รัฐบาลเมียนมาเสียพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่ม 'เคไอเอ'

3 weeks ago 8
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

กองกลังของคะฉิ่นกลุ่มหนึ่ง ยึดเมืองเศรษฐกิจสำคัญที่ติดชายเเดนจีนได้ และเข้าครอบครองศูนย์การทำเหมืองสินเเร่หายาก โดยครั้งนี้ถือเป็นการเพลี่ยงพลำ้ของกองทัพรัฐบาลเมียนมา ตามรายงานของเอพีที่อ้างผู้เห็นเหตุการณ์

การเสียพื้นที่ดังกล่าวของฝ่ายรัฐบาล ให้กับกองกำลังเคไอเอ (Kachin Independence Army) ของคะฉิ่น ทำให้ฝ่ายทางการเหลือการควบคุมพื้นที่เพียงเมืองเดียวที่เข้าถึงช่องทางข้ามชายเเดน 'หมู่เจ้' (Muse)

นอกจากนี้ การที่เคไอเอได้ครองพื้นที่ดังกล่าว ยังตัดช่องทางรายได้ที่รัฐบาลเเสวงหาจากเหมืองที่มีสินเเร่หายากสำหรับการส่งออกไปจีน

สินเเร่หายากเหล่านี้ถูกใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย เช่นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและกังหันลม รวมทั้งอาวุธสมัยใหม่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย

ผู้สื่อข่าวเอพีติดต่อไปยัง พันเอกเนา บู โฆษกของฝ่ายเคไอเอ และเท็ต ชเวโฆษกของกองทัพเมียนมาหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับตอบกลับ

อย่างไรก็ตามสื่อท้องถิ่นหลายแห่งรายงานว่ารัฐบาลเมียนมาเสียเมือง "Kanpaiti" ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ในเวลานี้สงครามกลางเมืองในเมียนมาและกฎกองทัพทำให้การเดินทางไปทำข่าวเเทบเป็นไปไม่ได้ เเต่รายงานเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากผู้เห็นเหตุการณ์ที่พูดคุยกับนักข่าวทางโทรศัพท์

คลิปวิดีโอ บนโซเชียลมีเดียที่ยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ เเสดงให้เห็นถึง สิ่งที่มีบรรยายว่าเป็นสมาชิกเคไอเอรายหนึ่งกำลังยกธงเคไอเอขึ้นที่อุโมงค์ซึ่งตัดผ่านภูเขาไปประเทศจีน

คลิปอื่น ๆ เเสดงให้เห็นว่า มีอาวุธจำนวนมากที่ถูกระบุว่าถูกยึดได้โดยเคไอเอ

กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 3 ปีก่อน นำไปสู่การต่อสู้ที่รุนเเรงขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างกองทัพของรัฐ กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต้องการอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น

กองทัพรัฐบาล หรือที่รู้จักในชื่อ ทัดมาดอว์ เคยมีกำลังเเข็งเเกร่ง แต่พลาดพลั้งหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความพ่ายเเพ้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะทางตะวันออกที่ใกล้กับจีนและที่เเคว้นยะไข่ทางตะวันตก

ความปราชัยหลายครั้งที่ว่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่กองกำลังที่เเข็งเเกร่ง 3 กลุ่มร่วมกันต่อต้านรัฐและทำการบุกอย่างพร้อมเพรียงเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมปีที่เเล้ว

จากนั้น กลุ่มอื่น ๆที่รวมตัวกันตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เข้าร่วมต่อต้านรัฐเช่นกัน ซึ่งรวมถึงเคไอเอ ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศในของรัฐคะฉิ่นด้วย

พื้นที่ที่ฝ่ายรัฐสูญเสียให้กับเคไอเอคล่าสุด มีเหมืองที่ไม่ได้ถูกกำกับดูเเลอย่างเป็นระบบจำนวน กว่า 300 แห่ง

เหมืองเหล่านี้ผลิตสินเเร่หายากส่วนใหญ่ที่นำไปขายให้จีน โดยการส่งออกสินค้าชนิดนี้เมื่อปีที่เเล้วไปยังจีนมีมูลค่าราว 1,400 ล้านดอลลาร์

หน่วยงานสิ่งเเวดล้อมโกลบอล วิตเนสส์ (Global Witness) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอนกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า การทำเหมืองในบริเวณดังกล่าวสร้างความสูญเสียต่อ "สิ่งเเวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น"

  • ที่มา: เอพี
Read Entire Article