รายงานเหตุการณ์ที่พลเมืองชาวจีนตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์และจับไปทำงานที่ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาในช่วงที่ผ่านมานำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับนโยบายกรุงปักกิ่งที่พึ่งพารัฐบาลทหารเมียนมาในการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ว่า ได้ผลดีจริงหรือไม่
นักวิเคราะห์เตือนว่า ยุทธศาสตร์ของจีนเกี่ยวกับเมียนมาส่งผลให้พลเมืองของตนตกอยู่ในสภาพเปราะบาง ทั้งยังเป็นการหนุนเครือข่ายอาชญากรต่าง ๆ ที่มีปฏิบัติการในประเทศนี้ที่ตกอยู่ในภาวะขัดแย้งรุนแรงมานานนับทศวรรษด้วย
ล่า จ่อ ซอว์ นักวิเคราะห์ด้านจีน-เมียนมา กล่าวว่า “ทางการจีนจัดการกับเหตุการณ์เหล่านี้ที่มีพลเมืองจีนตกเป็นเหยื่อถูกลักพาตัวไปยังเมืองเมียวดีอย่างระมัดระวัง” และว่า “แต่เมื่อต้องมีการลงมือจัดการอะไรสักอย่าง จีนมักจะกดดันไทยมากกว่า ออกมาจัดสถานการณ์ในเมียนมาแบบซึ่ง ๆ หน้า”
ส่วน เจสัน ทาวเวอร์ จากสถาบัน Institute of Peace ในสหรัฐฯ เห็นด้วยในเรื่องนี้ และอ้างฐานข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ในการระบุว่า มีคนจีนเกือบ 2,000 คนที่หายตัวไปในเมียนมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และชี้ว่า “แรงหนุนจากจีนต่อกองทัพเมียนมาทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อประชากรของตน”
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการแบบเด็ดขาดต่อขบวนการพนันออนไลน์และแก๊งหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต โดยเน้นย้ำความจำเป็นว่า ประเทศทั้งหลาย “ที่เกี่ยวข้อง” ต้องทำตามหน้าที่รับผิดชอบของตน แต่ไม่ได้มีการกล่าวชื่อเมียนมาออกมาเลย
ที่การประชุมคณะผู้แทนอาเซียนเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา รมต.หวังยังได้พูดย้ำเกี่ยวกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากองค์กรอาชญกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปฏิบัติการอยู่ตามชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นภัยต่อพลเมืองจีนและประเทศอื่น ๆ
ในส่วนของคดีที่เพิ่งเกิดขึ้น ตำรวจไทยและจีนร่วมกันจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 12 คนที่เชื่อว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวชาวจีนไป โดยยังมีการสืบสวนหารายละเอียดอยู่เพื่อนำจับผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติม
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนกล่าวว่า ทางหน่วยงานกำลัง “พยายามทุกวิถีทาง” เพื่อทะลายแหล่งกบดานของแก๊งสแกมเมอร์และ “ช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ออกมา” อยู่
นโยบาย “ให้รางวัล” ของจีน
เจสัน ทาวเวอร์ จาก Institute of Peace กล่าวว่า จีนนั้นดูเหมือนจะชอบใช้วิธี “การให้รางวัล” มากกว่า “การลงโทษ” กองทัพเมียนมา
เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงความมั่นคงสาธารณะจีนมอบรางวัลที่เป็นเกียรติประวัติสูงสุดของประเทศซึ่งก็คือ เหรียญ Golden Great Wall Commemorative Medal ให้กับรัฐมนตรีกิจการภายในของเมียนมา พลโทยา พีร์ สำหรับการให้ความร่วมมือปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ขณะที่ นักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้จีนจะให้การสนับสนุนต่าง ๆ ไป กองทัพจีนกลับมุ่งเน้นปฏิบัติการของตนไปยังเรื่องการสู้รบแย่งชิงเขตแดนมากกว่าการปราบปรามขบวนการสแกมเมอร์อยู่ดี
ทาวเวอร์กล่าวด้วยว่า กองทัพเมียนมานั้นไม่มีสรรพกำลังและแรงจูงใจทางการเมืองมากพอที่จะจัดการกับแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ เพราะกองทัพนั้นต้องพึ่ง ซอ ชิต ตู ผู้นำกองกำลังพลเรือนติดอาวุธ ในการดูแลพื้นที่เมืองเมียวดีซึ่งเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการของแก๊งต่าง ๆ
ซอ ชิต ตู ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลัง BGF นั้นถูกรัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรป ดำเนินมาตรการลงโทษฐานมีบทบาทในการปกป้องแก๊งอาชญากรรมและกลุ่มสแกมเมอร์จีน
การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายสแกมเมอร์
