‘ติ๊กตอก’ จ่อโดนแบนในสหรัฐฯ หลังศาลอุทธรณ์ฟันปมเอี่ยวจีน

2 weeks ago 12
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ศาลอุทธรณ์ระดับรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ มีมติเอกฉันท์ในวันศุกร์ ยกคำร้องกรณีสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดัง ‘ติ๊กตอก’ ร้องเรียนกรณีเส้นตายที่สหรัฐฯ ห้ามไม่ให้ทำธุรกิจในประเทศ หากไม่ตัดสัมพันธ์กับบริษัทแม่ที่จีนภายในกลางเดือนมกราคมที่จะถึงนี้

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ลงนามในกฎหมายที่ให้เวลาบริษัทไบต์แดนซ์ (Bytedance) เจ้าของติ๊กตอก (TikTok) ขายหุ้นทั้งหมดในสหรัฐฯ ภายใน 19 มกราคมปี 2025 ไม่เช่นนั้นอาจจะไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชั่นติ๊กตอกในสหรัฐฯ ได้

ติ๊กตอกและไบต์แดนซ์จึงร่วมกันอุทธรณ์กฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ข้อที่ 1 หรือ First Amendment

ดักลาส กินสเบิร์ก หนึ่งในคณะผู้พิพากษา เขียนในคำวินิจฉัยของศาลว่าบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ข้อที่ 1 มีไว้ปกป้องเสรีภาพการแสดงออกในสหรัฐฯ และ “รัฐบาลกระทำการไปเพื่อปกป้องเสรีภาพนั้นจากชาติที่เป็นศัตรู และเพื่อจำกัดความสามารถของศัตรูนั้นในการเก็บข้อมูลของประชาชนในสหรัฐฯ”

เอพีรายงานว่าติ๊กตอกและไบต์แดนซ์น่าจะส่งเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลสูง แต่ไม่มีความชัดเจนว่าศาลสูงจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่

ไมเคิล ฮิวจ์ส โฆษกติ๊กตอก กล่าวว่า “ศาลสูงมีประวัติในการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของชาวอเมริกัน และเราคาดหวังว่าพวกเขาจะทำแบบนั้นในประเด็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญที่สำคัญนี้”

ฮิวจ์สกล่าวว่าการห้ามใช้งานติ๊กตอกในสหรัฐฯ เป็นการเซ็นเซอร์ชาวอเมริกันบนสมมติฐานและข้อมูลที่บกพร่องและคลาดเคลื่อน ซึ่งจะเป็นการ “ปิดปากเสียงของชาวอเมริกันมากกว่า 170 ล้านคนในสหรัฐฯ และทั่วโลก”

แม้เรื่องราวนี้กลายเป็นเรื่องที่พิจารณาในชั้นศาล แต่ทั้งสองบริษัทก็อาจได้รับการช่วยเหลือบางประการในรัฐบาลหน้า เพราะว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปลี่ยนใจหันมาคัดค้านการกีดกันติ๊กตอกแล้ว

ที่ผ่านมารัฐบาลกรุงวอชิงตันถือว่าแอปฯ แชร์วิดีโอสั้นนี้เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากไบต์แดนซ์ที่มีสำนักงานใหญ่ในจีนอาจถูกรัฐบาลกรุงปักกิ่งบีบบังคับเอาข้อมูลผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมการชมเนื้อหา ที่เมื่อเอาไปใช้งานกับระบบอัลกอริธึมแล้ว ก็อาจควบคุมหรือเกื้อหนุนให้ผู้ใช้แอปฯ เห็นเนื้อหาที่จีนอยากให้เห็นได้มากขึ้น

ข้อกังวลนี้เพิ่งมีการหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งโดยสหภาพยุโรปในวันศุกร์ ที่ตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของติ๊กตอกที่มีต่อผลการเลือกตั้งในโรมาเนียที่ศาลสูงเพิ่งมีคำสั่งให้เป็นโมฆะและต้องจัดเลือกตั้งใหม่

ติ๊กตอกปฏิเสธมาตลอดว่ารัฐบาลปักกิ่งไม่สามารถมาสอดแนมหรือปั่นความเห็นคนอเมริกันผ่านแอปฯ ได้ และบริษัทก็ลงทุนไปเป็นมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อปกป้องข้อมูลผู้ใช้งานสหรัฐฯ

ทางทนายความของบริษัทโต้แย้งว่าสหรัฐฯ ไม่เคยนำหลักฐานมาแสดงว่าติ๊กตอกได้กระทำในสิ่งที่รัฐบาลวอชิงตันกังวล และมองว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่อควบคุมความเสี่ยงของสิ่งที่ยังไม่เกิด

