นักการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและขวาจัดของฝรั่งเศสร่วมกันลงมติไว้ไว้วางใจในวันพุธ ซึ่งมีผลให้นายกรัฐมนตรีมิเชล บาร์นิเยร์ และคณะรัฐมนตรีต้องลาออกทั้งคณะเป็นครั้งแรกในรอบ 62 ปี
สภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสลงมติไม่ไว้วางใจ 331 เสียง ซึ่งมากกว่าจำนวนขั้นต่ำ 288 เสียง
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง ยืนยันว่าตนจะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนหมดวาระในปี 2027 อย่างไรก็ตาม มาคร็องจำเป็นต้องแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่เป็นครั้งที่สอง หลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมได้ทำให้เกิดการแบ่งขั้วอย่างมากในรัฐสภา
ปธน.มาคร็องมีกำหนดกล่าวปราศรัยต่อประชาชนในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งคาดว่าบาร์นิเยร์จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และจะทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองฝรั่งเศสยุคใหม่ หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ในวันพุธ บาร์นิเยร์กล่าวปราศรัยครั้งสุดท้ายในฐานะนายกฯ ว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่นี้ และว่า "การลงมติไม่ไว้วางใจนั้นจะยิ่งทำให้ทุกอย่างตึงเครียดมากขึ้น"
การลงมติไว้ไว้วางใจในรัฐบาลฝรั่งเศสครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่บาร์นิเยร์เสนอร่างงบประมาณชุดใหม่ที่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง พรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคฝ่ายขวาจัดและซ้ายจัดยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีบาร์นิเยร์เมื่อวันจันทร์ โดยกล่าวหาว่าเขาพยายามนำมาตรการรัดเข็มขัดมาใช้และไม่ปฏิบัติตามความต้องการของประชาชน
มารีน เลอ แป็ง ผู้นำฝ่ายค้านและสมาชิกพรรคเนชันแนล แรลลี (National Rally) หรือ RN ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด กล่าวทางโทรทัศน์หลังทราบผลโหวตว่า ทางเลือกของเราคือการปกป้องฝรั่งเศสจากร่างงบประมาณ "ที่เป็นพิษ"
เลอ แป็ง ยังกล่าวหาประธานาธิบดีมาคร็องว่า "เป็นผู้รับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น" และเขาจะนิ่งได้รับแรงกดดันจากสังคมมากยิ่งขึ้น
พรรคร่วมรัฐบาลของนายกฯ บาร์นิเยร์ ถือเป็นรัฐบาลฝรั่งเศสชุดแรกในรอบ 62 ปีที่พ้นจากบทบาทหน้าที่ด้วยการมติไม่ไว้วางใจนับตั้งแต่ปี 1962 อีกทั้งจะทำให้เกิดผลกระทบใหญ่กับยุโรป ในระหว่างที่เยอรมนีอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง และฝั่งสหรัฐฯ จะมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ทำเนียบขาวในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ปธน.มาคร็องอาจขอให้เขาและรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อไประหว่างที่สรรหานายกฯ คนใหม่ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยทางเลือกของมาคร็องอาจเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่มีผู้ชำนาญการจากหลายสาขาซึ่งไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องทางการเมือง เพื่อให้รอดพ้นจากโหวตไม่ไว้วางใจ ซึ่งไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน จะไม่มีการจัดการเลือกตั้งใหญ่ใด ๆ ก่อนเดือนกรกฎาคมปีหน้า
ปัจจุบัน ฝรั่งเศสตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสหภาพยุโรปให้ลดหนี้ภาครัฐลง หลังจากมีการคาดการณ์ว่าระดับหนี้ของรัฐบาลจะสูงขึ้นแตะระดับ 6% ของมูลค่าจีดีพีของฝรั่งเศสในปีนี้ และเพิ่มเป็น 7% ในปีหน้าหากการเมืองยังคงไร้เสถียรภาพ และยังมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมของฝรั่งเศสก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ปัญหาการเงินของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของสหภาพยุโรปนี้ยิ่งรุนแรงขึ้น
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น