สหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ชี้ว่าเกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ส่งแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไม่ทันเส้นตาย เมื่อวันจันทร์
ยูเอ็นเผยเมื่อวันจันทร์ว่า มีเพียง 10 ประเทศจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอกวาดอร์ นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย ยื่นแผนจัดการปัญหาโลกร้อน ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทันตามกำหนดเส้นตาย 10 กุมภาพันธ์ อ้างอิงจากฐานข้อมูลของสหประชาชาติที่ติดตามการส่งแผนของประเทศต่าง ๆ
ส่วนจีน อินเดีย สหภาพยุโรป เป็นประเทศใหญ่ที่ส่งแผนดังกล่าวไม่ทันตามกำหนดเวลา เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ อังกฤษ และบราซิล โดยกรณีของสหรัฐฯ นั้นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก่อนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสั่งให้อเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงปารีส
ภายใต้ความตกลงปารีส แต่ละประเทศจะต้องจัดทำเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2035 และมีรายละเอียดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวที่ชัดเจนให้กับสหประชาชาติ แต่ไม่ได้ข้อบังคับทางกฏหมายหรือบทลงโทษใด ๆ ต่อประเทศที่ยื่นแผนดังกล่าวล่าช้ากว่ากำหนด
เอโบนี ฮอลแลนด์ จาก International Institute for Environment and Development ให้ทัศนะกับเอเอฟพีว่า การถอนตัวจากความตกลงปารีสของสหรัฐฯ เป็น “ความพ่ายแพ้” ในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างชัดเจน และว่า “เห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์กำลังเกิดขึ้น ซึ่งสร้างความท้าทายในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นใหญ่อย่างภาวะโลกร้อน”
ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ภายใต้สนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่มีการลงนามในปี 2015 มีเป้าหมายที่จะจำกัดให้อุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
- ที่มา: เอเอฟพี
กระดานความเห็น