รู้จักอาณาจักรยาเสพติด ‘แคปตากอน’ แหล่งรายได้ลับของรัฐบาลซีเรียที่ล่มสลาย

17 hours ago 4
❤️ ARTICLE AD BOX ❤️

นับตั้งแต่การล่มสลายของรัฐบาลประธานาธิบดีบะชาร์ อัล-อัซซาด มีการเปิดโปงเรื่องราวเกี่ยวกับโรงงานระดับอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตสารเสพติดที่มีฤทธิ์คล้าย amphetamine และมีชื่อว่า Captagon โดยมีการพบโรงงานที่ว่าอยู่หลายจุดทั่วประเทศและผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า อุตสาหกรรมนี้น่าจะมีมูลค่าถึงราว 10,000 ล้านดอลลาร์ในตลาดยาเสพติดโลก

จุดที่มีการพบโรงงานที่ว่า มีอาทิ ฐานทัพอากาศมัสเซห์ ในกรุงดามัสกัส บริษัทซื้อ-ขายรถยนต์ในเมืองลาทาเกีย และโรงงานที่เคยเป็นที่ผลิตขนมทานเล่นซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงดามัสกัส โดยรัฐบาลได้เข้ายึดโรงงานนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2018

ในช่วงเกือบ 14 ปีที่ผ่านมา ซีเรียตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองที่ทำลายประเทศเป็นเสี่ยง ๆ และทำให้เศรษฐกิจพังครืน ทั้งยังทำให้พื้นที่ทั้งประเทศกลายมาเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดด้วย ขณะที่ กลุ่มติดอาวุธ ผู้นำทางทหารของกลุ่มติดอาวุธและรัฐบาลอัซซาดทำให้สายการผลิต Captagon ที่เคยอยู่ในวงเล็ก ๆ และควบคุมโดยกลุ่มแก็งอาชญากรรม ให้กลายมาเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าหมื่นล้านไป

การโค่นอัซซาดลงจากตำแหน่งยังกลายมาเป็นปัจจัยที่ทำให้เครือข่ายยาเสพติดนี้ต้องเกิดสะดุดและเปิดทางให้คนภายนอกได้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นสภาพเศรษฐกิจสงครามที่ทำให้อัซซาดอยู่ในอำนาจมาได้นาน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในซีเรียครั้งนี้อาจนำมาซึ่งโอกาสในการทลายอุตสาหกรรมยาเสพติด Captagon ก็เป็นได้

ซีเรียสร้างอาณาจักร Captagon ขึ้นมาได้อย่างไร

ยา Captagon นั้นถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในยุค 1960 ที่เยอรมนี ให้เป็นยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์สำหรับรักษาอาการโรคลมหลับ (นอนหลับเรื้อรังมากผิดปกติ) ก่อนจะมีกฎหมายประกาศห้ามใช้เพราะถูกพบว่าทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและมีคุณสมบัติเป็นสารเสพติด

แต่คุณสมบัติที่เหมือนกับ amphetamine ของยานี้ทำให้ Captagon กลายมาเป็นที่นิยมในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นสูงและนักชกทั้งหลาย เพราะช่วยให้ตื่นตัวและลดอาการเหนื่อยล้าได้

รัฐบาลอัซซาดมองเห็นโอกาสของยาเสพติดต้นทุนต่ำในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำหนักและเผชิญกับมาตรการลงโทษมากมาจากนานาประเทศ

จากนั้น รัฐบาลรวมทั้งกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ในซีเรียก็เริ่มลงทุนสร้างโรงงาน โกดังและเครือข่ายขนผลิตยาเสพติดนี้อย่างคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงปี 2018-2019 จนทำให้ซีเรียกลายมาเป็นผู้ผลิต Captagon รายใหญ่ของโลก โดยมีการขยายฐานการผลิตบางส่วนในยังเลบานอนด้วย

ข้อมูลจาก New Lines Captagon Trade Project ซึ่งเป็นโครงการขององค์กรคลังสมอง New Lines Institute ระบุว่า ยา Captagon ส่วนใหญ่ที่ยึดมาได้นั้นมีต้นกำเนิดมาจากซีเรีย

