยายามเข้าช่วยเหลือ
จากการสอบถาม นางแสงอรุณ เพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นหญิงเสื้อดำในกล้องวงจรปิดบอกว่า ผู้ตายและตนเองรวมถึงคนงานอื่นรวมทั้งหมด 4 คน พากันมารับเหมาต่อเติมภายในของร้านแห่งนี้ ระหว่างที่กำลังทำงานกันอยู่ นั้น โดยผู้ตายมีหน้าที่ทาสีและต่อเติมฝ้าและผนัง ก่อนเกิดเหตุผู้ตายเดินมาเสียบปลั๊กไฟพ่วงเพื่อจะลากสายไปใช้งานอีกห้อง จังหวะนั้นพนักงานในร้านตะโกนบอกว่าผู้ตายนอนแน่นิ่งไปจึงรีบพากันมาดูพบว่ามีสายไฟพันที่ตัวอยู่ และหมดสติ พยามช่วยกันปั้มหัวใจและรีบแจ้งกู้ภัยมาช่วยเหลือแต่ก็ไม่ทัน
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ ได้เข้าตรวจสอบเบื้องต้นที่เกิดเหตุ และปลั๊กสายพ่วงไฟ พบว่าเป็นปลั๊กพ่วงที่ผู้ตายต่อทำขึ้นมาเอง โดยใช้กล่องบล็อกเหล็กมาทำเป็นปลั๊ก ซึ่งคาดว่าเหล็กอาจไปถูกกับปลั๊กด้านในจนทำให้เกิดไฟฟ้ารั่วในขณะที่เจ้าตัวนั้นเสียบสายและกำลังลากสายไฟไปอีกจุด แต่ที่ยังไม่ถูกไฟดูดตอนแรกนั้นเนื่องจากผู้ตายใส่รองเท้าผ้าใบ และเป็นจังหวะที่ผู้ตายจับที่เปิดประตูซึ่งเป็นชนวนนำไฟได้จึงถูกไฟดูดจนล้มลงหมดสติและเสียชีวิตดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะต้องส่งร่างผู้เสียชีวิตไปชันสูตรหาสาเหตุที่นิติเวชสถาบันรามาจักรกรีนฤบดินทร์ พร้อมทั้งฝากเตือนช่างไฟหรือประชาชนทั่วไป ไม่ควรดัดแปลงหรือต่อปลั๊กไฟหรือสายพ่วงปลั๊กขึ้นมาใช้เองโดยอุปกรณ์ไม่มีมาตรฐานเพราะเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้
- อ.เจษฎ์ เบรกวิธี "ถีบ" ช่วยคนถูกไฟฟ้าดูด เตือนเสี่ยงเกินไป แนะอีกวิธีสำเร็จใน 5 วินาที
- รู้ไว้ดีกว่า! "น้ำท่วม" โดนแล้วรู้สึกคับยิบๆ แปลว่ามี "ไฟฟ้ารั่ว" ต้องรีบถอยออกมาจริงไหม?