ย้อนดู ‘แผนลดขนาดรัฐบาล’ ในอดีต โจทย์ยากของผู้นำสหรัฐฯ

18 hours ago 5
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

มหาเศรษฐีอิลอน มัสก์ ร่วมดูแลกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency - DOGE) ซึ่งมีบทบาทเป็นคณะกรรมาธิการฝ่ายที่ปรึกษามากกว่าการเป็นกระทรวงในตัวเอง ด้วยเป้าหมายในการตัดการใช้จ่ายภาครัฐ 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีให้ได้

ในปีงบประมาณล่าสุด รัฐบาลอเมริกันใช้จ่าย 6.75 ล้านล้านดอลลาร์ โดย 2 ใน 3 ของงบก้อนนี้เป็น “งบประมาณที่ถูกกำหนดไว้โดยกฎหมาย” หรือ Mandatory Spending ของรัฐบาลกลาง ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยงานประกันสังคม (Social Security) และโครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุชาวอเมริกัน หรือ Medicare

ขณะที่อีกก้อนหนึ่ง คือ งบประมาณที่จะจัดสรรขึ้นในแต่ละปีซึ่งไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้ หรือ Discretionary Spending ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาคองเกรส ใช้จ่ายไปกับงบด้านกลาโหมเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดีอเมริกันให้คำมั่นในการตัดการใช้จ่ายภาครัฐ

จัสติน วอห์น อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Coastal Carolina University บอกกับวีโอเอว่า “ประธานาธิบดีได้กล่าวถึงการลดขนาดหรือลดบทบาทของรัฐบาล ไม่ว่าจะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ”

แนวคิดนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อปี 1801-1809 เจฟเฟอร์สันมุ่งเน้นแนวคิดของรัฐบาลขนาดเล็ก และผลักดันการปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐและทหาร

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ งบประมาณปรับลดลงได้ชั่วคราว

ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 และ 1940 ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี.รูสเวลท์ ขยายจำนวนเจ้าหน้าที่และลูกจ้างรัฐบาลกลางเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานชั่วคราวหลายล้านตำแหน่งภายใต้การบริหารประเทศของเขา โดยเป้าหมายของ New Deal คือการช่วยเหลือคนรายได้น้อย กระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปภาคการเงิน แต่ตำแหน่งงานเหล่านี้หมดไปเมื่อบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ และประเทศผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจนี้ไปแล้ว

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน กล่าวว่ารัฐบาลคือตัวปัญหา และจัดตั้ง Grace Commission รวมทั้งขอให้ผู้นำภาคธุรกิจราว 150 รายช่วยเหลือเขาในการหาทางกำจัดส่วนเกินของโครงสร้างและปัจจัยที่ลดประสิทธิภาพของรัฐบาล

โธมัส แชทส์ ประธาน Citizens Against Government Waste หน่วยงานที่เคลื่อนไหวในการจัดการความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “ประธานาธิบดีเรแกนได้ขอให้ Grace Commission มองรัฐบาลไปในทิศทางที่เหมือนภาคธุรกิจมากขึ้น และว่าพวกเขาควรทำงานเหมือนสุนัขล่าเนื้อที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการกำจัดการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง”

แชทส์ เสริมว่า ความพยายามของ Grace Commission ในการตัดงบส่วนเกินได้ช่วยประหยัดรายจ่ายภาครัฐได้หลายพันล้านดอลลาร์ แต่ในเว็บไซต์ Ronald Reagan Presidential Library ระบุว่า “คำแนะนำโดยส่วนมาก โดยเฉพาะส่วนที่ต้องการการผลักดันเป็นกฎหมายจากคองเกรส ไม่เคยนำไปบังคับใช้แต่อย่างใด”

จนถึงขณะนี้ นักประวัติศาสตร์บางรายมองว่า อิทธิพลของเรแกนที่ยังอยู่คือการเปลี่ยนบทสนทนาในระดับประเทศที่สนับสนุนบทบาทที่ลดลงของรัฐบาลกลางในการแก้ไขปัญหาสาธารณะ

วอห์น บอกว่า “นี่คือการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นฐานจากศตวรรษก่อน ที่เน้นเรื่องการขยายบทบาทของรัฐบาลในสังคมอเมริกัน”

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ผลักดันความริเริ่มในการทำให้รัฐบาลทำงานได้ดีขึ้นและใช้งบประมาณต่ำลง ผลที่ได้คือการปรับลดตำแหน่งงานในรัฐบาลกลาง 300,000 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่มาจากการเกษียณอายุราชการและการจ้างบุคคลากรหรือองค์กรจากภายนอก ซึ่งวอห์นเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น "การบริหารงานที่ลดบทบาทของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญที่สุดในยุคสมัยปัจจุบัน”

ย้อนกลับไปในการบริหารประเทศสมัยแรก ทรัมป์ออกคำสั่งหยุดพักการจ้างงานรัฐบาลกลางและเสนอการตัดงบจำนวนมากหน่วยงานรัฐบาลกลางบางแห่ง และในครั้งนี้ เขาหวังว่ากระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล นำโดยมัสก์ และวิเวก รามาสวามี จะช่วยทำให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงได้ แต่ก็มีหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงการนำวิถีทางของโลกธุรกิจมาใช้บริหารรัฐบาลอยู่เช่นกัน

เจมส์ กรอสแมน จาก American Historical Association กล่าวกับวีโอเอว่า “เมื่อคุณบริหารธุรกิจ คุณดูแลผู้ถือหุ้นของคุณ เป้าหมายของคุณคือทำรายได้ เมื่อคุณบริหารรัฐบาล คุณต้องเข้ามาดูแลประชาชน และเป้าหมายของคุณไม่ใช่การหารายได้ แต่เป้าหมายของคุณคือการให้บริหารสาธารณะและปกป้องประเทศ”

กรอสแมน กล่าวว่า นักบัญชีนิติวิทยา (forensic accountant) ซึ่งเป็นผู้ใช้ทักษะความรู้ด้านบัญชีและทักษะด้านการสืบสวน สอบสวน อาจมีเครื่องมือที่ดีที่สุดในการหาการฉ้อโกงและความสิ้นเปลืองในงบประมาณรัฐได้

แต่กรอสแมน จาก American Historical Association เสริมว่า “มีการทุจริตฉ้อฉลและส่วนเกินเชิงโครงสร้างในภาคเอกชนมากมาย ดังนั้นผมจึงไม่แน่ใจว่านักธุรกิจจะเป็นกลุ่มคนที่ดีที่สุดที่จะพบหรือค้นหาการทุจริตหรือความสิ้นเปลืองเหล่านั้นได้”

ระหว่างที่ความพยายามลดขนาดรัฐบาลในอดีตมีความสำเร็จที่มีขีดจำกัด ในยุคดิจิทัลเช่นนี้อาจจะง่ายสำหรับทรัมป์และพันธมิตรในการส่งสารให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันมากกว่าแต่ก่อน

แต่ถึงกระนั้น แชทส์ ประธาน Citizens Against Government Waste กล่าวเพิ่มเติมว่า "อาจมีการตอบโต้ที่รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ สมาชิกสภาคองเกรสทั้งหลายมีแนวโน้มที่จะออกมาตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่าการยื่นหนังสือแบบโบราณที่เคยได้รับในอดีต”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article