ขณะเดียวกัน หลักฐานที่พิสูจน์ว่ารัฐบาลอัซซาดให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยาเสพติดนี้ก็มีออกมามากมาย ตามรายงานที่ตีพิมพ์ออกมาในเดือนพฤษภาคมซึ่งระบุด้วยว่า หน่วย Security Office of the 4th Armored Division ของกองทัพอาหรับซีเรีย (Syrian Arab Army) ซึ่งมีน้องชายของอัซซาดเป็นผู้ดูแล ทำหน้าที่ควบคุธุรกิจและสายการผลิตทั้งหมด

กลุ่มต่อต้านซีเรียเข้าตรวจสอบชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ซ่อนยา Captagon ที่โรงงานแห่งหนึ่ง ชานกรุงดามัสกัส ซีเรีย เมื่อ 13 ธ.ค. 2567
กลุ่มต่อต้านซีเรียเข้าตรวจสอบชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ซ่อนยา Captagon ที่โรงงานแห่งหนึ่ง ชานกรุงดามัสกัส ซีเรีย เมื่อ 13 ธ.ค. 2567

มีการลักลอบขน Captagon ไปที่ใดและทำได้อย่างไร

รายงานข่าวระบุว่า มีการลับลอบขนยา Captagon ข้ามพรมแดนด้วยรถบรรทุกและเรือขนส่งสินค้า โดยบางครั้งมีการซ่อนไว้ในอาหาร อุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อหลบหลีกการตรวจจับ

นักรบกลุ่มต่อต้านรัฐบาลปธน.อัซซาดยื่นภาชนะที่ใส่ยา Captagon ที่มีการใส่แบรนด์ใหม่เป็น Fenethylline และถูกตรวจพบที่โรงงานแห่งหนึ่งที่ชานกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อ 12 ธ.ค. 2567
นักรบกลุ่มต่อต้านรัฐบาลปธน.อัซซาดยื่นภาชนะที่ใส่ยา Captagon ที่มีการใส่แบรนด์ใหม่เป็น Fenethylline และถูกตรวจพบที่โรงงานแห่งหนึ่งที่ชานกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อ 12 ธ.ค. 2567

เส้นทางลักลอบหลักของยานี้ก็คือ ตามแนวชายแดนซีเรียที่ติดกับเลบานอน จอร์แดนและอิรัก ก่อนจะถูกกระจายไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีตลาดหลัก ๆ ในประเทศร่ำรวยในอ่าวเปอร์เซีย เช่น ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นอกจากนั้น ยังพบว่า ยา Captagon หลุดมาไกลถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของยุโรปด้วย

อุตสาหกรรมยาเสพติดนี้ทำรายได้ให้รัฐบาลอัซซาดมากเท่าใด

มีการประเมินมูลค่าการค้ายา Captagon จากทั่วโลกไว้ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ และครอบครัวของอัซซาดน่าจะทำกำไรในแต่ละปีได้ถึง 2,400 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลจาก แคโรไลน์ โรส ผู้อำนวยการของโครงการ New Lines Institute Captagon Trade Project

ภาพของเม็ดยา amphetamine ที่รู้จักในชื่อ Captagon ซึ่งถูกซ่อนอยู่ภายในชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ชานกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อ 13 ธ.ค. 2567
ภาพของเม็ดยา amphetamine ที่รู้จักในชื่อ Captagon ซึ่งถูกซ่อนอยู่ภายในชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ชานกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อ 13 ธ.ค. 2567

โรสกล่าวว่า การค้นพบโรงงานผลิตต่าง ๆ ในซีเรียนั้นน่าตกใจมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ พร้อมกล่าวเสริมว่า เรื่องนี้ยืนยันถึง “ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง Captagon และรัฐบาลชุดก่อน” ด้วย

ในเวลานี้ ยังไม่สามารถยืนยันจำนวนโรงงานผลิต Captagon ในซีเรียได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญและสมาชิกกลุ่มแข็งข้อต่อต้าน ฮายัต ทาห์เรีย อัล-ชาม หรือ HTS ที่เป็นผู้ปกครองซีเรียอยู่ในเวลานี้ ประเมินว่า น่าจะมีโรงงานแบบนี้หลายร้อยแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

