คำสั่งระงับส่งงบประมาณความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ไปยังต่างประเทศชั่วคราว ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ทั่วโลก หนึ่งในเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นคือการเสียชีวิตของหญิงชราในค่ายผู้ลี้ภัยไทย ตามการรายงานของรอยเตอร์
เป ข่า เลา วัย 71 ปี ผู้ป่วยด้วยอาการทางปอด เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังสถานพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยม จ.ตาก ที่เธอเข้ารับการรักษา ส่งตัวกลับไปอยู่บ้านได้เพียงสี่วัน
สถานพยาบาลดังกล่าวบริหารงานด้วยทุนจาก International Rescue Committee หรือ IRC องค์กรการกุศลเอกชนที่สหรัฐฯ ส่งงบประมาณสนับสนุน เป็นหนึ่งในบริการสาธารณสุขของค่ายพักพิงชั่วคราวหลายแห่งตามชายแดนไทย ที่รองรับผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบในเมียนมาร์มานานมากกว่าสิบปี
เมื่อปลายเดือนมกราคม IRC ปิดสถานพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่ง หลังได้รับคำสั่งจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้หยุดทำงาน อ้างอิงข้อมูลจากผู้ทำงานและคนในพื้นที่
ต่อการเสียชีวิตของหญิงกะเหรี่ยง โฆษกของ IRC กล่าวกับรอยเตอร์ว่าเป็นสิ่งที่ “น่าสะเทือนใจ และเราขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวและเพื่อนของเป ข่า เลา”
สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นของรอยเตอร์ก่อนที่จะเผยแพร่ข่าว
คำสั่งของทรัมป์ที่เริ่มต้นในปลายเดือนมกราคม ทำให้สหรัฐฯ ที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุดของโลก หยุดการทำงานที่เกี่ยวข้องแทบทั้งหมด ตามมาด้วยการสั่งหยุดงานองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) กลไกจัดส่งความช่วยเหลือดังกล่าว
ภายใต้คำสั่งของผู้นำรัฐบาลวอชิงตัน คำสั่งระงับงบช่วยเหลือต่างประเทศจะกินเวลา 90 วัน เพื่อให้รัฐบาลทบทวนโครงการความช่วยเหลือทั้งหลาย โดยทั้งทรัมป์และอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ประกาศว่าจะเข้ามาลดขนาดของรัฐบาลกลาง กล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการตัดการใช้จ่ายภาครัฐที่สิ้นเปลือง
สถานพยาบาลของ IRC ดูแลผู้ป่วยหลายหมื่นคนที่อาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงชั่วคราวที่ยังไม่สามารถข้ามกลับไปยังเมียนมาได้ สืบเนื่องจากทั้งสงครามที่ดำเนินอยู่ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2021 และความขัดแย้งยาวนานในหมู่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และกองทัพรัฐบาลกลางก่อนหน้านี้
ครอบครัวของเป ข่า เลา หญิงชราผู้วายชนม์ เล่าว่าเธอเข้ารับการรักษาอาการทางปอดมาแล้วสามปี และจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจ ในคืนวันเสาร์ก่อนที่จะเกิดเหตุ เธอขอให้ลูกสาวพาเธอกลับไปโรงพยาบาล เนื่องจากอาการป่วยกำเริบ
ยิน ยิน เอ ลูกสาววัย 50 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ทั้งน้ำตาว่า “ฉันต้องบอกเธอว่าไม่มีโรงพยาบาล”
ติน วิน สามีของยิน ยิน เอ กล่าวว่าพวกเขามีอาชีพรับจ้างรายวัน จึงไม่มีเงินซื้อเครื่องช่วยหายใจ และระบุด้วยว่ามีผู้ลี้ภัยหลายคนเสียชีวิตจากการปิดสถานพยาบาล แต่รอยเตอร์ยังไม่สามารถยืนยันข้อมูลนี้ได้
ก่อนหน้านี้ โฆษกของ IRC ให้ข้อมูลว่าผู้พลัดถิ่นพยายามรวมตัวเพื่อช่วยเหลือกันเอง ในช่วงเวลาที่การสนับสนุนในพื้นที่ “ถูกส่งต่อ” ไปยังทางการไทย
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยในพื้นที่ ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์โดยไม่ประสงค์ออกนาม เนื่องจากให้ข้อมูลในประเด็นที่อ่อนไหว โดยระบุว่า มีกาจแจกจ่ายถังออกซิเจนให้ผู้ป่วยบางรายแล้วเมื่อสถานพยาบาลเหล่านั้นปิดตัวลง แต่ไม่สามารถแจกจ่ายได้อย่างเพียงพอ
อีกด้านหนึ่ง สตรีมีครรภ์ถูกเคลื่อนย้ายจากสถานพยาบาลที่ปิดตัวลง ไปรวมตัวในพื้นที่ที่เคยเป็นโรงเรียน และหมอตำแยเพิ่งทำคลอดเด็กหนึ่งคนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแม้จะขาดแคลนอุปกรณ์ อ้างอิงจากครูและญาติของผู้คลอด
ภาวะชะงักงันทางงบประมาณจากกรุงวอชิงตัน ทำให้ทางการไทยและกลุ่มผู้ลี้ภัยต้องหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่บทบาทการดูแลผู้ลี้ภัยก็ไปอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐแทน
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น