หนุ่มอเมริกันวัย 24 ปี ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคพังผืดในปอดขั้นรุนแรง ปอดเสื่อมสภาพเหมือนของคนวัย 70 ปี จากพฤติกรรมที่ทำมาตลอดกว่า 10 ปี
จาค็อบ เทมเปิล ชายหนุ่มจากรัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี เพราะเข้าใจว่าเป็นทางเลือกที่ "ปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา" แต่หลังจากใช้นานกว่าทศวรรษ ตอนนี้สุขภาพของเขาทรุดหนัก เขาเพิ่งเผชิญกับภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเมื่ออายุเพียง 24 ปี และแพทย์ยังวินิจฉัยว่า ปอดของเขาถูกพังผืดรัดแน่นจนไม่สามารถฟื้นฟูได้อีกแล้ว ตามรายงานจาก Daily Mail
จาค็อบ เล่าอาการของตนเองผ่าน TikTok ส่วนตัวว่า “ตอนนี้ผมหายใจลำบากมาก มันเหมือนกับว่าผมกำลังหายใจผ่านหลอดดูด”
เขากล่าวด้วยน้ำเสียงเสียใจว่า “ปอดของผมเสื่อมสภาพเหมือนคนอายุ 70 ปี ท่อทางเดินลมหายใจเล็ก ๆ ที่บริเวณล่างสุดของปอดถูกพังผืดเกาะถาวร ตอนนี้ปอดของผมไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมอีกแล้ว นิสัยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเกือบเอาชีวิตผมไปจริง ๆ”
จาค็อบ ยังเล่าว่า เขาเคยเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนต่าง ๆ ในร่างกาย โดยช่วงแรกเขาคิดว่าอาการไอเรื้อรังไม่ใช่เรื่องร้ายแรง จนกระทั่งเริ่มมีอาการเจ็บท้องอย่างรุนแรง เหงื่อออกมากตอนกลางคืน และหายใจติดขัด
อาการของเขาทรุดหนักจนต้องใช้เครื่องพ่นยาเพื่อช่วยในการหายใจ
จาค็อบ เล่าต่อว่า “ตอนที่ผมไปโรงพยาบาล ระดับออกซิเจนในเลือดของผมเหลือแค่ 80% และผมเกิดภาวะหัวใจวายขณะกำลังต่อเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผมเพิ่งอายุ 24 ปีเท่านั้น เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย”
จากประสบการณ์ส่วนตัว เขาอยากเตือนทุกคนที่ยังสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้หยุดโดยเร็ว เพราะนิสัยนี้สามารถทำลายสุขภาพอย่างร้ายแรงได้
ความเสี่ยงต่อปอดและหัวใจจากบุหรี่ไฟฟ้า
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าแม้จะต่างจากบุหรี่ธรรมดา แต่ก็ยังเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยแบตเตอรี่ ซึ่งใช้ความร้อนทำให้ของเหลวระเหยกลายเป็นไอนิโคตินที่ผู้ใช้สูดเข้าไป
ดร.เซซิล โรส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดจากสหรัฐฯ อธิบายว่า “การสูดดมสารเคมีจากบุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาว ยังคงส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำร้ายปอดอย่างรุนแรง”
สมาคมโรคปอดแห่งสหรัฐฯ (American Lung Association) ก็เตือนว่า การอักเสบของปอดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจเกิดขึ้นได้ภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน โดยอนุภาคนาโนจากไอน้ำจะซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อปอด และรบกวนการทำงานของปอด ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายที่ฟื้นฟูได้ยาก
เมื่อปอดถูกทำลาย ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจลำบาก ไอ เจ็บแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องตามมาอีกด้วย
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Manchester Metropolitan ประเทศอังกฤษ พบว่า ปริมาณนิโคตินสูงในบุหรี่ไฟฟ้า อาจทำให้ อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งให้ผลคล้ายกับการสูบบุหรี่ธรรมดา โดยอาจทำให้หลอดเลือดหดตัว และส่งผลให้ ผนังหลอดเลือดแดงเกิดความเสียหาย
นักวิทยาศาสตร์อังกฤษยังระบุว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้า ต่างก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดเสียหาย ซึ่งอาจนำไปสู่ ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงในอนาคต ได้เช่นกัน