ทรัมป์ระงับงบช่วยต่างชาติ สะเทือนวงการการศึกษาเมียนมา

2 months ago 35
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

การตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการระงับงบประมาณ 45 ล้านดอลลาร์ที่ให้กับนักศึกษาเมียนมากว่า 400 ชีวิต ภายใต้องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID (U.S. Agency for International Development) สร้างความตกตะลึงให้กับนักเรียนทุนเมียนมาหลังพบว่าทุนการศึกษาของพวกเขาถูกยกเลิกไปกะทันหัน

ท่าทีดังกล่าวยังสร้างความกังวลถึงผลกระทบที่กว้างไกลกว่านั้นต่อชาวเมียนมา ในระหว่างที่ประเทศกำลังเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมือง และระบบการศึกษาที่ล่มสลายภายใต้ยุครัฐบาลทหาร

เหล่านักศึกษาที่ถูกลืม

หนึ่งในนักศึกษาเมียนมา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในประเทศไทย กล่าวกับวีโอเอโดยไม่ขอเปิดเผยตัวตนเนื่องด้วยความกังวลด้านความปลอดภัยหากต้องกลับไปเมียนมาว่า “อันที่จริง ฉันรู้สึกเสียศูนย์เมื่อทราบว่าทุนการศึกษาของเธอถูกยกเลิกกะทันหัน ฉันได้ร่ำเรียนเพื่อเป้าหมายจบปริญญา และตอนนี้ฉันไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป” และว่านักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท หรือแม้กระทั่งปริญญาเอกที่ถูกตัดความช่วยเหลือด้านการเงินแบบเดียวกัน

ในอีเมลที่ส่งถึงผู้รับทุนการศึกษาผ่านโครงการของ USAID ซึ่งวีโอเอภาคภาษาพม่าได้รับมา ระบุว่า USAID ได้ “ใช้สิสิทธิ์ในการยุติ” โครงการ Development and Inclusive Scholarship Program หรือ DISP เมื่อ 29 มกราคม ที่ผ่านมา และเนื้อหาในอีเมลแสดง “ความประหลาดใจและผิดหวัง” กับการตัดสินใจครั้งนี้ และให้การรับรองกับนักศึกษาว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายกำลัง “หาแนวทางขั้นต่อไป” แต่ไม่ได้ยืนยันว่าพวกเขาจะได้รับทุนการศึกษาต่อหรือไม่ แม้กระทั่งกับผู้ที่ได้รับทุนไปแล้วก็ตาม

DISP เดิมทีเรียกว่าโครงการ Diversity and Inclusion Scholarship Program ก่อนจะเปลี่ยนชื่อโดย USAID โดยเปลี่ยนคำว่า “Diversity” ที่หมายถึงความหลากหลาย มาเป็น “Development” ที่หมายถึงการพัฒนาแทน โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อให้การช่วยเหลือนักศึกษาเมียนมาที่ภูมิหลังด้อยโอกาส ให้ศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วเอเชียได้ รวมทั้งที่ฟิลิปปินส์ กัมพูชา อินโดนีเซีย และประเทศไทย นอกจากนี้ยังมอบทุนให้กับการศึกษาทางออนไลน์ ที่ University of Arizona ในสหรัฐฯ อีกด้วย

สำหรับหลายคน ความริเริ่มนี้เป็นเพียงโอกาสเดียวที่จะเข้าถึงการศึกษามหาวิทยาลัยนอกประเทศเมียนมา ที่ระบบการศึกษารัฐบาลทหารเมียนมาปิดกั้นโอกาสเชิงระบบกับผู้ที่แข็งข้อต่อต้าน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงนักสำหรับบางคน

ลัว ปาย ติ ฮา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตั้งแต่ 1 ปีก่อน บอกกับวีโอเอภาคภาษาพม่าว่า “ค่าเรียนของฉันได้จ่ายผ่านโครงการมอบทุนการศึกษาอยู่ จึงไม่ได้กระทบอะไรมากในตอนนี้ แต่สำหรับนักศึกษาคนอื่น ๆ ที่กำลังจะเข้ามาเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกจะได้รับผลกระทบหนัก”

โอกาสของผู้นำเมียนมาในอนาคต

แหล่งข่าวรายหนึ่งที่มีความเข้าใจโครงการ DISP นี้อย่างลึกซึ้ง แต่ไม่ขอเปิดเผยตัวตน เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ข้อมูลกับสื่อ ให้ข้อมูลกับวีโอเอภาคภาษาพม่าว่า ผลกระทบจากโครงการนี้จะกว้างไกลไปมากกว่าแค่การเข้าถึงการศึกษาและโอกาส เนื่องจากนักศึกษาเมียนมากว่า 25% ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้ย้ายออกจากประเทศหลังรัฐประหารเมียนมา การสู้รบภายในประเทศ และการบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งมุ่งเป้าคนรุ่นใหม่

แหล่งข่าวรายนี้บอกกับวีโอเอด้วยว่า “ผลกระทบนี้มีขนาดใหญ่มาก” จากปัจจุบันที่มีชาวเมียนมากว่า 400 คนเรียนมหาวิทยาลัยใน 4 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา อินโดนีเซีย และประเทศไทย ผ่านโครงการที่ USAID ให้การสนับสนุน “ในจำนวนนี้ 110 คนได้รับการคัดเลือกมาจากเมียนมาโดยตรง ส่วนที่เหลือเป็นนักศึกษาที่เดินทางข้ามชายแดนในอาเซียนเนื่องจากเหตุรัฐประหารและการถูกบอยคอตต์จากระบบการศึกษาของรัฐบาลทหาร”