AP)
ผู้สนับสนุนติ๊กตอกรวมตัวกันที่หน้าอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน เมื่อ 13 มีนาคม 2024 (ที่มา:AP)

คำพิพากษาในวันศุกร์มีขึ้นหลังจากศาลรับฟังข้อโต้แย้งด้วยวาจาในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

การพิจารณาคดีใช้เวลามากกว่าสองชั่วโมง โดยประเด็นหลักที่โต้แย้งกันคือคำถามว่าการที่ติ๊กตอกมีเจ้าของเป็นนิติบุคคลต่างชาติ จะกระทบกับสิทธิของบริษัทภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หรือไม่ และรัฐบาลวอชิงตันมีอำนาจควบคุมอิทธิพลต่างชาติในแพลตฟอร์มที่ต่างชาติเป็นเจ้าของได้มากน้อยเพียงใด

กินส์เบิร์ก ผู้พิพากษาที่แต่งตั้งจากฝ่ายพรรครีพับลิกัน ระบุว่ารัฐบาลไม่ได้ละเมิดเสรีภาพการแสดงออก เพราะไม่ได้ปิดกั้นเนื้อหาหรือกะเกณฑ์ให้เนื้อหามีการผสมผสานไปในทางใดทางหนึ่ง

เขาเขียนว่า “ในทางหลักการ เนื้อหาในแพลตฟอร์มจะยังไม่เปลี่ยนไปหลังจากการขายหุ้น และประชาชนในสหรัฐฯ จะยังมีอิสระในการอ่านและแชร์โฆษณาชวนเชื่อของสาธารณรัฐประชาชนจีน (หรือเนื้อหาอื่น ๆ) ตามประสงค์บนติ๊กตอก หรือบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่พวกเขาเลือก”

นอกจากคำอุทธรณ์ของติ๊กตอกแล้ว ยังมีกลุ่มผู้สร้างเนื้อหาหลายคนร่วมกันฟ้องร้องคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมีติ๊กตอกสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย และมีกลุ่มผู้สร้างเนื้อหาเชิงอนุรักษ์นิยมที่ทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรยื่นฟ้องอีกหนึ่งคดี ไม่เพียงเท่านั้นยังมีองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ฟ้องร้องเพื่อสนับสนุนติ๊กตอกอีกด้วย

จามีล จาฟเฟอร์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบัน Knight First Amendment ที่ฟ้องร้องสนับสนุนติ๊กตอก ระบุว่าคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์นั้น “ให้อำนาจแบบกว้างขวางต่อรัฐบาล ในการจำกัดชาวอเมริกันเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แนวคิด และสื่อจากต่างชาติ”

ราชา กฤษณะมูรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเดโมแครต ผู้ร่วมยกร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า ถึงเวลาที่ไบต์แดนซ์ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติข้างต้น

จอห์น มูเลนาร์ ส.ส.พรรครีพับลิกันจากรัฐมิชิแกน ประธานกรรมาธิการด้านจีน เชื่อว่า “ประธานาธิบดี (โดนัลด์) ทรัมป์จะอำนวยให้การซื้อกิจการของติ๊กตอกโดยอเมริกา เพื่อให้ใช้งานต่อไปได้ในสหรัฐฯ ภายใต้เจ้าของรายใหม่”

ทนายความของติ๊กตอกและไบต์แดนซ์ระบุว่าการแยกติ๊กตอกมาเป็นของสหรัฐฯ ไม่สามารถทำได้ทั้งในทางธุรกิจและเทคโนโลยี และการขายกิจการโดยที่ไม่ขายระบบอัลกอริธึม ซึ่งเป็นความลับทางการตลาด ซึ่งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจีนคงไม่ยอมให้มีการส่งมอบให้เจ้าของใหม่ จะทำให้ติ๊กตอกของฝั่งสหรัฐฯ ตัดขาดจากเนื้อหาอื่น ๆ ในโลก

กระนั้น นักลงทุนหลายคนยังคงสนใจจะซื้อกิจการติ๊กตอก ซึ่งรวมถึงสตีเวน มนูชิน อดีตรัฐมนตรีการคลังในรัฐบาลทรัมป์ และแฟรงค์ แมคคอร์ท มหาเศรษฐีพันล้าน ที่กล่าวในปีนี้ว่าได้จัดการหารือในเรื่องดังกล่าว

ในสัปดาห์นี้ โฆษกของโครงการ Project Liberty ของแมคคอร์ท ที่มุ่งปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ กล่าวว่ามีผู้เสนอร่วมลงทุนแบบไม่ขอเอ่ยนาม แสดงเจตจำนงร่วมทุนแบบไม่เป็นทางการเป็นจำนวนเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์

  • ที่มา: AP

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article