ช่างญี่ปุ่นใช้แฟชั่น “แต่งเล็บ” เตือนสติเรื่องสิ่งแวดล้อม

3 weeks ago 15
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

แม้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่าง "มลภาวะพลาสติก" จะเป็นเรื่องใหญ่ของมวลมนุษยชาติ แต่สตรีญี่ปุ่นรายหนึ่งเชื่อว่า การแก้ปัญหานี้สามารถเริ่มได้จากเพียงแค่ “ปลายเล็บ”

นาโอมิ อาริโมโตะ อายุ 42 ปี เคยร่วมกับชุมชนช่วยทำความสะอาดชายฝั่ง กิจกรรมดังกล่าวได้จุดประกายไอเดียให้เธอเก็บ “เศษขยะพลาสติก” ขนาดเล็กที่พบตามผืนทราย บริเวณชายหาดทางตอนใต้กรุงโตเกียว นำมาหลอมจนกลายเป็น “ของแต่งเล็บ”

อาริโมโตะ กล่าวว่า “ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นด้วยตาของตัวเอง ฉันก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ว่ามีขยะพลาสติกอยู่ในมหาสมุทรมากแค่ไหน” สำหรับเธอแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างมาก

นาโอมิ อาริโมโตะ ช่างทำเล็บชาวญี่ปุ่น กำลังคัดขยะพลาสติกมาใช้ทำงานศิลปะตกแต่งเล็บ
นาโอมิ อาริโมโตะ ช่างทำเล็บชาวญี่ปุ่น กำลังคัดขยะพลาสติกมาใช้ทำงานศิลปะตกแต่งเล็บ

ตามข้อมูลของสหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ประเมินว่า ในแต่ละปี มีขยะพลาสติกถูกทิ้งประมาณ 20 ล้านตัน

เพื่อหาแนวทางรับมือกับปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ในการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ที่จัดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการหารือเกี่ยวกับร่างสนธิสัญญากำหนดขีดจำกัดสำหรับการผลิตพลาสติกทั่วโลก

เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2024 สหรัฐฯ ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ส่งสัญญาณว่าจะสนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าว ทางด้านองค์กรกรีนพีซ (Greenpeace) ที่สอดส่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ถือเป็น "จุดเปลี่ยนสำคัญ" ในการต่อสู้กับมลภาวะพลาสติก

ขยะพลาสติกที่ นาโอมิ อาริโมโตะ ช่างทำเล็บชาวญี่ปุ่น รวบรวมมาจากชายหาดและคัดเลือกมาเพื่อใช้ในการทำเล็บ 3 มิติ ที่จังหวัดคานากาวา เมื่อ 21 ต.ค. 2567
ขยะพลาสติกที่ นาโอมิ อาริโมโตะ ช่างทำเล็บชาวญี่ปุ่น รวบรวมมาจากชายหาดและคัดเลือกมาเพื่อใช้ในการทำเล็บ 3 มิติ ที่จังหวัดคานากาวา เมื่อ 21 ต.ค. 2567

ในปี 2018 อาริโมโตะประสบปัญหาด้านสุขภาพบริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้เธอต้องหยุดอาชีพนักสังคมสงเคราะห์ และผันมาเปิดร้านทำเล็บที่บ้านของตนเอง

ทุก ๆ เดือน อาริโมโตะจะนั่งรถเข็นไปยังชายหาดใกล้บ้านเพื่อค้นหาเศษขยะไมโครพลาสติกที่มักจะถูกมองข้าม ตั้งแต่ปี 2021 เธอได้นำ “อุมิโกมิ” (Umigomi) หรือที่แปลว่า “ขยะจากทะเล” ในภาษาญี่ปุ่น มาผสมผสานสร้างงานศิลปะบนเล็บที่สะท้อนถึงปัญหามลภาวะพลาสติก

ภาพของ นาโอมิ อาริโมโตะ ช่างทำเล็บชาวญี่ปุ่น ขณะใช้ขยะพลาสติกมาดัดแปลงเป็นส่วนประกอบการทำเล็บ 3 มิติ ที่จังหวัดคานากาวา เมื่อ 21 ต.ค. 2567
ภาพของ นาโอมิ อาริโมโตะ ช่างทำเล็บชาวญี่ปุ่น ขณะใช้ขยะพลาสติกมาดัดแปลงเป็นส่วนประกอบการทำเล็บ 3 มิติ ที่จังหวัดคานากาวา เมื่อ 21 ต.ค. 2567

กระบวนการเปลี่ยนขยะจากผืนน้ำ ให้กลายเป็นอะไหล่แต่งเล็บที่สวยงาม เริ่มจากการล้างเศษพลาสติกที่เก็บมาได้ คัดแยกตามสีของวัสดุ ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำไปหลอมในเบ้าเหล็กจนกลายเป็นรูปทรงแผ่นกลมที่มีสีสันสดใส จากนั้นนำไปใช้เพื่อตกแต่งเล็บปลอม สนนราคาอยู่ที่ชุดละ 82.52 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,860 บาท

เคียวโกะ คุโรกาวะ ลูกค้าวัย 57 ปี เผยว่า มีสิ่งต่าง ๆ ที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล เช่น กระดาษชำระ แต่เธอรู้สึกประหลาดใจอย่างมาก เมื่อทราบว่าของแต่งเล็บก็สามารถทำมาจากวัสดุรีไซเคิลได้เช่นกัน

ช่างทำเล็บชาวญี่ปุ่นรายนี้ยอมรับว่า งานศิลปะของเธอเป็นเพียงความพยายามเล็กน้อยท่ามกลางวิกฤตปัญหามลภาวะพลาสติก อาริโมโตะหวังว่าแฟชั่นเล็ก ๆ บนปลายนิ้วที่อยู่ตรงหน้าจะช่วยเตือนผู้คน ให้ตระหนักถึงปัญหามลภาวะพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นบนโลก และร่วมกันหาทางแก้ไข

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article