"บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ไม่ใช่อาหารต้องห้าม! แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ 4 วิธี กินแบบไม่ทำร้ายสุขภาพ
มี 4 ปัจจัยที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำวิธีกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนี้
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมักถูกมองว่าเป็น “อาหารต้องห้าม” เพราะให้พลังงานสูงและมีสารปรุงแต่งหลายชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
ในโพสต์บนเฟซบุ๊กของ หมอเฉิน เจี๋ยเหวิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเมตาบอลิซึมจากจีน ระบุว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนยุคใหม่ แม้ทุกคนจะรู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเขาเผยว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมี 4 ปัจจัยหลักที่เป็นอันตราย ได้แก่:
-
โซเดียมสูง: ปริมาณโซเดียมในบะหมี่หนึ่งซองอาจสูงถึง 1,500–2,000 มิลลิกรัม หรือมากกว่า หากรับประทานโซเดียมในปริมาณมากเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต
-
น้ำมันพืชที่ใช้ทอดเส้น: การทอดเส้นด้วยอุณหภูมิสูงทำให้เกิดไขมันที่ถูกออกซิไดซ์ และไขมันทรานส์ในบางส่วน ซึ่งหากสะสมมากอาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และปัญหาเกี่ยวกับไขมันในเลือด
-
สารอาหารต่ำ: แม้ให้พลังงานสูง แต่บะหมี่มักขาดวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระ
-
ทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งและอิ่มไม่นาน: เพราะส่วนประกอบหลักคือแป้งขัดขาวซึ่งย่อยง่าย ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็ว
กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างไรให้ปลอดภัย?
หมอเฉินแนะนำ 4 วิธีลดผลเสียจากบะหมี่ ได้แก่
-
ควบคุมการใช้เครื่องปรุงในซอง: ลดปริมาณเครื่องปรุงลงครึ่งหนึ่ง และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำซุป เพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมที่เข้าสู่ร่างกาย
-
เพิ่มโปรตีนและใยอาหารในชามบะหมี่: เช่น ใส่ไข่ (ลวก/ต้มยางมะตูม), เต้าหู้, ฟองเต้าหู้, เนื้อไม่ติดมัน และผักต่าง ๆ เช่น ผักกวางตุ้ง, ผักโขม, เห็ด เป็นต้น
-
เลือกบะหมี่สูตรสุขภาพ: เช่น บะหมี่ไม่ผ่านการทอด หรือบะหมี่สูตรลดโซเดียม หากเป็นบะหมี่ที่ผ่านการทอด แนะนำให้ ลวกเส้นหรือแช่น้ำก่อน แล้วเทน้ำทิ้ง ก่อนนำไปต้มแล้วค่อยปรุง วิธีนี้จะช่วยลดน้ำมันที่ใช้ทอดและสารอันตรายที่เกิดจากความร้อนสูง รวมถึงช่วยลดปริมาณเกลือลงอีกด้วย
-
ควบคุมความถี่: หมอเฉินแนะนำว่าหากรับประทานแค่สัปดาห์ละครั้ง และทำตามวิธีที่แนะนำ ก็ไม่ต้องกังวลมาก
หมอเฉินยังกล่าวอีกว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ใช่อาหารต้องห้ามโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับของว่างอื่น ๆ สิ่งสำคัญคือ “กินอย่างไร กินบ่อยแค่ไหน และกินร่วมกับอะไร”