รู้จัก "พริกหวาน" สีแดง-เหลือง-เขียว สีไม่เหมือนกันให้ประโยชน์ต่างกัน เปิดสรรพคุณที่คุณอาจไม่เคยรู้
พริกหวาน (Bell Pepper) เป็นผักหลากสีที่ไม่เพียงเพิ่มความน่ากินให้มื้ออาหาร แต่ยังอุดมไปด้วยสารอาหารหลากชนิด ซึ่งแต่ละสีก็ให้ประโยชน์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน
พริกหวานสีเขียว
เก็บเกี่ยวตั้งแต่ยังไม่สุกเต็มที่ เป็นพริกดิบของสีอื่น ๆ
-
มีคลอโรฟิลล์สูง ช่วยล้างสารพิษในร่างกาย และลดความเสี่ยงมะเร็ง
-
เสริมการย่อย ลดอาการท้องผูก และช่วยระบบขับถ่าย
-
มีวิตามิน A, C, K, โฟเลต และไฟเบอร์ในปริมาณที่ดี
-
แคลอรีต่ำ น้ำตาลน้อย เหมาะสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนัก
พริกหวานสีเหลือง
สุกกว่าพริกเขียวแต่ยังไม่เต็มที่
-
มีลูทีนและเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยปกป้องดวงตาและลดความเสี่ยงจอประสาทตาเสื่อม
-
เสริมภูมิคุ้มกันและต้านอนุมูลอิสระได้ดี
-
รสหวานอ่อน ๆ กินง่าย เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดน้ำตาลจากแหล่งอื่น
-
ให้ไฟเบอร์
- สีเหลืองที่มีวิตามินซีสูงที่สุด มากกว่าปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน มากกว่าส้ม 3 เท่า
พริกหวานสีแดง
สุกเต็มที่ อยู่บนต้นนานที่สุด หวานที่สุด
-
อุดมไปด้วยวิตามิน A และ C, เบต้าแคโรทีน และแคปแซนทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยม
-
บำรุงสายตา ผิวพรรณ และสมอง ชะลอความเสื่อมของเซลล์
-
ลดการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
-
ให้ความหวานธรรมชาติ มีน้ำตาลมากที่สุดในบรรดาพริกหวาน
ประโยชน์ต่อสุขภาพของพริกหวาน
1. ลดความเสี่ยงของต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อม
โภชนาการมีบทบาทสำคัญในการชะลอปัญหาการมองเห็นจากวัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแคโรทีนอยด์ 2 ชนิด ได้แก่ ลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (zeaxanthin) ซึ่งช่วยปกป้องจอประสาทตาจากความเสียหายจากอนุมูลอิสระ พริกหวานแดงมีสารเหล่านี้สูง รวมทั้งวิตามินซีที่ช่วยเสริมสุขภาพตา งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าการบริโภคอาหารที่มีแคโรทีนอยด์เป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงของต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อม
2. ลดความเสี่ยงภาวะโลหิตจาง
ภาวะโลหิตจางพบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เกิดจากร่างกายมีออกซิเจนในเลือดไม่เพียงพอ สาเหตุหลักคือขาดธาตุเหล็ก พริกหวานมีธาตุเหล็กไม่มากนัก แต่มีวิตามินซีสูง โดยพริกครึ่งผลมีวิตามินซีมากถึง 100 มิลลิกรัม ซึ่งช่วยดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิตามิน B6 ที่จำเป็นต่อการสร้างฮีโมโกลบิน โปรตีนที่ลำเลียงออกซิเจนในเลือด
3. ป้องกันโรคเรื้อรังบางประเภท
พริกหวานอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ โดยเฉพาะวิตามิน C, E และเบต้าแคโรทีน นอกจากนี้ยังมีโพลีฟีนอล เช่น ลูทีน เควอซิทิน (quercetin) และแคปแซนทีน (capsanthin) ซึ่งพบมากในพริกแดงสุก สารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง แม้ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาใหญ่ที่ระบุผลชัดเจนของการบริโภคพริกหวานต่อการลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง
4. ชะลอความจำเสื่อมจากวัย
งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า สารประกอบในพริกสุกอาจช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่ปล่อยโปรตีนอะไมลอยด์ (amyloid) ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ สารพฤกษเคมีในพริก เช่น ฟีนอล แคโรทีนอยด์ และฟลาโวนอยด์ อาจมีบทบาทในการชะลอการเสื่อมของระบบประสาท
5. อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
จากการทดลองในสัตว์ พบว่าพริกหวานอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ สารโพลีฟีนอลในพืชเช่นพริกหวาน มีบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการวิจัยในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล และกำหนดปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค
6.อาจช่วยลดการอักเสบ
พริกหวานมีสารไฟโตเคมิคอลและสารอาหารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบจากธรรมชาติ งานวิจัยพบว่า สารจากพืชในพริกหวานสามารถช่วยลดหรือป้องกันการอักเสบในร่างกายได้ โดยการอักเสบเรื้อรังนั้นเชื่อมโยงกับโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคหัวใจและเบาหวานชนิดที่ 2
Erika Barrera, นักกำหนดอาหาร กล่าวว่า “พริกหวานมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แคโรทีนอยด์และแอนโทไซยานิน ที่ช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญต่อการลดการอักเสบและป้องกันมะเร็ง”
7.เสริมภูมิคุ้มกัน
Krista Wale, นักกำหนดอาหาร ระบุว่า “การกินพริกหวานทุกวันจะช่วยเพิ่มสารอาหารที่ดีต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะวิตามิน C”
พริกหวานสีแดง 1 ผล มีวิตามิน C มากกว่าส้มเกือบ 3 เท่า ซึ่งมีส่วนช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ดีขึ้น
8.ช่วยระบบย่อยอาหาร
พริกหวานเป็นแหล่งไฟเบอร์ที่ดี ซึ่งช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานปกติ เสริมสุขภาพลำไส้ ควบคุมระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด อีกทั้งยังช่วยบำรุงจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้
Erika Barrera กล่าวว่า “ไฟเบอร์ในพริกหวานช่วยดูแลสมดุลในลำไส้ และมีผลดีต่อระดับพลังงานและสุขภาพโดยรวม”