ความพยายามปราบปรามเครือข่ายสแกมเมอร์อย่างหนักของจีนที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนเมียนมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้กลุ่มอาชญากรเหล่านี้ขยับตัวมาตั้งหลักที่เมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง ของเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างไกลจากการดูแลควบคุมของกรุงปักกิ่ง
ล่า จ่อ ซอว์ นักวิเคราะห์ด้านจีน-เมียนมา กล่าวว่า จีนประสบความสำเร็จมากกว่าในการจัดการกับกลุ่มสแกมเมอร์ออนไลน์ใกล้ ๆ กับชายแดนของตน แต่ในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปนั้น อิทธพลของจีนก็ลดน้อยถอยไปตามลำดับ
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวด้วยว่า “จีนนั้นคอยเฝ้าดูกิจกรรมผิดกฎหมายในพื้นที่และรอบ ๆ เมียวดีอย่างใกล้ชิด แต่ก็ต้องพึ่งความร่วมมือจากไทยในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้อยู่ดี”
วีโอเอสอบถามประเด็นแก๊งสแกมเมอร์จากสถานทูตจีนในเมียนมา และได้คำตอบที่ย้ำแค่เรื่องปฏิบัติการร่วมของสองประเทศในการจัดการกับกลุ่มอาชญากรนี้เท่านั้น โดยในประกาศที่มีออกมาเมื่อวันอังคารที่แล้ว มีการระบุว่า จีนมีแผนจะดำเนินการในเฟสที่สองของแนวคิดริเริ่ม “ปฏิบัติการรักษากฎหมายร่วมจิงเหยา” (Jingyao Joint Law Enforcement Operation” initiative) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนามในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและแก๊งหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ หลังมีผลงานในเฟสแรกด้วยการจับกุมผู้ต้องหากว่า 70,000 คนจากพื้นประเทศเหล่านี้และช่วยเหยื่อราว 160 คนที่ส่วนใหญ่ถูกจับไปอยู่ทางเหนือของเมียนมา
เสียงไม่พอใจกระหึ่มโซเชียล
กรณีการลักพาตัวชาวจีนมากมายไปทำงานให้แก๊งสแกมเมอร์ในเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะเรื่องของ หวัง ซิง นักแสดงหนุ่มชาวจีน ไปยังเมืองเมียวดี ทำให้ชาวจีนจำนวนมากไม่พอใจอย่างหนัก แม้สถานทูตจีนในเมียนมาและไทยจะเตือนประชาชนของตนให้ระวังถูกหลอกว่ามีงานที่จ่ายเงินดี ๆ เพราะมักจะจบด้วยการถูกจับไปบังคับใช้แรงงานบ่อยครั้ง
เจ้าหน้าที่ไทยรายงานว่า นักแสดงหนุ่มผู้นี้ถูกแก๊งสแกมเมอร์ที่มีฐานปฏิบัติการในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังป้องกันชายแดนรัฐกะหรี่ยง (Karen State Border Guard Force - BGF) ซึ่งเป็นพันธมิตรของกองทัพเมียนมา ลักพาตัวไปทำงานที่คอลเซ็นเตอร์ของตน
นายพลจัตวาซอว์ หม่อง วิน จากกองกำลังดังกล่าว บอกกับสื่อว่า BGF ได้ส่งตัว ซิงซิง ให้ทางการไทยแล้ว พร้อมยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์นี้ และว่า ทางตนเพียงช่วยเหลือในปฏิบัติการช่วยชีวิตเท่านั้น
แต่กรณีนี้ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่พอใจทางสื่อสังคมออนไลน์จีนมากมาย พร้อม ๆ กับการเปิดเผยข้อมูลมากมายจากครอบครัวของผู้ที่เชื่อว่า ญาติพี่น้องของตนหายตัวไปในลักษณะคล้าย ๆ กับดาราหนุ่มดังคนกล่าว
นอกจากนั้น ยังมีจดหมายที่ออกโดยครอบครัวของคนจำนวน 174 คนที่เชื่อว่าถูกลักพาตัวไปยังเมียนมา ถูกนำมาแชร์จนกลายเป็นไวรัลบนแพลตฟอร์ม เว่ยโป๋ (WeiBo) ของจีนเมื่อวันที่ 9 มกราคมด้วย
จีนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ขณะที่ เครือข่ายสแกมเมอร์ที่มีปฏิบัติการหลัก ๆ ในเมียนมาแสดงทิศทางการขยายตัวที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่นี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า กรุงปักกิ่งก็กำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องพลเมืองของตนและการรักษาผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของประเทศในเมียนมา
เจสัน ทาวเวอร์ จาก Institute of Peace ให้ความเห็นว่า “ยุทธศาสตร์ของจีนนั้นกำลังลงเหวอยู่” และว่า “ความเป็นจริงก็คือ อย่างที่เห็น [พลเมือง]จีนนั้นยังถูกลักพาตัวข้ามไปอยู่ในอาณาเขตของกองกำลัง BGF ง่ายจริง ๆ”
การสร้างสมดุลให้กับการเดินหน้าปราบปรามเครือข่ายอาชญากรเหล่านี้โดยไม่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลทหารเมียนมายังคงเป็นความท้าทายข้อหนึ่งอยู่
“ดูเหมือนจีนจะกำลังเสียท่ากับศึกทั้งสองด้าน” ทาวเวอร์กล่าว “นี่เป็นประเด็นที่ยากมาก (เพราะ)ด้านหนึ่ง จีนก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลทหารเมียนมาล่มสลาย และก็ตระหนักดีว่า ถ้าเกิดเปลี่ยนใจกลับไปใช้ “การลงโทษ” แทน นั่นก็อาจจะยิ่งทำให้เกิดการล่มสลายของกองทัพเมียนมาเร็วยิ่งขึ้นไปอีก”
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น