ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจชี้ “ข้าวโอ๊ต” และ “สเตอรอลจากพืช” อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ ใกล้เคียงกับยาสแตติน
ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจจากมูลนิธิหัวใจแห่งสหราชอาณาจักร (British Heart Foundation – BHF) เปิดเผยว่า อาหารบางชนิดสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับยาสแตติน โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาในการใช้ยาลดคอเลสเตอรอลกลุ่มนี้
ยาสแตติน เป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อควบคุมระดับ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ซึ่งหากมีระดับสูงเกินไป อาจนำไปสู่การสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ เพิ่มความเสี่ยงต่อ โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย
อย่างไรก็ตาม มีอาหาร 2 ชนิดที่ถูกระบุว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยลดคอเลสเตอรอล ได้แก่ ข้าวโอ๊ต และ สเตอรอลและสแตนอลจากพืช
ข้าวโอ๊ต (Oats)
ข้าวโอ๊ตมีไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำที่เรียกว่า เบต้า-กลูแคน (beta-glucan) ซึ่งเมื่อเข้าสู่ระบบย่อยอาหารจะเปลี่ยนเป็นสารคล้ายเจล ช่วยดักจับกรดน้ำดีที่มีคอเลสเตอรอลสูง และป้องกันไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ด้วยเหตุนี้ ตับจะดึงคอเลสเตอรอลจากเลือดมาใช้ในการสร้างน้ำดีมากขึ้น ส่งผลให้ระดับ LDL ลดลง กลไกนี้คล้ายกับการทำงานของยาสแตติน
จากผลการศึกษาราม 58 งานวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Nutrition พบว่า การบริโภคเบต้า-กลูแคนจากข้าวโอ๊ตประมาณ 3.5 กรัมต่อวัน นาน 3-12 สัปดาห์ สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL ลงได้ถึง 4.2% โดยข้าวโอ๊ต 40 กรัม ให้เบต้า-กลูแคน 2 กรัม และนมข้าวโอ๊ต 250 มล. ให้เบต้า-กลูแคน 1 กรัม
แม้ยังไม่มีงานวิจัยที่เชื่อมโยงข้าวโอ๊ตกับการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจโดยตรง แต่การใส่ข้าวโอ๊ตในอาหารประจำวัน เช่น โจ๊ก, สมูทตี้, หรือใส่ในขนมอบ เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน
สเตอรอลและสแตนอลจากพืช (Plant Sterols and Stanols)
โดยทั่วไป สเตอรอลและสแตนอลจากพืชสามารถพบในผัก, ผลไม้, ถั่ว, น้ำมันพืช และธัญพืชต่างๆ แต่ปริมาณจากธรรมชาติมักไม่ถึงระดับที่มีผลต่อการลดคอเลสเตอรอล จึงมีการเสริมในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น มาการีน, นม และโยเกิร์ต สารธรรมชาติเหล่านี้มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับคอเลสเตอรอล ทำให้สามารถแข่งขันกันในการดูดซึมจากลำไส้ ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมคอเลสเตอรอลได้น้อยลง
การศึกษาในวารสาร British Journal of Nutrition ในปี 2014 ชี้ว่า การบริโภคสเตอรอลจากพืช ประมาณ 2-3.3 กรัมต่อวัน สามารถลดระดับ LDL ได้ 6-12% ภายใน 4 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี ถึงแม้สเตอรอลและสแตนอลจะช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ แต่ BHF เน้นย้ำว่า ยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่ชัดเจนว่าช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ต่างจากยาสแตตินซึ่งมีงานวิจัยรองรับอย่างชัดเจน
ข้อควรระวังและคำแนะนำ แม้ว่าอาหารบางชนิดจะช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ แต่ไม่สามารถทดแทนการใช้ยาสแตตินโดยสมบูรณ์ 100% หากมีภาวะคอเลสเตอรอลสูงควรปรึกษาแพทย์ก่อนปรับเปลี่ยนอาหารหรือเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์เสริม ดังนั้น อย่าลืมว่าแนวทางการดูแลสุขภาพหัวใจแบบองค์รวมควรประกอบด้วย การใช้ยาตามแพทย์สั่ง, การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์, การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
ท้ายที่สุด ข้าวโอ๊ตและสเตอรอลจากพืช ถือเป็นอาหารที่มีส่วนช่วยในการลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ โดยทำงานในลักษณะคล้ายยาสแตติน แม้ไม่ใช่ทางเลือกแทนยา แต่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพหัวใจร่วมกับการใช้ยาและการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม