ตรวจสอบข่าว: ขีปนาวุธ ‘โอเรชนิค’ ไร้เทียมทาน ตาม ‘ปูติน’ กล่าวอ้างจริงหรือ?

2 weeks ago 11
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน กองทัพรัสเซียได้ โจมตีพื้นที่ใกล้กับย่านอุตสาหกรรม ในเมืองดนิโปร ของยูเครน ด้วยขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยกลางโอเรชนิค ที่อยู่ระหว่างการทดสอบ

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวอ้าง ในแถลงการณ์ผ่านวิดีโอ 1 วันหลังการโจมตีว่า ขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยกลางความเร็วเหนือเสียงโอเรชนิคเป็นอาวุธที่ไม่สามารถสกัดได้

ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะต้านทานอาวุธนี้ได้ในเวลานี้ การโจมตีด้วยขีปนาวุธมุ่งเป้าที่ความเร็วระดับมัค 10 ซึ่งก็คือ 2.5-3 กิโลเมตรต่อวินาที ระบบป้องกันทางอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบันบนโลกนี้และระบบป้องกันขีปนาวุธที่ผลิตจากอเมริกาในยุโรปไม่สามารถสกัดขีปนาวุธนี้ได้ ... มันเป็นไปไม่ได้เลย”

ทีมข่าว Polygraph ของวีโอเอ ตรวจสอบข่าวนี้และพบว่า คำกล่าวอ้างของผู้นำรัสเซียในเรื่องนี้ “น่าจะเป็นเท็จ”

ระหว่างที่อาวุธความเร็วเหนือเสียงเป็นความท้าทายต่อระบบป้องกันขีปนาวุธ ผู้เชี่ยวชาญและหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันต่างชี้ว่า คำกล่าวอ้างของปธน.ปูติน เป็นการพูดถึงเทคโนโลยีนี้อย่างเกินจริง

กรมข่าวกรองทางทหารยูเครน รายงานว่า ขีปนาวุธโอเรชนิคยิงมาจากจุดทดสอบขีปนาวุธคาปุสติน ยาร์ ที่ 4 ในแคว้นแอสทรัคฮาน ติดหัวรบที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ 6 ลูก ซึ่งแต่ละลูกบรรจุระเบิดลูกปรายไว้อีก 6 ลูก อาวุธนี้เดินทางด้วยความเร็วระดับมัค 11 ประมาณ 15 นาทีก่อนจะโจมตีเมืองดนิโปร

ด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน อธิบายว่า โอเรชนิค เป็นขีปนาวุธพิสัยกลางที่พัฒนามาจากขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลข้ามทวีปรูเบซห์ RS-26

ความท้าทายด้านความเร็วและความคล่องตัวของอาวุธนี้คืออะไร?

ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง เดินทาง “ด้วยความเร็วมากกว่าระดับมัค 5” และวิถีโคจรที่ไม่แน่นอน ทำให้ยากต่อการติดตามและสกัดได้เมื่อเทียบกับขีปนาวุธวิถีโค้งทั่วไป ความเร็วและคล่องตัวนี้ทำให้ระบบป้องกันทางอากาศมีเวลาน้อยมากอย่างมีนัยสำคัญที่จะตอบโต้ และเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเทคโนโลยีเรดาร์และเซนเซอร์ในการตรวจจับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการสกัดขีปนาวุธนี้ว่าเป็นสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” นั้น ไม่ได้คำนึงถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีป้องกันขีปนาวุธที่รุดหน้าในปัจจุบัน โดยระบบป้องกันขีปนาวุธอย่างเช่น THAAD (U.S. Terminal High Altitude Area Defense) และ Aegis (Aegis Ballistic Missile Defense) ได้รับการออกแบบมาเพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่เคลื่อนที่เร็ว รวมทั้งขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และระบบเหล่านี้เดินหน้าพัฒนาเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่ยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ

อ้างอิงจากฟาเบียน ฮอฟฟ์แมนน์ นักวิจัยจาก Oslo Nuclear Project ซึ่งเป็นระบบป้องกันขีปนาวุธที่มีขีดความสามารถในการยิงโอเรชนิคตกได้ ซึ่งสหรัฐฯ และอิสราเอลมีระบบนี้อยู่ในครอบครอง บอกกับสื่อซีเอ็นเอ็น เมื่อ 22 พฤศจิกายนว่า “ระบบอย่าง SM-3 จากเอจิส และเอจิส อาชอร์ เช่นเดียวกับระบบ Arrow 3 และ THAAD สามารถรับมือกับภัยคุกคามลักษณะนี้ได้”

มาตรการตอบโต้ที่มีในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?

ในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่มุ่งเป้าสกัดขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง โดยโครงการริเริ่มสำคัญยังรวมถึง:

  • Glide Phase Interceptor ที่กำลังพัฒนาโดยบริษัทนอร์ธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) ที่ร่วมมือกับบริษัท เรย์ธีออน เทคโนโลจีส์ (Raytheon Technologies) ซึ่งมีสัญญาจ้างกับสำนักงานป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ (U.S. Missile Defense Agency - MDA) ในการสร้างระบบที่สามารถสกัดขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงระหว่างการร่อนของขีปนาวุธ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุดของอาวุธความเร็วสูงนี้
  • ระบบเรดาร์ขั้นสูง เช่น ระบบต่อต้านขีปนาวุธภาคพื้นดิน Long-Range Discrimination Radar (LRDR) รุ่นใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจจับและติดตามขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงโดยเฉพาะ
  • อาวุธโจมตีพลังงานตรง (Directed energy weapons) แบบระบบเลเซอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาเป็นระบบป้องกันขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง

การทดสอบและหลักฐานด้านศักยภาพของโอเรชนิคเป็นอย่างไร?

แม้จะมีคำกล่าวอ้างของปธน.ปูตินออกมา แต่รัสเซียยังไม่สามารถแสดงหลักฐานโดยสรุปว่าขีปนาวุธโอเรชนิคได้นำมาใช้ในปฏิบัติการทางทหารหรือทดสอบในสถานการณ์จำลองระบบขีปนาวุธชาติตะวันตก โดยขณะนี้ รัสเซียใช้โอเรชนิคเพียงครั้งเดียว และใช้กับประเทศที่ไม่มีระบบป้องกันทางอากาศจากชาติตะวันตก ที่สามารถยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงตกลงได้

อ้างอิงจาก แม็กซิม สตาร์แช็ค ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายนิวเคลียร์และอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ที่มองว่า รัฐบาลมอสโกมีแนวโน้มที่จะอ้างถึงศักยภาพของอาวุธที่เกินจริง และ “อาจไม่ทราบว่าหากระบบป้องกันทางอากาศสามารถสกัดขีปนาวุธ[โอเรชนิค]นี้ได้ คำกล่าวอ้างเหล่านี้ยังคงไม่มีหลักฐานหากปราศจากการทดสอบหรือมีความพยายามยิงสกัดในการต่อสู้จริง”

การทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงครั้งก่อนหน้าของรัสเซีย อย่าง Avangard glide vehicle ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอาวุธชนิดดังกล่าว แต่ยังคงสร้างความกังขาเกี่ยวกับการใช้จริงและประสิทธิภาพในสมรภูมิ

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรประสบความสำเร็จในการสกัดเป้าหมายเคลื่อนที่เร็วในสภาพแวดล้อมที่ควบคุม เช่น การทดสอบระบบ THAAD และ Aegis ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถในการสกัดขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยกลางได้ แม้จะยังเข้าต่อต้านเป้าหมายความเร็วเหนือเสียงได้อย่างไม่สม่ำเสมอก็ตาม

มีขีปนาวุธความเร็วเหนือของรัสเซียที่ ‘ไม่สามารถสกัดได้’ อีกหรือไม่?

ถ้อยแถลงของปธน.ปูติน ตรงกับรูปแบบการกล่าวถึงศักยภาพด้านการทหารอันรุดหน้า เพื่อเป็นการควบคุมและสร้างอิทธิพลเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้ ปธน.ปูตินเคยอ้างในลักษณะที่คล้ายกันนี้ เกี่ยวกับระบบอาวุธอื่นที่ไม่สามารถต่อต้านได้ รวมทั้งขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลข้ามทวีปซาร์มัต (Sarmat) และขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงเซอร์คอน (Zircon)

แม้ว่ารัสเซียจะอ้างว่าขีปนาวุธอยู่ในโหมดพร้อมลงสมรภูมิ แต่ซาร์มัต เผชิญกับปัญหาอย่างมีนัยสำคัญในการทดสอบเมื่อปี 2022 โดยการทดสอบล้มเหลวมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 21 กันยายน 2024

ส่วนขีปนาวุธเซอร์คอน เป็นหนึ่งในอาวุธความเร็วเหนือเสียงที่เร็วที่สุด โดยทำความเร็วสูงสุดในระดับมัค 9 แต่ในการยิงขีปนาวุธเซอร์คอน 2 ลูกที่กรุงเคียฟ เมื่อ 25 มีนาคม อ้างอิงจากแหล่งข่าวของยูเครน อาวุธชนิดนี้ถูกสกัดโดยระบบป้องกันทางอากาศทั้งหมด และทางการยูเครนเผยภาพของซากขีปนาวุธออกมา โดยโฆษกกองทัพอากาศยูเครน เผยว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธอย่าง Patriot และระบบต่อต้านอากาศยานภาคพื้นดินระยะกลาง SAMP/T สามารถทำลายเซอร์คอนได้ ในระยะที่ความเร็วลดลงที่มัค 4.5 ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากนักวิเคราะห์ชาติตะวันตก

อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษ ทอม ชาร์ป ที่ระบุผ่านเทเลกราฟ เมื่อ 3 เมษายนว่า “ข่าวดีก็คือในการทำสงครามด้วยขีปนาวุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับอาวุธของรัสเซีย ความสามารถที่ 'กล่าวอ้าง' และ 'ตามจริง' มักจะแตกต่างกันมาก … เมื่อถามว่าเซอร์คอนเป็นอาวุธวิเศษที่ไร้พ่ายหรือไม่? คำตอบก็คือ ไม่ แล้วการตอบโต้ทำได้ยากหรือไม่ คำตอบคือใช่”

  • ที่มา: ทีมข่าว Polygraph
Read Entire Article