"ตูวาลู" ฉลอง ตู้ ATM เครื่องแรกของประเทศ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในปี 2025

14 hours ago 2
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

"ตูวาลู" ฉลอง ตู้ ATM เครื่องแรกของประเทศ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในปี 2025 นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ 

วันที่ 18 เมษายน 2568 สำนักข่าว CNN รายงานว่า ตูวาลู ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งตั้งอยู่ระหว่างรัฐฮาวายของสหรัฐฯ และประเทศออสเตรเลีย ได้เปิดตัว ตู้กดเงินสดอัตโนมัติ (ATM) เครื่องแรกของประเทศ เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติที่ผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างร่วมเฉลิมฉลอง

ตูวาลูเป็นหนึ่งในประเทศที่ห่างไกลและมีความโดดเดี่ยวมากที่สุดในโลก ทำให้ที่ผ่านมา ระบบการเงินของประเทศยังคงพึ่งพาเงินสดเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของชาวบ้านหรือผู้มาเยือน

พิธีเปิดจัดขึ้นบริเวณหน้าตู้ ATM แห่งหนึ่งบนเกาะฟูนาฟูติ เกาะหลักของประเทศ โดยมี นายกรัฐมนตรีเฟเลตี เตโอ (Feleti Teo) เป็นประธานในงาน พร้อมแขกผู้มีเกียรติและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วม พร้อมมีการตัดเค้กช็อกโกแลตฉลองวันสำคัญนี้ด้วย

นายซิโอเซ เตโอ (Siose Teo) ผู้จัดการใหญ่ของธนาคารแห่งชาติตูวาลู ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตู้ ATM กล่าวว่านี่คือ "ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่" และ "การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง" ที่จะเปิดทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวตูวาลู ซึ่งมีประชากรราว 11,200 คน

ด้าน นิซาร์ อาลี (Nisar Ali) จากบริษัท Pacific Technology Limited ผู้ออกแบบตู้ ATM ให้กับตูวาลู กล่าวกับสถานี ABC ของออสเตรเลียว่า ตู้ ATM ใหม่นี้จะ “ลบกำแพงข้อจำกัด” และทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่ทันสมัยและน่าเชื่อถือ

ตูวาลูประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ จำนวน 9 แห่ง มีพื้นที่รวมกันเพียงประมาณ 10 ตารางไมล์ หรือราว 26 ตารางกิโลเมตร ทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดในโลก ถึงแม้จะได้รับสมญาว่า “สวรรค์แห่งแปซิฟิก” ด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และแนวปะการังอันงดงาม แต่กลับมีนักท่องเที่ยวเพียงประมาณ 3,000 คนในปี 2566 ตามข้อมูลจากรัฐบาล

ประเทศมีสนามบินเพียงแห่งเดียวบนเกาะฟูนาฟูติ ให้บริการเที่ยวบินไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์จากฟิจิ และเมื่อไม่มีเที่ยวบินลงจอด รันเวย์ของสนามบินยังถูกใช้เป็นลานกีฬาให้ชาวบ้านเล่นรักบี้และฟุตบอล ส่วนการเดินทางระหว่างเกาะในประเทศอาศัยเรือข้ามฟาก เนื่องจากไม่มีเที่ยวบินภายในประเทศ

ตูวาลูยังเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เพราะมีระดับความสูงเฉลี่ยเหนือทะเลเพียง 15 ฟุต ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นค่อย ๆ กัดเซาะชายฝั่ง และน้ำทะเลที่แทรกเข้ามายังกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมอันจำกัด ขณะที่อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล

ตูวาลูเคยเป็นที่กล่าวถึงทั่วโลกเมื่อปี 2564 เมื่อไซมอน โคเฟ (Simon Kofe) รัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสหประชาชาติ (UN) ขณะยืนอยู่ในจุดที่น้ำทะลักท่วมถึงหัวเข่า เพื่อสะท้อนผลกระทบที่แท้จริงจากวิกฤตโลกร้อนที่ประเทศกำลังเผชิญ

Read Entire Article