เตือนภัย! ทองคำ “ฉีดน้ำ” ระบาด ผู้บริโภคเสี่ยงสูญเงินก้อนโต แชร์เคสสาวซื้อทองแท้ แต่พอตัดพิสูจน์เจอ "ของเหลว" ไหลออกมา น้ำหนักหาย 1.7 กรัม
เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในตลาดทองคำ เมื่อผู้บริโภคพบว่าเครื่องประดับทองแท้กลับถูก “ฉีดน้ำ” ภายใน เพื่อเพิ่มน้ำหนักและหลอกลวงผู้ซื้อ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือน ผู้บริโภคยากจะแยกแยะได้ด้วยตาเปล่า พร้อมเรียกร้องให้รัฐเร่งอุดช่องโหว่การกำกับดูแล
เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานจากเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน กรณีผู้บริโภคชื่อว่า "เผิงเจีย" นำกำไลทองคำแท้ 99.9% ที่ซื้อไว้เมื่อเดือนก่อน ไปขายต่อที่ร้านรับซื้อทอง แต่กลับพบเหตุการณ์ชวนช็อก เมื่อเจ้าหน้าที่ร้านตัดกำไลออก พบว่ามีของเหลวใสคล้ายน้ำไหลออกมา ส่งผลให้น้ำหนักทองลดลงทันทีถึง 2.51 กรัม หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 1,500 หยวน (ประมาณ 7,500 บาท)
อีกกรณีที่ปรากฏในเว็บไซต์ข่าว Sohu เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม คือคลิปที่ผู้หญิงคนหนึ่งในเมืองหนานจิง ประเทศจีน กำลังตัดสร้อยข้อมือทองคำของตนเองเพื่อตรวจสอบดูเช่นกัน และก็ค้นพบของเหลวแปลกๆ ข้างใน ซึ่งได้กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว หลายคนแสดงความประหลาดใจและกังวล โดยระบุว่า "แม้แต่โลหะมีค่าอย่างทองคำก็สามารถปลอมแปลงได้ด้วยการ "เติมน้ำ" นี่มันเหลือเชื่อมาก!"
ตามที่เจ้าของคลิปกล่าว กำไลข้อมือเส้นนี้ราคาหลายพันหยวน ซื้อจากเคาน์เตอร์ทองคำในห้างสรรพสินค้า และมีโฆษณาว่าเป็นทองคำแท้ 9,999% อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สวมใส่เธอมักรู้สึกว่าน้ำหนักของสร้อยข้อมือไม่ปกติ หลังจากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญแล้วจึงตัดสินใจตัดสร้อยข้อมือเพื่อตรวจสอบภายใน จึงเป็นที่มาของคลิป "ทองคำที่เต็มไปด้วยน้ำ" โดยพบน้ำหนักของสร้อยข้อมือเส้นนี้หายไปประมาณ 1.7 กรัม เมื่อเทียบกับน้ำหนักเดิม
ในตอนแรกทางร้านทองที่ซื้อกำไลทองคำมานั้น ยอมรับว่าน้ำหนักของทองขาดไปจริง และตกลงที่จะชดเชยส่วนต่างที่หายไป อย่างไรก็ตาม ทางร้านปฏิเสธว่าไม่ได้มีเจตนาโกง โดยอ้างว่าอาจเกิดจากความผิดพลาดในกระบวนการผลิต ที่ทำให้น้ำเข้าไปค้างอยู่ภายในกำไล ซึ่งคำชี้แจงนี้ยิ่งทำให้ชาวเน็ตไม่พอใจ และแสดงความไม่เชื่อถืออย่างรุนแรง
ปรากฏการณ์ “ทองเปี่ยมน้ำ” เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
รายงานโดย Beijing News เผยว่า ปัญหาทองคำปลอมในตลาดมีมากกว่าการ “ฉีดน้ำ” ยังรวมถึงการเจือโลหะอื่น เช่น เงินหรือโลหะผสม รวมถึงสินค้าที่ไม่มีทองคำแม้แต่นิดเดียว แต่กลับแอบอ้างเป็น “ทองแท้” พร้อมแนบใบรับรองปลอมและบรรจุภัณฑ์หรูหรา หลอกลวงผู้บริโภคอย่างแนบเนียน ที่น่ากังวลคือ แม้แต่ร้านรับซื้อทองที่มีประสบการณ์ก็ยังถูกหลอกได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่มีเครื่องมือหรือความรู้เฉพาะทางในการตรวจสอบคุณภาพทอง
ในช่วงปีที่ผ่านมา ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการทองเพิ่มขึ้น เปิดช่องให้กลโกงระบาดหนัก โดยมิจฉาชีพฉวยโอกาสนี้ “ปล่อยของปลอม” เข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยในเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา สื่อของรัฐจีนรายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลในหลายพื้นที่ได้เชิญตัวแทนจากแบรนด์ทองคำชื่อดังหลายแห่งเข้าพบ หลังมีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับการโกงน้ำหนักทอง และการขายทองปลอม
ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์แห่งชาติจีนที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2559 เครื่องประดับทองคำต้องมีสัญลักษณ์ประทับที่ระบุชื่อโรงงาน รหัส และความบริสุทธิ์ เช่น “ABC 足金999” แต่มีพ่อค้าหัวใสบางรายเจตนาไม่ประทับรหัสโรงงาน เพื่อลดความเสี่ยงทางกฎหมายหากถูกจับได้ว่า “ขายทองปลอม” และในบางกรณี ยังมีการย้อนกลับไปฟ้องผู้บริโภคที่พยายามเรียกร้องสิทธิด้วยซ้ำ
อีกหนึ่งปัญหาที่ส่งเสริมการค้าทองปลอมคือ สถาบันตรวจสอบคุณภาพทองคำที่ไร้มาตรฐาน ซึ่งสามารถออกใบรับรองปลอมได้ง่ายๆ เพียงใบละไม่กี่หยวน ข้อมูลบนเว็บไซต์ตรวจสอบยังเป็นของปลอมที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ สร้างความน่าเชื่อถือจอมปลอมให้กับสินค้าที่ไม่ใช่ทองแท้
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ผู้เชี่ยวชาญเสนอว่าต้องควบคุมทั้งต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยรัฐควรเร่งดำเนินการดังนี้ เพิ่มการตรวจสอบร้านค้าทองคำอย่างสม่ำเสมอ, สั่งห้ามและถอนสินค้า ที่ไม่มีการประทับรหัสตามมาตรฐาน, เอาผิดทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด, กวาดล้างสถาบันตรวจสอบปลอม ที่ไม่มีใบอนุญาตหรือมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริม ความรู้ด้านการเลือกซื้อทองคำแก่ผู้บริโภค เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกหลอก พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบใบรับรองและวิธีการสังเกตทองปลอมเบื้องต้น
- แม่อวด "ทอง 10 แท่ง" จากเงินเก็บทั้งชีวิต ลูกสาวเห็นแล้วหน้าซีด ทดสอบแล้วแจ้ง ตร.ทันที!
- ออกรายการดัง อวด "มรดกทองคำ" มูลค่า 14 ล้าน แต่ผู้รู้เผยราคาจริง ยายช็อกจนตัวสั่น