เปิดตำนาน 3 หมอที่คนไทยคุ้นชื่อที่สุด หมอชิต หมอมี หมอเหล็ง พวกเขาคือใคร?

1 month ago 20
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

หมอชิต หมอมี หมอเหล็ง พวกเขาคือใคร? ตำนาน 3 หมอชื่อดังของไทย บุคคลสำคัญที่กลายเป็นชื่อสถานที่ในกรุงเทพฯ

เป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทยมานานหลายสิบปี สำหรับ หมอชิต หมอมี หมอเหล็ง แต่มีไม่น้อยที่ไม่รู้จักว่าจริงๆ แล้วบุคคลเหล่านี้คือใคร และมีความสำคัญอย่างไร ทำไมชื่อถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น ขนส่งหมอชิต แยกหมอมี หรือ ซอยหมอเหล็ง

หมอชิต : ผู้ให้กำเนิด “ยานัตถุ์หมอชิต”

หมอชิต หรือ นายชิต นภาศัพท์ ผู้ก่อตั้ง “ห้างขายยาตรามังกร” และคิดค้น “ยานัตถุ์หมอชิต” จนโด่งดังทั่วประเทศ ทำให้ผู้คนเรียกขานเขาว่า "หมอชิต"

หมอชิต เป็นคนบางพระ จังหวัดชลบุรี นอกจากจะเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นสถานีขนส่งหมอชิต ที่เดิมเคยเป็นตลาดนัดที่ชาวสวนเอาผลไม้ต่างๆ มาขาย จนเรียกกันว่า ตลาดนัดหมอชิตแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับซอยนภาศัพท์ บนถนนสุขุมวิท หอพักนภาศัพท์ ที่สร้างให้เป็นหอพักของนิสิตจุฬา และหาดวอนนภาที่ชลบุรี อันมีที่มาจากชื่อภรรยาของท่าน คือ นางวอน นภาศัพท์ (นามสกุลเดิม เนติโพธิ์)

หมอชิตโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วไป (ต้องคนรุ่น ๕๐ ขึ้นไป) ในฐานะเป็นผู้ผลิตยานัตถุ์หมอชิต อันทำให้ได้นามนำหน้าว่า หมอ แต่นั้นมา ก่อนที่จะผลิตยานัตถุ์ได้เคยทำงานเป็นเสมียนที่ห้างเต็กเฮงหยู ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ห้างเพ็ญภาค เมื่อแต่งงานมีบุตรธิดาแล้วก็คิดขยับขยายหาความก้าวหน้ามาเปิดร้านขายยาของตัวเอง โดยเริ่มที่หน้าวัดมหรรณพาราม ใช้เครื่องหมายการค้าตรามังกร ต่อมาย้ายไปอยู่ที่เสาชิงช้า ก่อนจะมาเปิดร้านที่ปากคลองตลาด เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในนาม ร้านขายยาตรามังกร

ช่วงนี้เองที่ได้คิดปรุงยานัตถุ์เป็นผลสำเร็จ โดยอาศัยตำราโบราณของบรรพบุรุษ จนเป็นที่นิยมไปทั่ว ได้เปิดเอเยนต์ในต่างจังหวัดขึ้นหลายแห่ง จากร้านขายยาก็กลายเป็นห้างขายยาตรามังกร กิจการก้าวหน้าจนขยายมาตั้งโรงงานปรุงยาขึ้นที่บ้านถนนเพชรบุรี และปัจจุบันได้เปลี่ยนมาดำเนินในรูปบริษัทยานัตถุ์หมอชิตแทน    

สำหรับยานัตถุ์คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก แต่คนสมัยก่อนหากเห็นท่อเหล็กรูปตัวยู ที่คนสูงอายุสอดเข้าไปในรูจมูกด้านหนึ่ง ส่วนปลายท่ออีกด้านใช้ปากเป่า เป็นอันรู้ว่าท่านกำลังนัตถุ์ยา เพราะตัวยานั้นเป็นผงที่มีส่วนผสมหลายอย่าง เช่น ยาสูบ อบเชย เมนทอล สเปียร์มินต์ ฯลฯ

หมอชิตเป็นผู้ขยันขันแข็ง มีความคิดทางการตลาดก้าวหน้า จากเสมียนก็กลายเป็นนายห้างจนเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวย ทำสาธารณประโยชน์ให้กับที่ต่าง ๆ ไว้มาก ทั้งเป็นกรรมการสมาคมพ่อค้าไทย และเมื่อทางราชการพระราชทานตั้งยศพ่อค้าไทย หมอชิตได้รับแต่งตั้งเป็นชั้นเอกทางพานิชกรรม ท่านถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2496 เมื่อมีอายุได้ 58 ปี

