ธนาคารโลก ชี้ วิกฤตน้ำท่วม ซ้ำเติมเศรษฐกิจเมียนมาหดตัว 1%

1 week ago 8
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

ธนาคารโลก (World Bank) คาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัว 1% ในปีนี้ นับเป็นการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจรอบใหม่ เนื่องจากภาวะอุทกภัยที่ซ้ำเติมประเทศที่กำลังเผชิญกับความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรงในขณะนี้

เมื่อเดือนมิถุนายน ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะโตได้ 1% ในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2025 แต่ได้เตือนถึงผลกระทบจากความยากจนและความขัดแย้งภายในที่ยกระดับขึ้น

เมียนมาที่มีประชากร 55 ล้านคนตกอยู่ในความวุ่นวายมาตั้งแต่ปี 2021 ที่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน จนนำไปสู่การประท้วงรุนแรง และความขัดแย้งลุกลามไปถึงการที่รัฐบาลทหารเมียนมาต้องมาต่อสู้กับกลุ่มแข็งข้อต่อต้านและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในช่วงที่ผ่านมา

การก่อรัฐประหารของกองทัพ ได้ทำให้การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจยุติลง นักลงทุนต่างชาติแห่ย้ายเงินทุนและประเทศเผชิญมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ

ในรายงานของธนาคารโลก ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ ระบุว่า “ระดับและความตึงเครียดของความขัดแย้งยังคงอยู่ในระดับสูง และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างรุนแรง กระทบการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน และสร้างความไม่แน่นอนให้เพิ่มขึ้นต่อทิศทางเศรษฐกิจ” ของเมียนมา และว่าหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจเมียนมายังคงประสบปัญหา ขณะที่ผลผลิตการเกษตรลดลงจากไต้ฝุ่นยางิที่พัดถล่มเมียนมาเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่

ด้านโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้ตอบกลับการติดต่อของรอยเตอร์ทางโทรศัพท์เพื่อขอความเห็นในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

ธนาคารโลก ยังเผยว่า ราว 25% ของประชากรเมียนมากำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนอาหารจากภาวะสงคราม โดยคาดว่าเงินเฟ้อเมียนมาจะยังอยู่ที่ 26% จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน ซึ่งลดลงจากระดับ 27.5% จากกรอบปีงบประมาณ 2023-2024

ทั้งนี้ สงครามภายในเมียนมา พันธมิตรกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยผนึกกำลังต่อต้านกองทัพเมียนมาที่อาวุธครบมือ ได้เข้ายึดกว่าครึ่งหนึ่งของเมืองต่าง ๆ ในเมียนมาที่มีอยู่ราว 330 แห่ง และทำให้ประชาชน 3.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นเพราะความขัดแย้ง อ้างอิงจากรายงานของธนาคารโลก

ธนาคารโลกยังได้เตือนว่า แม้ความขัดแย้งจะไม่ยกระดับขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีถัดไปก็ยังคงชะลอตัวต่อไป

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article