โครงการ DISP ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 ออกแบบมาเพื่อเป็นความริเริ่มระยะ 5 ปี ที่มีแผนในการคัดเลือกเหล่านักศึกษา 3 รุ่นในกรอบเวลาดังกล่าว

แหล่งข่าวเสริมว่าโครงการนี้ “มีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่านักศึกษาอย่างน้อย 1,000 คน ที่จะเป็น ‘ผู้นำประเทศปัจจุบันและในอนาคต’ ได้มีโอกาสเดินหน้าการศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วภูมิภาคอาเซียน ในรุ่นที่ 2 ซึ่งจะมีนักศึกษาอีกหลายร้อยคนเข้าร่วม อยู่ระหว่างขั้นตอนสุดท้ายในการคัดเลือกแล้ว”

ข้อถกเถียงที่ยังดำเนินต่อไป

ในกรุงวอชิงตัน ยังคงมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการทบทวนและปิดกั้นโครงการนี้อยู่

เมื่อวันอังคารที่แล้ว กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกหนังสือยกเว้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากการถูกระงับงบประมาณดังกล่าว ด้านสส.อเมริกันออกมาแสดงความกังวล โดยเตือนว่าการระงับงบเหล่านี้จะกระทบกับซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐฯ และเปิดทางให้จีนฉกฉวยโอกาสนี้ไป

ขณะที่ในวันพุธที่ผ่านมา ทรัมป์ ออกโรงปกป้องแนวทางของตน และได้ระบุถึงโครงการ 45 ล้านดอลลาร์ที่จัดสรรให้กับโครงการทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาเมียนมาด้วย

ทรัมป์ กล่าวว่า “เรายังได้ปิดกั้นงบ 45 ล้านดอลลาร์สำหรับทุนการศึกษาด้านความหลากหลายในเมียนมา 45 – นั่นเงินตั้งมากมายสำหรับทุนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายในเมียนมา คุณคงคิดออกมาเงินเหล่านี้จะหมดไปกับอะไรบ้าง” และกล่าวว่าต้องการให้งบประมาณตกไปถึงหน่วยงานหรือกลุ่มที่เหมาะสม

ชื่อมีผลต่อการระงับโครงการหรือไม่?

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงการระงับโครงการ DISP ของเมียนมาว่าชื่อของโครงการอาจทำให้ความริเริ่มนี้ตกที่นั่งลำบาก บางส่วนกังวลว่าการระบุถึงความหลากหลายในชื่อโครงการอาจนำไปสู่การทบทวนความริเริ่มนี้ด้วยเช่นกัน

แหล่งข่าวที่มีความเข้าใจโดยตรงเกี่ยวกับความริเริ่มสำหรับนักศึกษาเมียนมา กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเมียนมาว่า โครงการ DISP “เป็นหนึ่งในโครงการแรก ๆ ที่จะถูกยุบ” เมื่อคณะทำงานทรัมป์เริ่มลดงบช่วยเหลือต่างประเทศ และว่าชื่อโครงการ “ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมของคนหมู่มาก” มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างที่โครงการของ USAID ทั้งหมดถูกระงับไปชั่วคราว โครงการ DISP ดูเหมือนจะถูกบล็อกไปโดยปราศจากการทบทวนใด ๆ โดยที่ “เจ้าหน้าที่ของ USAID ไม่สามารถอธิบายว่าทำไมโครงการนี้ถึงถูกระงับไปโดยทันที”

วีโอเอติดต่อสอบถามกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อยืนยันว่าโครงการ DISP ถูกปิดอย่างถาวรหรือยังอยู่ระหว่างการทบทวนโครงการ และประเด็นเรื่องชื่อโครงการนั้นมีผลต่อเรื่องนี้หรือไม่ ทางโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ อ้างถึงการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวตามคำสั่งฝ่ายบริหารของปธน.ในการทบทวนและปรับเปลี่ยนความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศ ไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าโครงการ DISP ถูกตรวจสอบโดยเฉพาะก่อนถูกบล็อกไป รวมทั้งไม่ได้ให้คำตอบว่าผู้ที่อยู่ในโครงการมาก่อนแล้วจะสามารถศึกษาต่อไปด้วยความช่วยเหลือของโครงการนี้หรือไม่

โอกาสของกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา

แหล่งข่าวที่มีความรู้เกี่ยวกับโครงการนี้โดยตรง แสดงความกังวลว่าคณะทำงานทรัมป์อาจไม่เข้าใจว่าโครงการนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมา และออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือคนหนุ่มสาวที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเพราะรัฐประหาร

โครงการ DISP ก่อตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนความหลากหลายด้านเชื้อชาติและศาสนาในเมียนมา มอบโอกาสที่เท่าเทียมให้กับนักศึกษาจากทุกภูมิหลังที่มีประวัติการถูกเลือกปฏิบัติภายใต้นโยบายด้านการศึกษาที่ชาวพม่ามีอิทธิพลและกองทัพเมียนมาเข้าควบคุม

ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาในโครงการนี้ มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ทั้งกะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉาน และโรฮีนจา ซึ่งมีประวัติในการเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากระบบการศึกษาในประเทศทั้งสิ้น

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article