ยูเครนตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกเมื่อวันอังคารทันทีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศระงับความช่วยเหลือทางทหารให้กับกรุงเคียฟ ตามดำริของทรัมป์ที่อ้างว่า ต้องการทำให้ทั้งยูเครนและรัสเซียยอมร่วมโต๊ะเจรจาหาทางยุติสงครามที่ดำเนินมากว่า 3 ปีนี้
และทันทีที่มีรายงานข่าวการตัดสินใจดังกล่าวของสหรัฐฯ ออกมาในคืนวันจันทร์ รัสเซียส่งโดรนเข้ามาถล่มพื้นที่หลายเมืองของยูเครน รวมถึงเมืองโอเดสซาในภาคใต้และเมืองซูมีทางตะวันออกเฉียงเหนือด้วย
นักการเมืองของยูเครนกล่าวว่า การตัดสินใจของวอชิงตันในเรื่องนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงไม่น้อยต่อประเทศของตน
โอเลกซี กอนชาเรนโก สมาชิกรัฐสภายูเครน บอกกับสื่อเอพีว่า “นี่หมายความว่า ผู้คนนับพันจะเสียชีวิตลง” และว่า “ผมต้องการขอให้ปธน.[สหรัฐฯ โดนัลด์] ทรัมป์ คิดทบทวนใหม่ ให้เวลาเพิ่มกับยูเครนด้วย”
คำสัญญาจากยุโรป
ผู้นำยุโรปได้กล่าวไว้ว่า การนำส่งอาวุธให้กรุงเคียฟอย่างต่อเนื่องคือสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย แต่นักวิเคราะห์ก็ยังมีความคลางแคลงอยู่ว่า ยุโรปจะเข้ามาทำหน้าที่สนับสนุนกรุงเคียฟภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันได้ไหม และยูเครนจะเดินหน้าสู้รบต่อไปได้อีกนานเพียงใด
และขณะที่สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์เริ่มเดินหน้าพัฒนาการไปในทิศทางใหม่อยู่ สงครามยูเครน-รัสเซียก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา และทั้งสองฝ่ายยังคงสู้รบกันที่แนวหน้าที่กินระยะทางราว 960 กิโลเมตรต่อไป
อย่างเช่นที่ พื้นที่ใกล้เมืองโพครอฟสก์ ทางตะวันออกของดอแนตสก์ กองพันที่ 14 ของยูเครนกำลังพยายามต้านการรุกคืบเข้ามาของฝ่ายรัสเซีย โดยผู้บัญชาการของหน่วยรบนี้ที่ใช้ชื่อว่า “เบิร์ฟ” เริ่มกลัวแล้วว่า อาวุธยุทธภัณฑ์ที่มีอยู่จะหมดลงในเร็ว ๆ นี้ และไม่แน่ใจว่า พันธมิตรยุโรปจะจัดหาสรรพาวุธที่จำเป็นเช่น กระสุนปืนใหญ่ฮาววิตเซอร์ที่ใช้อยู่ได้หรือไม่ ตามรายงานของรอยเตอร์
คำถามนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลว่า ยุโรปจะสามารถเข้ามาช่วยชดเชยภาวะขาดแคลนอาวุธจากการระงับความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ได้หรือไม่
มาร์ค กาลีอ็อตติ ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษา Mayak Intelligence และผู้เขียนหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์การทหารรัสเซีย "Forged in War” ให้ความเห็นกับ วีโอเอ ว่า มีอาวุธบางประเภท เช่น ระบบขีปนาวุธต่อต้านการโจมตีทางอากาศ “แพทริออต” ไปจนถึงชิ้นส่วนสำหรับรถถังเอบรัมส์ และพาหนะหุ้มเกราะ “แบรดลีย์” ที่ยูเครนใช้งานอยู่และทางเดียวที่ยุโรปจะจัดหามาส่งให้ยูเครนได้คือ ต้องหาซื้อจากตลาดเสรี (open market) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา พร้อมยกตัวอย่างว่า มีคำสั่งซื้ออาวุธบางรายการที่ส่งไปตั้งแต่ปี 2022 แต่เพิ่งมีการส่งของให้ยูเครนตอนนี้เอง
อาวุธสำหรับยูเครน
มัลคอล์ม ชาลเมอร์ส รองผู้อำนวยการสถาบัน Royal United Services Institute ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ในเวลานี้ ยูเครนพึ่งพาชาติตะวันตกน้อยกว่าเมื่อตอนเริ่มต้นสงครามจากการรุกรานของรัสเซียในปี 2022
ชาลเมอร์สบอกกับสื่อเอพีว่า ยูเครนค่อย ๆ หันมาผลิตอาวุธด้วยตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย “มีอุตสาหกรรมทางทหารที่มีขนาดใหญ่มากและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยบางส่วนได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากต่างประเทศ ภายใต้ความร่วมมือต่าง ๆ กับบริษัทด้านการทหารจากชาติตะวันตกอื่น ๆ”