 ศิลปวัฒนธรรมหมอชิต

หมอมี : ผู้บุกเบิกยาสมุนไพรยุคแรก

นอกจากยานัตถุ์หมอชิตที่เป็นที่รู้จักกันในท้องตลาด ยังมียานัตถุ์อีกยี่ห้อที่โด่งดังไม่แพ้กันและเป็นที่นิยมกันมาก่อน ก็คือ ยานัตถุ์หมอมี ที่ผลิตออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 "หมอมี" มีนามเต็มว่า นายบุญมี เกษมสุวรรณ เคยรับราชการเป็นเภสัชกรในกองโอสถศาลาสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านได้เรียนรู้เรื่องเวชภัณฑ์ยาต่างประเทศจาก นพ.โธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ ผู้เป็นอาจารย์วิชาแพทย์แผนใหม่คนแรกของโรงเรียนแพทยาลัยศิริราชพยาบาล เมื่อลาออกจากกองโอสถศาลา ได้มาดำเนินกิจการค้าขายยาของตนเองในนาม “ห้างขายยาบุญมีดิสเปนซารี” ที่ถนนกรุงเกษม ตรงข้ามสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นย่านการค้าใหญ่แห่งหนึ่งในสมัยนั้น ก่อนจะย้ายไปตั้งที่สามแยกต้นประดู่ ซึ่งทำให้ต่อมาคนจึงเรียกสามแยกต้นประดู่อีกชื่อหนึ่งว่า สามแยกหมอมี ปัจจุบันตึกที่เคยเช่าทำห้างขายยายังคงอยู่ แต่บริษัทหมอมีไม่ได้เช่าแล้ว       

สมัยตั้งห้างที่ถนนกรุงเกษม นอกจากขายยา ตำราแพทย์ และอุปกรณ์การแพทย์ประเภทต่างๆ แล้ว ยังขายเครื่องทำน้ำโซดา น้ำมะเน็ต น้ำมันหอม และสีทำน้ำหวานต่าง ๆ รวมถึงจำหน่ายหนังสือเรียนและอุปกรณ์การเรียนทุกอย่าง เพราะห้างแห่งนี้ตั้งอยู่ข้างๆ กับโรงเรียนสายปัญญานั่นเอง เมื่อกิจการก้าวหน้าและการคมนาคมสะดวกขึ้น จึงย้ายห้างไปอยู่ที่สามแยกดังที่กล่าวข้างต้น และใช้ชื่อว่า ห้างขายยาบุญมี (หมอมี)  ผลิตภัณฑ์ยาที่ขึ้นชื่อของร้าน ได้แก่ ยานัตถุ์หมอมี ยาตรีนิสิงเห (ยาสำหรับสตรี) และยาอุทัยหมอมี

โดยเฉพาะยาอุทัยหมอมี หลายบ้านยังคงนิยมใช้อยู่ตามกรรมวิธีเดิม แต่สำหรับสาววัยใสวันนี้หันมาใช้เป็นเครื่องสำอางทาแก้มให้เกิดสีสัน สูตรน้ำยาอุทัยนี้หมอมีเคยบอกลูกหลานว่า เป็นสูตรเก่าที่มีมานาน ดังปรากฏที่จารึกในวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นสูตรเหมือนกับของท่าน

ปัจจุบันแม้การเหยาะน้ำยาอุทัยลงในน้ำดื่มจะได้รับความนิยมน้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก แต่หลังจากคนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพ กลับมาให้ความสำคัญกับสมุนไพร น้ำยาอุทัยก็เป็นตัวเลือกที่ได้รับความวางใจอีกครั้ง โดยเฉพาะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่เด็กวัยรุ่นนิยมนำมาทาแก้มทาปากแทนบลัชออนและลิปสติก เพราะให้สีสันที่อยู่ทนและสามารถกันน้ำได้ จนทางบริษัทต้องผลิตผลิตภัณฑ์ในรูปแบบโรลออนขนาดกะทัดรัด เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของสาว ๆ ที่สามารถพกพาและใช้งานได้สะดวก

Mohmee Co.,Ltd.หมอมี

หมอเหล็ง : นายแพทย์นักปฏิวัติ

หมอเหล็ง หรือ ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ เป็นแพทย์ทหารและนักปฏิวัติผู้นำการก่อการ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) แม้การเปลี่ยนแปลงจะไม่สำเร็จ เขาถูกจำคุกถึง 12 ปี ก่อนออกมาอุปสมบท และกลับมาเป็นหมออีกครั้ง

เขาเคยเป็นหมอประจำพระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ และมีชื่อเสียงจากการอ่านและสนใจการเมืองต่างประเทศ จนกลายเป็นแรงผลักดันให้ร่วมปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ชื่อของเขายังคงอยู่ในใจคนรุ่นเก่า โดยเฉพาะ “ซอยหมอเหล็ง” ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ตั้งตามชื่อของเขา

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์หมอเหล็ง

แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี แต่ชื่อของ “หมอชิต หมอมี และหมอเหล็ง” ยังคงฝังแน่นอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และในความทรงจำของผู้คน แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและบทบาทของพวกเขาที่เคยมีต่อสังคมไทยในอดีตได้อย่างน่าทึ่ง

Read Entire Article