ภาพหายาก "จระเข้สยาม" โผล่อาบแดดโชว์กล้อง กลางทุ่งแสลงหลวง เผยที่มาชื่อ เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 นายสมเกียรติ ยอดมาลี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยจากกลุ่มงานวิชาการ นำโดย น.ส.แดงระวี พรหมรักษ์ ประสบความสำเร็จในการบันทึกภาพ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ซึ่งอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง บริเวณปากกะซาว คลองชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ภายในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568
ภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าแสดงให้เห็นจระเข้ขนาดใหญ่กำลังนอนอาบแดดบนโขดหินริมน้ำ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ การค้นพบนี้เป็นผลจากการติดตามประชากรจระเข้ในพื้นที่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 โดยมีการสำรวจร่องรอยและติดตั้งกล้องดักถ่ายเป็นประจำ ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเคยมีรายงานพบจระเข้ครั้งล่าสุดในปี 2556 และชาวบ้านให้ข้อมูลว่ายังพบเห็นอยู่เรื่อยมา
รู้จัก "จระเข้น้ำจืดไทย" สัตว์หายากของประเทศไทย
จระเข้น้ำจืดไทย หรือที่เรียกกันว่า จระเข้สยาม หรือ จระเข้บึง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crocodylus siamensis ซึ่งมาจากคำว่า "Siam" (ชื่อเดิมของประเทศไทย) และคำลาติน "ensis" ที่แปลว่า "เป็นของ" จึงมีความหมายว่า "จระเข้ซึ่งเป็นของประเทศไทย"
จระเข้ชนิดนี้มีขนาดปานกลางค่อนข้างใหญ่ โตเต็มที่ยาวประมาณ 3-4 เมตร เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10-12 ปี วางไข่ครั้งละ 20-48 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 68-85 วัน โดยเริ่มวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม มักขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำเพื่อวางไข่
พฤติกรรมของจระเข้ชนิดนี้คือ ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลไม่แรงนักหรือแหล่งน้ำนิ่ง และมักอยู่หรือหากินตามลำพัง อาหารหลักคือ ปลาและสัตว์ขนาดเล็ก โดยทั่วไปจะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวนหรือมีอาหารเพียงพอ และสามารถอดอาหารได้นาน 10-15 วัน หลังจากกินอาหารในแต่ละครั้ง
จระเข้น้ำจืดไทยเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก โดยถูกจัดอยู่ในบัญชีหนึ่งของ อนุสัญญาไซเตส (CITES) และได้รับการขึ้นทะเบียนในสถานะ ถูกคุกคามอย่างยิ่ง (Critically Endangered) ตามการจัดอันดับของ IUCN เนื่องจากประชากรในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว
สัญญาณดีของระบบนิเวศในทุ่งแสลงหลวง
การค้นพบครั้งนี้เป็นหลักฐานสำคัญว่าจระเข้ในพื้นที่ยังคงอยู่รอด และระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงยังคงอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายด้านการอนุรักษ์ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการอ่างเก็บน้ำในอนาคต