วุฒิสภาออสเตรเลียผ่านร่างกฎหมายห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้สื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสบดี และทำให้ออสเตรเลียขึ้นแท่นประเทศแรกในโลกที่จัดทำกฏหมายห้ามวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้โซเชียลมีเดีย
สำนักข่าวเอพี รายงานว่า วุฒิสภาออสเตรเลียมีมติ 34 ต่อ 19 เสียง สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว หลังจากเมื่อวันพุธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลีย มีมติสนับสนุนร่างกฎหมายนี้อย่างท่วมท้น ที่ 102 ต่อ 13 เสียง
ในวันศุกร์สภาผู้แทนฯ ออสเตรเลีย มีกำหนดลงมติส่วนแก้ไขในร่างกฎหมายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการก่อนผ่านร่างกฎหมายอย่างสมบูรณ์ทั้งสองสภา โดยส่วนแก้ไขนั้นมีรายละเอียดเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ที่ห้ามแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ขอเอกสารที่รัฐบาลเป็นผู้ออกให้หรือขอการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลผ่านระบบของรัฐบาลในทุกรูปแบบ
ภายใต้ร่างกฎหมายควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์กับเยาวชนออสซี่นี้ จะมีผลกระทบต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้งติ๊กตอก เฟซบุ๊ก สแนปแชท เรดดิท เอ็กซ์ และอินสตาแกรม เผชิญกับค่าปรับสูงสุด 50 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 1,100 ล้านบาท หากล้มเหลวในการป้องกันเด็กและเยาวชนออสเตรเลียที่อายุต่ำกว่า 16 ปีในการเข้าถึงหรือมีบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ โดยรัฐบาลกรุงแคนเบอร์ราขีดเส้นตายภายใน 1 ปีที่แพลตฟอร์มโซเชียลจะจัดทำมาตรการต่าง ๆ ออกมา
บริษัทสื่อสังคมออนไลน์ได้แสดงความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่สามารถบังคับใช้ได้ และเรียกร้องให้วุฒิสภาออสเตรเลียเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายไปอย่างน้อยในเดือนมิถุนายนปีหน้า เพื่อให้หน่วยงานด้านเทคโนโลยีของรัฐบาลที่ดูแลเรื่องการประเมินอายุของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ออกรายงานอย่างเป็นทางการที่กำหนดว่าช่วงอายุเท่าใดที่ควรห้ามใช้โซเชียลมีเดีย
ผู้วิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ แสดงความกังวลว่าการห้ามใช้สื่อสังคมออนไลน์กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี จะกระทบเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ที่เด็กกลุ่มนี้อาจระบุว่าตนอายุมากกว่า 16 ปีเพื่อให้มีบัญชีโซเชียลมีเดีย หรือผลักให้เด็กและเยาวชนหันไปใช้ดาร์กเว็บหรือช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อพวกเขามากกว่าเดิม รวมถึงการผลักดันกฎหมายที่เร็วเกินไปในสภา ซึ่งไม่ได้พิจารณาผลกระทบกับผู้ใช้ทุกกลุ่ม
ส่วนฝ่ายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสวัสดิภาพและสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน และว่าเป็นหน้าที่ของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ที่ต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้มากกว่าใส่ใจเรื่องผลกำไรขององค์กร
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น