เขากล่าวเสริมว่า เป็นไปได้ว่า ราวครึ่งหนึ่งของอาวุธที่ยูเครนใช้อยู่นั้นเป็นส่วนที่ผลิตเองในประเทศ ขณะที่ ส่วนที่เหลือน่าจะเป็นของสหรัฐฯ ราวครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นของประเทศอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงยุโรปด้วย
ชาลเมอร์สชี้ด้วยว่า กองทัพสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการ “วางแผนจัดการด้านโลจิสติกส์เพื่อนำส่งอาวุธจากโปแลนด์ให้ยูเครน” รวมทั้ง การจัดหาข้อมูลข่าวกรองต่าง ๆ ให้กองทัพยูเครน
การเจรจาสันติภาพ
รัฐบาลทรัมป์กล่าวเมื่อวันอังคารว่า การระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนนั้นมีจุดประสงค์เพื่อ “ทำให้แน่ใจว่า (ความช่วยเหลือทั้งหมดนั้น)มีส่วนช่วยในการหาทางออก(ให้กับความขัดแย้งนี้)” และรองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพยายามส่งข้อความที่ชัดเจนมากออกมาแล้วด้วยว่า: ชาวยูเครนต้องมาร่วมหารือที่โต๊ะและเริ่มการเจรจากับประธานาธิบดีทรัมป์
แต่ยุโรปก็เลือกเส้นทางที่ต่างออกไป
โดยหลังเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปที่เซเลนสกีเข้าร่วมด้วยเมื่อวันอาทิตย์ นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ กล่าวว่า “กลุ่มพันธมิตรที่มีความพร้อมยินดี” จะเดินหน้าหาทางสนับสนุนกรุงเคียฟต่อไป
สตาร์เมอร์กล่าวว่า “ถึงเวลาที่จะลงมือทำแล้ว เวลาที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ อังกฤษพร้อมที่จะสนับสนุนประเด็นนี้ ทั้งกองกำลังบนพื้นดินและเครื่องบินบนอากาศ พร้อม ๆ กับคนอื่น ๆ ยุโรปต้องรับบทหนักแล้ว”
อย่างไรก็ตาม มาร์ค กาลีอ็อตติ ผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษา Mayak Intelligence กล่าวว่า ยุโรปไม่ไดสามัคคีกันทั้งหมดเพื่อจะสนับสนุนยูเครน โดยอ้างถึงคำกล่าวอ้างของรองปธน.แวนซ์ที่ว่า แม้ผู้นำยุโรปหลายคนจะมุ่งมั่นประกาศว่า ยืนเคียงข้างกรุงเคียฟ บางคนกลับมีข้อกังขาอยู่ในใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์รายนี้เชื่อว่าเป็นความจริงอยู่บ้าง
ท่าทีของเซเลนสกี
เมื่อวันอังคาร เซเลนสกีส่งข้อความไปยังรัฐบาลทรัมป์ ผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า ยูเครนมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดสันติภาพ โดยระบุในคลิปวิดีโอที่โพสต์ทางสื่อโซเชียลนี้ว่า “เราต้องหาความแข็งแกร่งที่จะเดินหน้าต่อไป เคารพกันและกัน – ดังที่เราเคารพอเมริกา ยุโรป และหุ้นส่วนอื่น ๆ เสมอมา --- และทำงานร่วมกันเพื่อให้เข้าใกล้สันติภาพมากขึ้น ผมรู้สึกขอบคุณที่ทุกคนสนับสนุนยูเครนในเรื่องนี้”
ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ได้พูดคุยกับชาวยูเครนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และบางคนชี้ว่า การที่สหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือเป็นข่าวเศร้าสำหรับคนในประเทศที่ต้องทนทุกข์จากการถล่มโจมตีโดยรัสเซียตลอดเวลาที่ผ่านมา
ชาวกรุงเคียฟคนหนึ่งที่ขอเปิดเผยเพียงชื่อ “วิคตอเรีย” กล่าวว่า นี่เป็นการลงโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อยูเครน และบอกกับ วีโอเอ ว่า ตน “หวังว่า [ทรัมป์]จะเปลี่ยนใจ เหยื่อของการรุกรานนั้นไม่สามารถเป็นผู้มีความผิดในทุกกรณีและต้องรับโทษเพิ่มเติม(จากที่เป็นอยู่) ได้"
ขณะที่ อิลเลีย ชาวเมืองดอแนตสก์ที่ลี้ภัยมากรุงเคียฟหลังรัสเซียเริ่มเปิดฉากรุกราน กล่าวว่า “บางที ยุโรปอาจเข้ามาช่วยได้บ้าง ความหวังนั้นในตอนนี้อยู่ที่ยุโรปเท่านั้น ไม่มีใครอื่นแล้ว”
ขณะเดียวกัน รัสเซียออกมาแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของกรุงวอชิงตันในการหยุดส่งความช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครน โดยกล่าวว่า จุดนี้น่าจะช่วย “หาทางออกให้กับสถานการณ์ ด้วยวิธีที่สันติ”
- ที่มา: วีโอเอ