Captagon กับการทูตด้านการปราบปรามยาเสพติด

ประเทศเพื่อนบ้านของซีเรียพยายามหาทางควบคุมสกัดการหลั่งไหลเข้ามาของ Captagon มาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำให้อัซซาดลงมือทำการใด ๆ ได้มาก

ซาอุดีอาระเบียประกาศบทลงโทษรุนแรงสำหรับการลักลอบขน Captagon และสั่งเสริมกำลังตามแนวชายแดน รวมทั้งทำงานประสานกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียเพื่อสอดส่องดูแลเส้นทางลักลอบขนยา อย่างไรก็ตาม ความพยายามทั้งหมดนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายมาก ๆ จากเครือข่ายค้ายาอันแสนซับซ้อนในซีเรีย เลบานอนและจอร์แดน

ยา Captagon นั้นช่วยให้รัฐบาลอัซซาดมีแรงต่อรองมากพอจนทำให้ตนไม่ต้องถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศอาหรับหลายประเทศได้กลับมามีความสัมพันธ์เป็นทางการกับอัซซาดอีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขหลักก็คือการหยุดยั้งการค้า Captagon หากความสัมพันธ์ของซีเรียกับนานาประเทศจะกลับมาเป็นปกติได้ และเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2023 ซีเรียได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกลีกอาหรับ (Arab League) หลังถูกพักสมาชิกภาพไปตั้งแต่เมื่อปี 2011 เนื่องจากการที่อัซซาดสั่งปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยม

นอกจากนั้น ซีเรียยังสัญญาที่จะปราบปรามขบวนการลักลอบค้ายาด้วย จนทำให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านความมั่นคงในภูมิภาคขึ้น โดยหลังมีการประชุมสุดยอดเรื่องนี้ไม่นาน จอร์แดนได้สั่งยกระดับการระวังภัยตามแนวชายแดนที่ติดกับซีเรียทันที

และเมื่อเกิดเหตุการณ์โจมตีทางอากาศเข้าใส่บ้านของหัวหน้าองค์กรค้ายารายหนึ่งและใส่โรงงานที่เชื่อว่าใช้ผลิต Captagon หลังการประชุมสุดยอดดังกล่าว นักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะอัซซาดเห็นชอบ

อนาคตของ Captagon หลังยุคอัซซาด

อาห์หมัด อัล-ชารา หัวหน้ากลุ่ม HTS ระบุในคำปราศรัยประกาศชัยชนะของการล้มลางรัฐบาลเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า อัซซาดได้เปลี่ยนซีเรียให้เป็น “โรงงาน Captagon ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” และว่า “วันนี้ ซีเรียถูกล้างให้สะอาดแล้ว ต้องขอบคุณพรของพระผู้เป็นเจ้าด้วย”

และขณะที่ อัซซาดและคนรอบ ๆ ตัวของเขาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก ๆ ของอุตสาหกรรมนี้ มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า กลุ่มต่อต้านในซีเรียเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนยาด้วย โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า กลุ่มต่อต้าน กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ และเครือข่ายอาชญากรรมทั้งหลายเป็นผู้ผลิตและลักลอบขนยาเสพติดเพื่อนำเงินไปสนับสนุนปฏิบัติการของตน

แคโรไลน์ โรส ผู้อำนวยการของโครงการ New Lines Institute Captagon Trade Project ให้ความเห็นว่า จากนี้ น่าจะเกิดภาวะอุปทานยาเสพติดนี้ลดลงในระยะสั้น แต่บรรดาอาชญากรทั้งหลายก็ฉลาดหลักแหลมพอที่จะหาทางแก้ปัญหานี้ให้เหมือนเดิมได้ โดยเฉพาะเมื่อความต้องการ Captagon นั้นยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ และว่า องค์กรเหล่านี้อาจ “หาช่องทางทำการค้าผิดกฎหมายอื่น ๆ เพื่อมาชดเชยรายได้ก็เป็นได้”

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

Please enable JavaScript to view the comments powered by Disqus.
Read Entire Article