งานวิจัยเผย แบบทดสอบง่าย ๆ ที่เรียกว่า “การนั่ง-ลุก” (Sitting-Rising Test) อาจช่วยคาดการณ์อายุขัยได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
แบบทดสอบง่าย ๆ ที่เรียกว่า “การนั่ง-ลุก” (Sitting-Rising Test) อาจช่วยคาดการณ์อายุขัยได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จากงานวิจัยขนาดใหญ่ที่ศึกษาผู้คนกว่า 4,000 คน พบว่าแบบทดสอบนี้สามารถสะท้อนถึงสมรรถภาพร่างกายและความเสี่ยงสุขภาพในอนาคตของผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตามรายงานของ The Washington Post งานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่เมื่อวันพุธในวารสาร European Journal of Preventive Cardiology โดยศึกษาชายหญิงจำนวน 4,282 คน อายุระหว่าง 46 ถึง 75 ปี นักวิจัยเฝ้าสังเกตความสามารถในการเปลี่ยนท่าจากยืนเป็นนั่งบนพื้น และลุกขึ้นยืนอีกครั้ง โดยเน้นว่าผู้เข้าร่วมสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้มือ เข่า เฟอร์นิเจอร์ หรือความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือไม่
“แบบทดสอบนี้สะท้อนสมรรถภาพทางกายที่ไม่เกี่ยวกับการใช้ออกซิเจนโดยรวม” ดร.เคลาดิโอ กิล อาราอูโฆ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเวชศาสตร์การกีฬาแห่งรีโอเดจาเนโรและหัวหน้าทีมวิจัยกล่าว โดยแบบทดสอบนี้ครอบคลุมทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น การประสานงานของร่างกาย และองค์ประกอบของร่างกาย ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพและอายุขัยอย่างใกล้ชิด
ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงวัยที่สามารถทำท่าได้ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพาความช่วยเหลือ มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในช่วง 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าผู้ที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลืออย่างมากถึง 6 เท่า อีกทั้งยังมีโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น มะเร็ง น้อยกว่าด้วยเช่นกัน
จะทำ “แบบทดสอบนั่ง-ลุก” อย่างไร?
แนะนำให้มีเพื่อนหรือผู้ช่วยอยู่ด้วยขณะทำแบบทดสอบ เพื่อช่วยสังเกตท่าทางให้คะแนน และที่สำคัญคือคอยพยุงหากคุณเสียการทรงตัวหรือใกล้ล้ม หากคุณมีปัญหารุนแรงเกี่ยวกับข้อสะโพก กระดูกสันหลัง หรือข้อเข่า เช่น ข้ออักเสบ ไม่แนะนำให้ลองทำแบบทดสอบนี้
ขั้นตอนการทำแบบทดสอบ มีดังนี้
1. หา พื้นที่เรียบโล่ง และควรมีผนัง เก้าอี้ หรือของที่สามารถช่วยพยุงไว้ใกล้ตัวเผื่อฉุกเฉิน หากพื้นแข็ง ควรปูเบาะรองเพื่อป้องกันแรงกระแทกเวลาแตะพื้น
2. ถอดรองเท้าและถุงเท้าออก
3. ยืนโดยแยกเท้าเล็กน้อย แล้วไขว้เท้าข้างหนึ่งไว้ด้านหน้าอีกข้างหนึ่ง ตำแหน่งแขนวางอย่างไรก็ได้
4. ค่อย ๆ นั่งลงกับพื้น โดยพยายามไม่ใช้มือ ข้อศอก หรือขาในการพยุง และพยายามให้ลำตัวนิ่ง ไม่โอนเอนไปมา
5. จากนั้น ลุกขึ้นจากพื้น โดยไม่ใช้สิ่งพยุงหรืออวัยวะอื่นช่วยให้มากที่สุด และพยายามลุกให้มั่นคง
วิธีให้คะแนน: เริ่มต้นที่ 10 คะแนน หากใช้มือ เข่า หรือส่วนอื่นของร่างกายช่วยพยุง จะถูกหัก 1 คะแนนต่อครั้ง หากลำตัวโอนเอนอย่างเห็นได้ชัด จะถูกหัก 0.5 คะแนน
ผู้ที่ได้คะแนนระหว่าง 0–4 คะแนน มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและสาเหตุธรรมชาติอื่น ๆ สูงกว่าผู้ที่ได้เต็ม 10 คะแนนอย่างมาก ภายในระยะติดตามผลราว 12 ปี (โดยตัดกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือการฆ่าตัวตายออก)
กลุ่มที่ได้คะแนนระหว่าง 4.5–7.5 คะแนน มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าผู้ได้คะแนนเต็มประมาณ 3 เท่า
“สำหรับผู้ที่สุขภาพโดยรวมดี แต่ได้คะแนนต่ำกว่า 7.5 นั่นควรถือเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม” อาราอูโฆกล่าว โดยเขาเองในวัย 69 ปี ได้คะแนนล่าสุดอยู่ที่ 8.5 คะแนน