ใครเห็นก็ขนลุก "เอเลียน" บุกปากพนัง เปิดภาพประชากรยั้วเยี้ย เกินคำว่าวิกฤตไปแล้ว

1 week ago 8
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ใครเห็นก็ขนลุก "เอเลียน" บุกปากพนัง เปิดภาพประชากรยั้วเยี้ย เกินคำว่าวิกฤตไปแล้ว สัตว์น้ำชนิดอื่นหายเรียบ

แหล่งน้ำสาธารณะในหมู่ 8 ตำบลขนาบนาค อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ใกล้กับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ของเอกชนชื่อดัง กลายเป็นหนึ่งในจุดที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำอย่างรุนแรงในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยเฉพาะช่วงเช้ามืดของแต่ละวัน จะพบปลาหมอคางดำลอยหัวหนาแน่นอยู่บริเวณผิวน้ำ เนื่องจากภาวะขาดออกซิเจน

บริเวณดังกล่าวยังกลายเป็นแหล่งอาหารของนกน้ำหลากหลายชนิดที่มาหากิน บนพื้นริมตลิ่งมีซากปลาหมอคางดำที่ตายจากการขาดอากาศและตกค้างจากการกินของนกน้ำ นาก และตัวเงินตัวทองกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

จุดนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายพื้นที่ที่พบการระบาดอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณตำบลที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ซึ่งสถานการณ์ตรงกันข้ามกับข้อมูลจากทางการที่ระบุว่าการระบาดเริ่มลดลง

นายเสรี น้ำขาว ชาวบ้านหมู่ 8 ตำบลขนาบนาค ให้ข้อมูลว่า ปลาหมอคางดำระบาดมากขึ้นหลายเท่าตัวหลังฤดูน้ำหลากเมื่อปลายปี 2567 โดยพบจำนวนปลาในระดับหนาแน่นที่สุดในช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และหลังพระอาทิตย์ตกซึ่งเป็นช่วงที่ปลาขาดออกซิเจนอย่างหนัก ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่นกน้ำจำนวนมากเข้ามาล่าเหยื่อ

เขาระบุว่าปริมาณปลาหมอคางดำไม่เคยลดลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจับปลาของหน่วยงานรัฐได้หยุดชะงักมาตั้งแต่ก่อนฤดูน้ำหลาก ทำให้ประชากรปลาเพิ่มขึ้นจนเกินควบคุม ปัจจุบันชาวบ้านที่ทอดแหในแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อกุ้ง พบว่าสัตว์น้ำชนิดอื่นแทบไม่มีหลงเหลือปะปนมาเลย

ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงลุ่มน้ำปากพนังได้ลงพื้นที่เพื่อทอดแหเก็บตัวอย่างปลาหมอคางดำ เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านชีววิทยาได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาลักษณะทางชีวภาพของปลาชนิดนี้ในระบบนิเวศ ซึ่งทุกฝ่ายต่างแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่พบแนวทางที่สามารถควบคุมหรือแก้ไขปัญหาการระบาดได้อย่างชัดเจน

นายเสรีสรุปว่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า สัตว์น้ำพื้นถิ่นของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอาจสูญพันธุ์อย่างถาวร

Read Entire Article